ล้วงลึก GTH ปั้น Fan Pageทะลุจอ

เดือนละ 10,000 คน วันละ 500 คน ชั่วโมงละ 20 คน คืออัตราเฉลี่ยการคลิก Like เข้ามาที่ GTHChannel Fan Page ของค่ายหนัง GTH นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 จนถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2553 Fan Pageแห่งนี้มีสมาชิกแล้ว 206,217 คน อยู่ในอันดับ 1 ของแฟนเพจแบรนด์ในไทย ที่มีสมาชิกสูงสุด ทำให้ที่นี่ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่สร้างแบรนด์ หรือช่วยขายสินค้าให้คนมาตีตั๋วดูหนังมากขึ้นเท่านั้น แต่วันนี้คือพื้นที่ทำเลทองที่หลายแบรนด์อยากมาโฆษณา และจับมือกับ GTHChannel เพื่อต่อยอดธุรกิจ

เรตติ้งกระฉูดของ GTHChannel ไม่ใช่ได้มาในเวลาเพียงแค่ข้ามคืน แต่คือการ Learning by Doing ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ GTH ลองใช้โซเชี่ยลมีเดีย ที่เริ่มจาก Youtube Podcast Hi5 เพื่อโปรโมตหนัง จนเมื่อต้นปี 2552 ลงตัวที่ Facebook Pageและ Twitter ที่ทั้งสองมีเดียต่างเป็นช่องทางสนับสนุนกันให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น

“เดชอุดม เข็มแดง” Digital Project Manager แผนกธุรกิจนิวมีเดียและออนไลน์ เริ่มปั้น GTHChannel ตั้งแต่วันแรก ด้วยโจทย์คือ ”จะใช้สื่อออนไลน์อย่างไรให้คนไปดูหนังมากขึ้น เพราะ GTH ทำธุรกิจหนัง” คำตอบไม่ได้ต้องการกวนให้มึน แต่นี่คือเป้าหมายที่ชัดเจน และตรงไปตรงมา

“กาลิเลโอ” เป็นเรื่องแรกที่ลองใช้สื่อทวิตเตอร์ เมื่อต้นปี 2009 เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ GTH จากนั้นปลายปี ”รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ได้ใช้แฟนเพจอย่างเต็มรูปแบบ ในช่วงที่กระแส Facebook กำลังได้รับความนิยมมีผู้สมัครเกือบทุกวัย ซึ่งตรงกับฐานผู้ชมหนัง GTH ที่เป็นกลุ่ม Mainstream ที่มีทั้งเด็กมัธยม คนทำงาน และผู้ใหญ่ ซึ่งเห็นได้จากหนังที่ GTH ผลิตออกมา เช่น “กวนมึนโฮ” ส่วนใหญเป็นวัยรุ่นไปดู “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ส่วนใหญ่เป็นพนักงานออฟฟิศ หรือหนังสยองขวัญและหนังตลกที่มีผู้ชมทุกวัย

การที่ฐานของโปรดักต์กับฐานสมาชิก Facebook อยู่ในกลุ่มเดียวกันจึงเป็นโอกาสที่ดีของ GTHChannel ในใช้เป็นสื่อเพื่อภารกิจสำหรับแบรนด์และโปรดักต์

ในแง่ของแบรนด์ คือการทำให้แบรนด์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสังคมของผู้ชม ทำหน้าที่รับฟังความเห็นจากผู้ชมว่าหลังจากชมหนังแล้วรู้สึกอย่างไร ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของคนที่ดูหนัง เมื่อดูแล้วอยากมีเพื่อนพูดคุย เมื่อเข้ามาคุยใน Fan Pagedก็ช่วยลดกำแพงระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมาย จากนั้นก็สามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อทำหนังในเรื่องต่อๆ ไป ถือเป็นเครื่องมือ CRM อย่างดี สิ่งที่ตามมาคือเกิด Brand Loyalty และการต่อยอดธุรกิจ ส่งผลต่อโปรดักต์คือ หนังแต่ละเรื่องทำให้คนรู้จัก และเกิดการบอกต่อ

การวัดความสำเร็จอย่างหนึ่งที่เห็นได้คือในช่วงแรกที่เริ่มใช้ในเรื่อง ”รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” มีผู้ชมคลิปตัวอย่างจาก Youtube 1 แสนคลิปก่อนหนังฉาย แต่เมื่อมีคนใช้ Facebook และเป็น Fan Pageมากขึ้น หนังเรื่องกวนมึนโฮ มีผู้ชมคลิปถึง 3 แสนคน คือสิ่งที่ ”เดชอุดม” บอกว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากคนรู้จักจากแฟนเพจมากขึ้น

3 ขั้นโปรโมตหนัง

ทำไมคนคลิก Like GTHChannel แล้วไม่ค่อยคลิก Unlike ทำไมแต่ละโพสต์ถึงมีสมาชิกมาคอมเมนต์ต่อและLike เฉลี่ยในหลักร้อย และทำไมสมาชิกถึงไม่รู้สึกว่ากำลังมีโฆษณาหนังเรื่องใหม่

นี่คือเทคนิคที่มาจาก ”เดชอุดม” กับ “ณัฐพร ตรีรุ่งเรืองกิจ” Web Content Creative ร่วมกันวางแผนในแต่ละเดือน ซึ่งภารกิจจะมีสองช่วงใหญ่ คือช่วยที่ GTH มีหนังใหม่ กับช่วงที่ไม่มีหนัง

ช่วงที่มีหนังใหม่ แน่นอนว่าต้องโปรโมตหนัง ดังนั้นภาพใน Profile ที่โชว์คือโปสเตอร์หนังเรื่องนั้นๆ ส่วนการโพสต์ข้อความจะแบ่งเป็น 3 ขั้นเพื่อ 3 วัตถุประสงค์ ขั้นแรกคือการแนะนำหนัง ที่ ”เดชอุดม” บอกว่าต้องระวังไม่ให้เกิดการ Spoil หนัง หรือต้องไม่เฉลยประเด็นหนัง แต่จะโปรยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Theme ของหนัง เช่น เรื่องกวนมึนโฮ ที่พูดถึงคนไม่รู้จักกัน เอาคลิปตัวอย่างมาให้ Fan Pageได้ดูก่อน ขั้นต่อมา คือ ช่วงเรียกคนไปดูหนัง และสุดท้าย 3 คือการสร้าง Loyalty กับหนังเรื่องนั้นๆ เช่นคุยประเด็นที่เห็นในหนัง และช่วงนี้ยังทำให้คนที่ไม่ได้ไปดูเกิดความรู้สึกอยากไปดูเพื่อที่จะได้เข้าใจสิ่งที่สมาชิกใน Fan Pageคุยกัน

สำหรับช่วงที่ไม่มีหนังใหม่ ก็มีการโปรโมตละครทีวีซิทคอมของ GTH มีการนำโปสเตอร์หนังเก่ามาโพสต์เพื่อให้ผู้ชมระลึกถึงหนังเรื่องนั้น เพื่อให้เกิด Brand Loyalty ได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งสองช่วงก็มีพูดคุยกับสมาชิก Fan Page ในลักษณะคุยกันเหมือนเพื่อน ซึ่งหน้าที่นี้ ”ณัฐพร” ประจำอยู่เบื้องหลังแต่ละบรรทัด จากช่วงแรกๆ ที่ GTHChannel แจ้งข่าวสารเหมือนกับการบอกเพื่อนด้วยเนื้อหารายงานสภาพอากาศ สภาพจราจร แต่เมื่อมีคนมาทำแฟนเพจมากขึ้น หน้าที่นี้ก็จบลง เพราะตัวจริงมาแล้วอย่าง จส.100 สิ่งที่คุยอยู่ในปัจจุบันเป็นในลักษณะห่วงหาอาทร ทักทายกันในเช้าวันจันทร์เริ่มทำงาน และวันศุกร์คุยเรื่องการเตรียมพักผ่อนท่องเที่ยว ด้วยคอนเซ็ปต์ให้สมาชิกรู้สึกว่ากำลังคุยกับคนไม่ใช่แบรนด์ที่ไม่มีชีวิต หรือจับต้องไม่ได้ เป็นความรู้สึกดีต่อกัน และที่สำคัญคือการโพสต์แต่ละตัวอักษรได้ผ่านการกลั่นกรองอย่างดี ว่าไม่มีผลเสียหรือกระทบกับใคร เพราะแฟนเพจที่นี่มีคนทุกกลุ่ม เป็นข้อความสั้นๆ ที่ต้องอ่านหลายๆ รอบ จึงจะคลิก Share ได้

ในจำนวน 2 แสนคนนี้ไม่ใช่แค่รักชอบอย่างเดียว ที่ไม่ชอบก็ยังกด Like เข้ามาก็มี หลายครั้ง ”ณัฐพร” เห็นคอมเมนต์แรงๆ ขึ้นมา ก็มีหลักการคือถ้าหยาบคายก็ลบออก บางคอมเมนต์ที่แรง ในเชิงลบ เช่นโพสต์เข้ามาว่าไม่ชอบเพจนี้ เพราะไม่ชอบให้มาขายของ ก็ต้องปล่อย ซึ่งบางครั้งสังคมในโซเชี่ยลมีเดียก็จะจัดการกันเอง โพสต์เตือนกันบ้าง ชี้แจงแทนบ้าง

แบรนด์วิ่งชน

ยอดสมาชิกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ GTHChannel กลายสถานะจากฟรีมีเดียเป็นสื่อที่เกิดมูลค่าทางธุรกิจ กรณีแรกที่เกิดขึ้นคือการ Cross Target ระหว่างฐานสมาชิกของ Fan Pageแห่งนี้กับธนาคารกสิกรไทย จนเกิดบริการเดบิตการ์ด GTH is me ที่ให้สมัครทางออนไลน์ gthisme.com และพบว่า 70-80% ของผู้สมัครบัตรนี้มาจาก Facebook Pageถือเป็นสินค้าที่เกิดจาก Social Community

นอกจากนี้ยังเป็นส่วนเสริมให้กับสปอนเซอร์ที่มาสนับสนุนหนัง ที่นอกจากได้โฆษณาในหนัง โปสเตอร์และสื่ออื่นๆ แล้ว Fan Pageยังเป็นที่ต้องการของสปอนเซอร์อีกด้วย เช่นกรณีของมาสด้า 2 ที่สนับสนุนเรื่องกวนมึนโฮ เมื่อต้องการใช้สื่อ FanPage ก็ไม่ใช่หมายถึงการเข้ามาโฆษณารถตรงๆ แต่ต้องคิดกลยุทธ์ให้สร้างสรรค์และจบลงด้วยการชวนสมาชิกมาแข่งแรลลี่ และบอกตรงๆ กับสมาชิกว่านี่คือร่วมมือโดยมีมาสด้าเป็นสปอนเซอร์ ที่ ”เดชอุดม” บอกว่าวิธีนี้สมาชิกจะยอมรับมากกว่าการโฆษณาอย่างแอบแฝง แล้วมาเฉลยว่าเป็นสินค้าใดสินค้าหนึ่ง

ที่ผ่านมาเริ่มมีบางแบรนด์ที่อยากใช้ GTHChannel เป็นสื่อโฆษณา แต่ ”เดชอุดม” บอกว่ายังเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะจะทำให้สมาชิกเสียความรู้สึกมากกว่า เนื่องจากคนที่เข้ามาที่นี่ก็เพื่อมาคุยและแบ่งปัน สิ่งใดที่อาจทำให้สมาชิกรำคาญต้องหลีกเลี่ยง หากคิดว่าทำ Fan Pageเพื่อหารายได้โฆษณาจากสินค้าต่างๆ นั้นเป็นไปได้ยาก ส่วนแบรนด์ต่างๆ ที่อยากโฆษณาแฝงก็ต้องสร้างสรรค์มาแล้วอย่างดี

บทสรุปของแต่ละ Like ใน GTHChannel นั้น ”เดชอุดม” บอกว่ามาจากการมีเป้าหมายที่ชัดเจน การเปิดกว้างของผู้บริหารที่วางใจ การเข้าใจในธุรกิจขององค์กรตัวเอง และการเอาใจใส่ต่อสมาชิก Fan Page เป็นหลักสำคัญที่ทำให้มาไกลกว่าที่เขาคิด และเมื่อมาขนาดนี้แล้ว ภารกิจปั้นให้ Fan Pageนี้มีรายได้ในอนาคต ดูเหมือนจะไม่ไกลเกินเอื้อม