ต้องยอมรับว่า ‘ฟิตเนส’ ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ไปไม่น้อย เมื่อต้องปิดสาขาชั่วคราวในช่วงล็อกดาวน์ เเต่ในอีกมุมก็เป็น ’โอกาสสำคัญ’ ที่ผู้คนทั่วโลกต่างหันมาดูเเลตัวเองเเละ ‘ใส่ใจสุขภาพ’ กันมากขึ้น
ปัจจุบัน มูลค่าตลาดของ ‘ธุรกิจฟิตเนส’ ในไทยอยู่ที่ราว 10,000 ล้านบาท เติบโตอย่างต่อเนื่อง ก่อนสะดุดลงด้วยพิษ COVID-19 เเต่ในปีนี้ เต็มไปด้วย ‘ความหวัง’ ที่จะกลับมารุ่งอีกครั้ง หลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงเเละมีการกระจายวัคซีน
นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของผู้ประกอบการฟิตเนส ว่าพวกเขาจะปรับกลยุทธ์รองรับ ‘วิถีชีวิต’ ใหม่นี้อย่างไรกันบ้าง
ปีนี้ Jetts Fitness (เจ็ทส์ ฟิตเนส) เเบรนด์ดังจากออสเตรเลีย เร่งเครื่องขยับขึ้นมาเป็น ‘เบอร์ 1’ ของตลาดไทยในเเง่สาขา ซึ่งเป็นถือกลยุทธ์หลักของธุรกิจฟิตเนส ที่พึ่งพารายได้จาก ‘ค่าสมาชิก’ ดังนั้นการหาลูกค้ากลุ่มใหม่ในทำเลที่ยังไม่เคยเข้าถึงคือหัวใจสำคัญ
ท่ามกลาง COVID-19 ที่ระบาดทั้งปี 2020 Jetts เปิดคลับใหม่เพิ่มถึง 13 สาขา ทำให้ตอนนี้มีอยู่ 35 สาขาทั่วประเทศไทย พร้อมเดินหน้าเปิดอีก 8 สาขาในปีนี้
เเม้จะขยายสาขาไม่หยุด เเต่ Jetts Fitness ก็เจอผลกระทบหนักเช่นกัน เพราะในช่วง COVID-19 มีสมาชิก ‘ยกเลิก’ ไปถึง 20% จากจำนวนสมาชิกที่มีราว 29,000 ราย ขณะเดียวกันสมาชิกเหลืออยู่อีก 80% ในจำนวนนี้กว่า 30% ขอหยุดจ่ายค่าสมาชิกราว 30%
นี่เป็นโจทย์ยากของธุรกิจฟิตเนส ว่าจะทำอย่างไรให้ ‘ลูกค้าเก่า’ กลับมาเเละหาลูกค้าใหม่ไปด้วยในยามที่ใครๆ ก็รัดเข็มขัดประหยัดค่าใช้จ่าย
ไมค์ แลมบ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจ็ทส์ ฟิตเนส 24 ชั่วโมง ภูมิภาคเอเชีย บอกว่า ความท้าทายหลักๆ เเบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การทำอย่างไรให้สมาชิกที่หายไป ‘กลับมา’ ใช้บริการเเละการทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปเมื่อพฤติกรรมของลูกค้าจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ที่ผ่านมา Jetts Fitness มีการออกโปรเเกรม ‘คลาสออนไลน์’ เเละ ‘เทรนเนอร์ออนไลน์’ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับสมาชิกอยู่ตลอด
โดยมองว่าพฤติกรรมการใช้บริการฟิตเนส จะเปลี่ยนไปเป็นการ ‘ผสมผสานระหว่างคลาสออกกำลังกายออนไลน์และการเข้ายิมตามปกติ’ เพราะคนจำนวนมากเริ่มชอบการยืดหยุ่นด้านการเดินทางและตารางเวลา รวมถึงลดความเลี่ยงการติดโรค
สำหรับคลาสออนไลน์ที่บริษัทจัดมีสถิติผู้เข้าชมเกือบสี่หมื่นวิว มีผู้เข้าชมสูงสุดในเวลา 17.00 น. ในวันธรรมดา และเวลา 15.00 น.ในช่วงสุดสัปดาห์ โดยคลาสบอดี้คอมแบท เล็ทส์มูฟ และเจ ซีรี่ส์ เป็นคลาสยอดฮิต
อย่างไรก็ตาม เเม้คลาสเเละเทรนเนอร์ออนไลน์ จะได้รับการตอบรับที่ดีมาก เเต่ไมค์มองว่า สิ่งสำคัญที่ฟิตเนสมีคือการสร้าง ‘community’ เเละบรรยากาศการออกกำลังกายที่ไม่เหมือนอยู่ที่บ้าน มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เชื่อว่าผู้คนจะยังต้องการมาออกกำลังการที่ ‘สาขา’ ต่อไปหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย
ปีนี้ Jetts Fitness ประเทศไทย จะทุ่มงบการตลาด 4% เพื่อทำโปรโมชัน ออกแคมเปญต่างๆ อย่างแคมเปญกระตุ้น “We want you comeback” ด้วยการให้ส่วนลด 50% เเละเปิดตัวทีมเทรนเนอร์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อตอบความต้องการเฉพาะบุคคล ดูเเลนักกีฬามืออาชีพ และมีอุปกรณ์ที่ครบครัน
โดยแนวโน้มการกลับมาใช้บริการของสมาชิกเก่าที่หยุดไป รวมทั้งการสมัครสมาชิกของลูกค้าใหม่ เริ่มทยอยกลับมาเเล้วในระดับ 30%
นอกจากนี้ วิธีดึงดูดให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการ ก็คือการ ‘เข้าไปหาลูกค้า’ ผ่านวิธีการเร่งขยายสาขาในทำเลที่หลากหลายขึ้น
ปัจจุบัน Jetts Fitness ครองส่วนแบ่งตลาดฟิตเนสรวมที่ 30% เเละครองส่วนแบ่งตลาดฟิตเนสที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงที่ 60%
จากเดิม Jetts Fitness มีกลยุทธ์ขยายสาขาในพื้นที่กลางใจเมือง เน้นใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า ใกล้อาคารสำนักงาน เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าหลักอย่างพนักงานออฟฟิศ ที่มีอายุราว 21-40 ปี
เเต่จากการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายบริษัทเลือกให้พนักงานทำงานทางไกลที่บ้าน หรือ Work from Home ดังนั้นทิศทางการเปิดสาขา จึงจะเริ่มขยายทำเลมาแถบ ‘ชานเมือง’ ใกล้ชุมชนที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปย่านการค้าในเมือง
สำหรับเเผนปีนี้ของ Jetts Fitness ตั้งเป้าเพิ่มอีก 8 สาขา มีงบลงทุนสาขาละ 40 ล้านบาท คาดว่าจบปี 2021 จะมีสาขาอยู่ทั้งสิ้น 41 สาขา พร้อมๆ กับการตั้งเป้าเพิ่มยอดสมาชิกให้เป็น 32,000 รายด้วย
โดยในกรุงเทพฯ จะมีคลับใหม่ที่สยามสแควร์วัน (อยู่กลางใจเมือง) เเละรามอินทรา (อยู่เเถบชานเมือง) ส่วนอีก 6 คลับ จะกระจายไปในต่างจังหวัดเน้นเมืองท่องเที่ยวที่ฮิตในหมู่คนไทย อย่าง หัวหินเเละเพชรบุรี
ต้องจับตาดูว่า ปีนี้ธุรกิจ ‘ฟิตเนส’ จะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหรือไม่…