เปิดสูตร “แมนซั่ม” ขอร่วมวง “วิตามิน วอเตอร์” มาช้าแต่ขอล้มยักษ์…

ดูท่าว่าตลาด “วิตามิน วอเตอร์” จะยังไม่เงียบเหงา เพราะยังผู้เล่นใหม่ที่ไม่ใช่แบรนด์ใหม่ลงมาจับตลาดอยู่ ค่าย TCP ส่ง “แมนซั่ม วิตามิน วอเตอร์” ลงมาท้าชิง งัดจุดเด่นที่ให้มากกว่าวิตามินด้วยเบต้า-กลูแคน อาจจะดูมาช้าไปนิด เพราะเทรนด์เริ่มไปทาง “กัญชง” กันพอสมควร

น้ำวิตามินเฟ้อตลาด

ต้องบอกว่าในปี 2563 ที่ผ่านมา ทิศทางของอาหาร และเครื่องดื่มก็ยังคงไปในเวย์ของดูแลสุขภาพอยู่ แต่การมาของไวรัส COVID-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาของเทรนด์นี้ให้เข้มข้นมากขึ้น จึงได้เห็นหลายแบรนด์ออกสินค้าที่บำรุงสุขภาพ เสริมภูมิคุ้นกันต่างๆ นานา

โปรดักต์ฮีโร่ที่หลายคนให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ “น้ำวิตามิน” หรือ “วิตามิน วอเตอร์” เรียกได้ว่ามีสปอตไลต์ฉายมาหลายดวง จากที่แต่เดิมในตลาดมีแค่ไม่กี่แบรนด์ จนในปี 2020 มีทั้งหมด 8 แบรนด์

แน่นอนว่าความฮอตของสินค้า ได้ดันตลาดน้ำวิตามิน วอเตอร์เติบโต 10% มีมูลค่า 2,200 ล้านบาท และในปี 2021 คาดว่าจะเติบโตถึง 59% มีมูลค่า 3,500 ล้านบาท และแค่มกราคมเดือนเดียวก็สามารถเติบโตได้ถึง 76% เลยทีเดียว

หากนับดูดีๆ หลายคนคงจะตกใจกับปริมาณของวิตามิน วอเตอร์ ที่พาเหรดกันลงตลาดนับไม่ถ้วน เริ่มต้นจากผู้บุกเบิกตลาดอย่าง ยันฮี วิตามินวอเตอร์ จากโรงพยาบาลยันฮี เริ่มทำตลาดตั้งแต่ปี 2557 ตอนนี้ก็ยังเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดจากนั้นก็มีหลายเจ้าตบเท้าเข้ามา ได้แก่

  • บลู จากค่าย ดาน่อน-เซ็ปเป้ เบฟเวอเรจส์
  • Good Mood จากค่ายเป๊ปซี่โค แต่หยุดทำตลาดเมื่อเดือนธันวาคม 2563
  • อิชิตัน วิตามิน วอเตอร์ ซี พลัส อี และน้ำด่าง pH Plus 8.5 จากค่ายอิชิตัน
  • Vitaday จากค่าย General Beverage
  • Aqua Vitz จากค่ายเจเล่
  • D.R.Drink
  • เพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์ จากค่ายสิงห์

เมื่อเปิดศักราชใหม่ เราจึงได้เห็นวิตามิน วอเตอร์แบรนด์ที่ 9 ซึ่งไม่ใช่น้องใหม่ที่ไหน จากค่าย TCP หรือกระทิงแดงนั่นเอง ไม่พลาดที่จะร่วมวงนี้ด้วย ส่ง “แมนซั่ม วิตามิน วอเตอร์” ลงสู่สังเวียนตลาดเป็นที่เรียบร้อย ต้อนรับซัมเมอร์ไปในตัว

กดสูตรแมนซั่ม มาช้าแต่ขอล้มยักษ์

ถ้าพูดถึงค่าย TCP มีเครื่องดื่มหลายตัวที่เป็นตัวท็อปในตลาด ทั้งกระทิงแดง, สปอนเซอร์ และเพียวริคุ แต่แบรนด์หนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ “แมนซั่ม” ต้องบอกว่าแบรนด์นี้เป็นกรณีศึกษาในตลาดฟังก์ชันนอลดริ้งก์มาแล้ว เป็นแบรนด์ที่มาที่หลัง แต่สามารถล้มเบอร์ 1 ในตลาดได้

ในยุคหนึ่งเป็นยุคที่ “ฟังก์ชันนอลดริ้งก์” ครองเมือง ไม่ต่างจากช่วงที่ “ชาเขียว” ครองเมืองเท่าไหร่ ในตอนนั้น “เซ็ปเป้” เป็นผู้บุกเบิกตลาดตั้งแต่ราวๆ ปี 2549 ในยุคนั้นเป็นอะไรที่ฮอตฮิตมาก เพราะเป็นเทรนด์ใหม่ที่ดื่มน้ำแล้วได้ประโยชน์เรื่องความสวย ผิวสวยต่างๆ นานา แบรนด์ใหญ่ๆ ก็พากันปั้นฟังก์ชันนอลดริ้งก์ลงตลาดเช่นกัน

แต่แล้วจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อ “แมนซั่ม” ลงตลาดเมื่อปี 2555 เรียกว่าช้ากว่าแบรนด์อื่นไปหลายก้าว แต่ได้ชูความแตกต่างจากตลาดโดยสิ้นเชิง วางจุดยืนเป็นฟังก์ชันนอลดริ้งก์สำหรับ “ผู้ชาย” ชูส่วนผสมหลักคือ “ซิงค์” จริงๆ แล้วเซ็ปเป้ก็เคยออกสูตรสำหรับผู้ชาย แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก แต่แมนซั่มกลับทำได้

ทำได้อย่างเดียวไม่พอ… ยังสามารถชิงส่วนแบ่งตลาด จนสามารถขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดได้ หลังจากเบียดๆ กันอยู่ไม่กี่ปี

ในกรณีนี้แมนซั่มยังคงกดสูตรเดิม แม้จะลงตลาดช้ากว่าคนอื่น แต่ถ้าชูจุดต่างได้ ก็หวังชิงส่วนแบ่งได้เช่นกัน

ครั้งนี้ TCP เลือกใช้แบรนด์แมนซั่มในการทำตลาด ก็เพราะเป็นแบรนด์ที่แข็งในกลุ่มฟังก์ชันนอลดริ้งก์ หรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ สามารถสร้างการรับรู้ได้เร็ว เช่นเดียวกันกับค่ายสิงห์ที่ส่ง “เพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์” เพราะการรับรู้ในแบรนด์เพอร์ร่าในแบรนด์น้ำแร่ จะดูเฮลท์ตี้มากกว่าแบรนด์น้ำดื่มสิงห์นั่นเอง

“เรามีความเชี่ยวชาญในตลาดฟังก์ชันนอลดริ้งก์ และที่ผ่านมาแมนซั่มก็เป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคยอมรับ แม้จะเป็นเครื่องดื่มที่เน้นที่ผู้ชาย แต่ลูกค้ากลุ่มผู้หญิงก็มีสัดส่วนถึง 18% จึงทำให้เรามั่นใจและมีความพร้อมที่จะแตกไลน์สินค้าเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย” ประไพภักตร์ ไวเกิล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดโกลเบิล (F&B) กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าว

แผนล้มยักษ์ของแมนซั่ม เริ่มต้นจากการที่ขอส่วนแบ่งตลาดในปีแรกที่ 15% ขึ้น Top 3 ในตลาด โดยที่ผู้นำตลาดอย่างยันฮีฯ ครองเบอร์หนึ่งที่ส่วนแบ่ง 30% แน่นอนว่าแมนซั่มฯ หวังที่จะเคลมบัลลังก์นี้อย่างแน่นอน…

สร้างความต่างที่มากกว่าวิตามิน

จะสังเกตว่าในตลาดวิตามิน วอเตอร์ส่วนใหญ่ มีจุดตั้งต้นด้วยสูตรที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ได้แก่สูตรวิตามิน B รวม และสูตรวิตามิน C เป็นวิตามินที่เหมาะกับร่างกาย และช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต่างๆ เพียงแต่ว่าแต่ละเจ้าจะมีรสชาติที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่การปรุงรส

จากการที่ได้ทดลองชิม หลายแบรนด์จะพยายามปรุงรสชาติให้ออกแนวสมุนไพรหน่อยๆ ใช้เก๊กฮวย หรือเฉาก๊วย เข้ามาเพื่อทำให้รสชาติกลมกล่อมขึ้น หรือจะเป็นรสชาติที่หลากหลายเหมือนของบลู และวิตอะเดย์ไปเลย

โดยที่แมนซั่ม วิตามิน วอเตอร์ มี 2 สูตร Beta-Glucan ฝาแดง ผสมเบต้า-กลูแคน และ Multi-vitamin ฝาเขียว มีวิตามินบี 3, บี 6, บี 12 และซิงค์ มีการชูจุดเด่นที่ตัวส่วนผสมเบต้า-กลูแคน และรสชาติกลิ่นใบเตยและยังเอาซิงค์มาเป็นตัวชูโรงที่ยังขาดไม่ได้

มาทีหลังก็ต้องเหนื่อยหน่อย งานนี้ได้ทุ่มงบการตลาดกว่า 150 ล้านบาท ดึงเอา “ไมค์ – พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล” เป็นพรีเซ็นเตอร์ ชูภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่ สมาร์ท สุขภาพดี และรู้จักดูแลตัวเอง ยังคงเลือกผู้ชายเป็นพรีเซ็นเตอร์ตามคาแร็กเตอร์ของแบรนด์อยู่ แต่ก็สามารถสื่อสารกับสาวๆ ได้เช่นกัน

ดันกลยุทธ์ 2 ราคา

ในส่วนของราคาจำหน่ายจะมี 2 ขนาดด้วยกัน ได้แก่ ราคา 15 บาท ขนาด 475 มล. และ 17 บาท ขนาด 480 มล. ถ้าถามว่าต่างกันอย่างไร … ด้วยปริมาณต่างกันแค่ 5 มล. เท่านั้น

คำตอบอยู่ที่ “ช่องทางจัดจำหน่าย” 15 บาท ขายตามร้านโชห่วย เพราะเน้นที่ราคาย่อมเยา เข้าถึงง่าย ไม่ต้องควักถึง 20 บาท ส่วน 17 บาท ขายตามโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ด้วยช่องทางนี้กลุ่มลูกค้าจะมีกำลังซื้อ เลือกจำหน่ายในราคาสูงกว่าหน่อย และยังเป็นราคามาตรฐานที่แบรนด์อื่นก็ตรึงราคาที่ 17 บาทกันด้วย

รวมถึงยังมีการดัน “การขายยกลัง” เพื่อไว้ดื่มที่บ้านหรือ Home Stocking เนื่องจากต้องการให้แมนซั่ม วิตามิน วอเตอร์เป็น “เครื่องดื่มประจำบ้าน” แทนที่น้ำเปล่า

เทรนด์ ‘สุขภาพ’ ไม่ได้มาแล้วไป

แม้ว่าปัจจุบันในตลาดวิตามิน วอเตอร์จะมีผู้เล่น 8 ราย แต่เชื่อว่าจะยังมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาอีก เพราะยังเห็นการเติบโตอีกมาก โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2022 ตลาดจะติบโต 43% มีมูลค่า 5,000 ล้านบาท และหากเทียบวิตามิน วอเตอร์กับตลาดน้ำดื่มพบว่าคิดเป็นเพียง 10% เท่านั้น

ขณะที่ต่างประเทศอย่าง ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และมาเลเซีย วิตามิน วอเตอร์มีสัดส่วนอยู่ที่ราว 40-50% ของตลาดน้ำดื่มเลยทีเดียว เชื่อว่าอนาคตผู้บริโภคเปลี่ยนจากน้ำดื่ม และน้ำแร่มาเป็นน้ำดื่มผสมวิตามิน

“วิตามิน วอเตอร์เป็นทางเลือกที่ไปแทนที่น้ำเปล่าหรือน้ำแร่ในปัจจุบัน จะเห็นว่าตลาดน้ำติดลบ -5% เนื่องจากถูกวิตามิน วอเตอร์แย่งตลาด มองว่านี่ไม่ใช่กระแสที่มาแล้วไป เพราะการดูแลสุขภาพนั้นเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ดังนั้น มั่นใจว่าเครื่องดื่มในแนวฟังก์ชันนอลยังสดใสไปอีกนาน”

ปัจจุบันกลุ่ม TCP มีไลน์สินค้า 6 กลุ่ม รวม 9 แบรนด์ ได้แก่

  • เครื่องดื่มให้พลังงาน : กระทิงแดง, เรดดี้, โสมพลัส และวอริเออร์
  • เครื่องดื่มสปอร์ตดริ้งก์ : สปอนเซอร์
  • เครื่องดื่มฟังก์ชันนอลดริ้งก์ : แมนซั่ม, แมนซั่ม วิตามิน วอเตอร์ และไฮ่!
  • เครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม : เพียวริคุ
  • เมล็ดทานตะวัน : ซันสแนค
  • กลุ่มหัวเชื้อเครื่องดื่ม : เรดบูลรสดั้งเดิม