Acer ทรานส์ฟอร์มสู่ไลฟ์สไตล์ ขาย “เครื่องกรองอากาศ” ท้าชนเสี่ยวหมี่!

แม้ว่าช่วง COVID-19 ที่ผ่านมาจะทำให้เกิดความต้องการในตลาดไอที โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์-โน้ตบุ๊กเพื่อใช้ในการ Work และ Learn form Home แต่เพราะปัญหาด้านซัพพลายเชนที่ยังไม่ฟื้น ทำให้ตลาดในไทยยังติบลบราว -6% แบรนด์ที่ขายก็ต้องขนสต๊อกเก่ามาระบายไปก่อน และเพราะความไม่แน่นอนนี้ทำให้ ‘เอเซอร์’ ไม่หยุดอยู่แค่ธุรกิจพีซี โดยเลือกที่จะข้ามไปเป็น ‘ไลฟ์สไตล์แบรนด์’ ที่ขายยันเครื่องดื่มชูกำลัง!

ปักหมุดไลฟ์สไตล์แบรนด์

แม้ว่าในปีที่ผ่านมา เอเซอร์ประเทศไทยจะสามารถเติบโตได้ในระดับ 2 หลัก สูงกว่าภาพรวมโลกที่เติบโตแค่หลักเดียว แต่จริง ๆ แล้วสามารถเติบโตได้มากกว่านี้หากไม่มีปัญหาด้านซัพพลายเชน ซึ่งกว่าจะกลับสู่ภาวะปกติอาจต้องรอถึงไตรมาส 2 อย่างไรก็ตาม เอเซอร์มองว่าตลาดพีซีนั้นยังเติบโตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเกมมิ่งและโน้ตบุ๊กบางเบา แต่คงไม่ได้โตแบบก้าวกระโดด

ดังนั้น บริษัทจึงต้องหาทางทำเงินใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโตให้มากกว่านี้ นี่จึงเป็นเหตุให้บริษัทจะผันตัวเป็น ‘ไลฟ์สไตล์แบรนด์’ เน้นตอบโจทย์ทั้งด้านการใช้ชีวิต การทำงาน การเรียน และการเล่น (Live, Work, Learn, Play) โดยเปลี่ยนรูปแบบสินค้าให้รองรับกับชีวิตและไลฟ์สไตล์วิถีใหม่ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง 5G, VR หรือ IoT ที่กำลังมีบทบาทในไลฟ์สไตล์คนในปัจจุบัน

“โควิดมันเปลี่ยนพฤติกรรมคนทั่วโลกไปแล้ว ต่อให้ไม่มีโควิดแต่การทำงานที่บ้านยังอยู่ การเดินทางน้อยลง ดังนั้น ตลาดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่เฉลี่ยปีละ 2 ล้านเครื่องน่าจะเติบโตขึ้น แต่ผู้เล่นยังไงก็มีเท่าเดิม คงไม่มีผู้เล่นใหม่เข้ามาทำตลาดได้แล้ว เพราะตลาดมันตันมาหลายปีแล้ว” อลัน เจียง กรรมการผุู้จัดการประจำประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าว

อลัน เจียง กรรมการผุู้จัดการประจำประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด (คนซ้าย) นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด (คนกลาง) สุพงศ์ ตั้งตรงเบญจศีล รองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจค้าปลีก (คนขวา)

ขายยันเครื่องดื่มชูกำลัง

ที่ผ่านมา เอเซอร์ก็เริ่มจับตลาดไลฟ์สไตล์แล้วบ้าง แต่เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น แบรนด์ ‘Pawbo’ ผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ หรืออย่าง ‘Xplova’ ดีไวซ์สำหรับใช้กับจักรยาน ล่าสุด เพิ่มสายสินค้าสมาร์ทแกดเจ็ตเข้ามามากขึ้น อาทิ ‘acerpure เครื่องฟอกอากาศ’, ‘Acer Halo smart speaker ลำโพงอัจฉริยะ’ รวมถึงแกดเจ็ตต่าง ๆ ที่จะทยอยออกมาให้เห็นในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเมาส์, คีย์บอร์ด, ไวเลสชาร์จเจอร์ และหูฟังทรูไวเลส

และที่เป็นไฮไลต์คือ ‘Predator Shot’ เครื่องดื่มชูกำลังสำหรับเกมเมอร์ ที่ปัจจุบันวางจำหน่ายแล้วในไต้หวันและแถบยุโรป ส่วนประเทศไทยคาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายที่ประเทศไทยได้ในพฤษภาคมนี้ โดยเอเซอร์ได้วางแผนว่าจะผลิตและจำหน่ายในไทยและภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ เอเซอร์ยังมีแพลตฟอร์มโซเชียลสำหรับเกมเมอร์ โดยมีจุดเด่นที่เกมเมอร์สามารถเก็บสถิติการเล่นได้ สามารถจัดตั้งลีกการแข่งขัน พร้อมหาโค้ชเพื่อพัฒนาฝีมือได้ด้วย โดยแพลตฟอร์มนี้ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้เกมเมอร์และเอเซอร์ในอนาคต

“เราเริ่มจากของใกล้ตัวโดยยัง Base On ธุรกิจดั้งเดิม แต่ก็ไม่ลิมิตตัวเองแค่ฮาร์ดแวร์เท่านั้น และอีกจุดแข็งของเราคือ บริการหลังการขายที่ให้ On Side Service 1 ปี เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค”

ไม่ทิ้งตลาดองค์กร

ในส่วนตลาดองค์กร เอเซอร์ระบุว่าจะเน้น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ การศึกษา สุขภาพ และอุตสาหกรรม โดยมีโซลูชันที่ใช้ตอบโจทย์ ได้แก่ Desktop Service Platform และ STEAM Education สำหรับกลุ่มการศึกษา ส่วนกลุ่มเฮลท์แคร์มีโซลูชัน VeriSee DR ที่นำ AI Technology มาใช้กับการแพทย์ในการทำการวิเคราะห์ วิจัย ด้วย VeriSee DR AI Technology และ Smart Industries Solution โซลูชันเพื่ออุตสาหกรรมที่ช่วยยกระดับการบริหารจัดการ ทั้งเครื่องจักรในสายการผลิต รวมถึงระบบคุณภาพน้ำ การจัดการของเสีย การควบคุมการใช้ไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี IoT

ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้ของเอเซอร์ราว 85% มาจากคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ที่เหลือเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ อย่างไรก็ตาม เอเซอร์ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนฝั่งไลฟ์สไตล์ให้เป็น 50-50 ภายใน 5-7 ปี