แผนธุรกิจ “ธนจิรา” ปี 2567 เตรียมนำเข้าแบรนด์แฟชั่นบิ๊กเนมจาก “ญี่ปุ่น” จ่อส่ง “HARNN” ลุยตลาด “จีน” เต็มตัว

ธนจิรา
“ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ TAN
“ธนจิรา” กางแผนปี 2567 จัดโครงสร้างองค์กรแบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ ตั้งเป้ารายได้เติบโต 20% แบรนด์ใหม่ปีนี้เตรียมนำเข้าแบรนด์แฟชั่นรายใหญ่ระดับ Top 8 ของ “ญี่ปุ่น” และเปิดร้านอาหาร “Street Burger” อีกหนึ่งร้านในเครือ Gordon Ramsey ขณะที่สินค้าแบรนด์ “HARNN” จ่อเข้าไปทำตลาด “จีน” เต็มตัว ผ่านการตั้งบริษัทร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์จีน สร้างระบบขายแบบ Multi-Tier Franchise System

หลังจาก บมจ.ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ TAN จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปเมื่อเดือนตุลาคม 2566 พร้อมแล้วที่จะสยายปีกต่อเนื่องจากการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ นำทัพโดย “ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ TAN ขณะที่แบรนด์ในเครือมีการจัดธุรกิจเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ : Pandora เครื่องประดับเงินจากเดนมาร์ก, Cath Kidston สินค้าไลฟ์สไตล์แนวโมเดิร์นวินเทจจากอังกฤษ
  • กลุ่มธุรกิจแฟชั่น : Marimekko แบรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าและของใช้จากฟินแลนด์, GANNI แบรนด์แฟชั่นสไตล์ smart luxury จากแถบสแกนดิเนเวีย
  • กลุ่มธุรกิจความงามและสุขภาพ : HARNN สินค้าบอดี้แคร์ สกินแคร์ สปา ร้านสปา, Vuudh เครื่องหอมไทยสไตล์ร่วมสมัย
  • กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม : ร้านอาหารจากเครือเซเลบริตี้เชฟ Gordon Ramsey ได้แก่ Bread Street Kitchen & Bar, Street Pizza และ Street Burger รวมถึงร้านอาหารแบรนด์ในเครือ ได้แก่ Marimekko Café และ Cath Kidston Tearoom
ธนจิรา
รวมพอร์ตโฟลิโอแบรนด์ในเครือธนจิรา

ธนพงษ์กล่าวว่า บริษัทมีการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อแยกการบริหารให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากแต่ละกลุ่มธุรกิจอาศัยความรู้ความเข้าใจในการบริหารกิจการและทำการตลาดสินค้าที่ต่างกัน

หลังจัดกลุ่มแล้ว ทำให้สัดส่วนรายได้เมื่อปี 2566 จะแบ่งตามกลุ่มธุรกิจ คือ 61% กลุ่มไลฟ์สไตล์ 19% กลุ่มแฟชั่น 19% กลุ่มความงามและสุขภาพ และ 1% กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม

อย่างไรก็ตาม ปี 2567 นี้บริษัทมีแผนจะบุกหนักในกลุ่มแฟชั่นและกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้นจากการเปิดแบรนด์ใหม่ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนรายได้สิ้นปีนี้เปลี่ยนไป คือ 51% กลุ่มไลฟ์สไตล์ 23% กลุ่มแฟชั่น 19% กลุ่มความงามและสุขภาพ และ 7% กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งทำให้ธนจิรามีการกระจายพอร์ตที่สมดุลมากขึ้น

ธนพงษ์กล่าวต่อว่า เมื่อปี 2566 ธนจิราทำรายได้ 1,415 ล้านบาท เติบโต 16% จากปีก่อนหน้า และทำกำไรสุทธิ 167 ล้านบาท เติบโต 33% จากปีก่อนหน้า สำหรับปี 2567 บริษัทตั้งเป้ารายได้จะเติบโต 20% ซึ่งจะมาจากทั้งกลยุทธ์การเปิดแบรนด์ใหม่และสาขาใหม่ของแบรนด์เดิม รวมถึงการเพิ่มยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ด้วย

 

จ่อเปิดแบรนด์แฟชั่นบิ๊กเนมจาก “ญี่ปุ่น” และร้านใหม่ของ Gordon Ramsey

กลยุทธ์การเปิดแบรนด์ใหม่ของธนจิราปี 2567 ในกลุ่มธุรกิจแฟชั่นจะมีการนำเข้า 1 แบรนด์ใหม่จาก “ญี่ปุ่น” เตรียมเปิดช็อปที่เอ็มสเฟียร์เดือนพฤษภาคมนี้

ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้มากนัก แต่แบรนด์ดังกล่าวเป็นแบรนด์แฟชั่นรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น และทำรายได้เป็นอันดับ 8 ของตลาดแฟชั่นในญี่ปุ่น มีสินค้าหลากหลายตั้งแต่แฟชั่นสตรีทแวร์จนถึงระดับไฮเอนด์ รวมถึงการเลือกขยายสาขามายังประเทศไทย ถือเป็นการเข้าตลาดต่างประเทศแห่งใหม่ในรอบสิบปีของแบรนด์นี้ หลังจากเคยขยายสาขาไปยังไต้หวันมาแล้ว

ธนจิรามองเทรนด์แฟชั่นปัจจุบันของคนรุ่นใหม่มีกระแสนิยมแนวสตรีทแวร์มากขึ้น มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าสินค้าแฟชั่นกลุ่มสตรีทแวร์จะโตเป็นเท่าตัวภายในปี 2571 ทำให้แบรนด์ใหม่จากญี่ปุ่นนี้น่าสนใจในการนำเข้ามาขยายฐานลูกค้า

Bread Street Kitchen & Bar ธุรกิจกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของธนจิรา เปิดตัวเดือนธันวาคม 2566

ส่วนกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ปีนี้จะมีการเปิดร้าน “Street Burger” เป็นอีกหนึ่งร้านในเครือของ Gordon Ramsey ที่บริษัทดีลไว้แล้ว โดยจะเป็นร้านสไตล์ Casual Dining แต่เป็นเบอร์เกอร์ที่ใช้วัตถุดิบพรีเมียมและกรรมวิธีพิถีพิถัน เน้นเจาะตลาดนักท่องเที่ยวและนิวเจนเป็นหลัก Street Burger วางแผนจะเปิดทั้งหมด 3 สาขาภายในสิ้นปี 2567

 

ส่งแบรนด์ “HARNN” ลุย “จีน” เต็มตัว

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญคือการขยายตลาดของ “HARNN” ธนพงษ์ระบุว่าขณะนี้บริษัทกำลังจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ในประเทศจีน เพื่อขยายตลาดส่งออกสินค้า HARNN เข้าสู่ประเทศจีนในลักษณะ B2B หลังจากชิมลางทำตลาดอีคอมเมิร์ซบน Tmall ของจีนส่งขายแบบ B2C มาหลายปีและพบว่ามีดีมานด์จริง

ระบบการขายของ HARNN ในจีนจะใช้ระบบ Multi-Tier Franchise System โดยร่วมมือกับพาร์ทเนอร์จีนรายนี้ที่มีความเชี่ยวชาญในการหาเครือข่ายผู้กระจายสินค้าในแต่ละมณฑลของจีน ให้สิทธิกระจายสินค้าแยกเป็นแต่ละมณฑล เพื่อให้สินค้าได้กระจายโดยผู้ที่เชี่ยวชาญตลาดนั้นๆ และไปถึงมือลูกค้าปลายทาง ขณะที่บริษัท JV ของธนจิราและพาร์ทเนอร์จีนจะได้จำหน่ายสินค้าเป็นลอตใหญ่ ขายในลักษณะ B2B

ผลิตภัณฑ์แบรนด์ HARNN

“จีนเป็นตลาดปราบเซียนเพราะตลาดมีขนาดใหญ่มาก” ธนพงษ์กล่าว “แต่เป้าหมายสูงสุดของเราคือต้องการครอบคลุมให้ทั่วประเทศจีน จึงต้องหาโมเดลธุรกิจที่จะทำอย่างไรให้สินค้ากระจายแบบมีประสิทธิภาพจริงๆ”

ขณะนี้ HARNN อยู่ระหว่างขอใบอนุญาตด้านอาหารและยาของจีน คาดจะได้รับอนุญาตภายในไตรมาส 2 นี้ และจะเริ่มส่งออกได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป

ธนพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้าของ HARNN ในไทย 40% เป็นคนไทย และ 60% เป็นนักท่องเที่ยว และกลุ่มต่างชาติส่วนใหญ่ที่ซื้อคือ “คนจีน” อยู่แล้ว ทำให้แบรนด์น่าจะไปได้ดีในตลาดจีน เชื่อว่าภายใน 3 ปี รายได้ของ HARNN ในจีนจะวิ่งแซงหน้ารายได้ที่ขายในไทยได้

 

ภาพรวมเปิดเพิ่ม 23 สาขา หาโอกาสใน “ต่างจังหวัด” มากขึ้น

สรุปภาพรวมทั้งเครือของ TAN ปีนี้จะเปิดเพิ่ม 23 สาขา รวมทั้งแบรนด์ใหม่และแบรนด์เดิมในพอร์ต ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และทุกแบรนด์จะมีการขยายสาขาทั้งหมด

ทีมผู้บริหาร บมจ. ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น

ไฮไลต์หนึ่งที่น่าสนใจคือการออก “ต่างจังหวัด” ของธนจิราที่จะเห็นมากขึ้นในปีนี้ โดย Pandora จะไปเปิดที่เซ็นทรัล สุราษฎร์ธานี ขณะที่ Marimekko จะเปิดช็อปที่เซ็นทรัล ภูเก็ต

ธนพงษ์แย้มเป้าหมายในปี 2568 ด้วยว่าน่าจะได้เห็นการนำเข้าแบรนด์เครื่องสำอางจากญี่ปุ่น 1 แบรนด์ ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจา เห็นได้ว่าธนจิราเป็น ‘Lifestyle Company’ การนำเข้าสินค้ามีความหลากหลายประเภทมาก ขอเพียงอยู่ในไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ทำให้ตลาดเปิดได้ไม่จำกัดประเภทสินค้า