เอาบ้าง! ByteDance ซุ่มเงียบพัฒนาแอปฯ สนทนาเสียงแบบเดียวกับ Clubhouse

(Photo by Emmanuel Wong/Getty Images)
ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok กำลังซุ่มเงียบพัฒนาแอปฯ ใหม่ที่คล้ายกับ Clubhouse หลังจากแอปฯ โซเชียลมีเดียสื่อสารด้วยเสียงจากสหรัฐฯ รายนี้ฮิตไปทั่วประเทศจีนก่อนจะถูกรัฐบาลสั่งระงับ ทำให้สารพัดบริษัทเทคฯ แข่งขันพัฒนาแอปฯ ‘เลียนแบบ’ หวังจับตลาดใหม่

Clubhouse แอปพลิเคชันสนทนาเสียงที่ฮิตไปทั่วโลก เคยฮิตในจีนอยู่ระยะหนึ่งก่อนจะถูกรัฐบาลจีนสั่งระงับห้ามใช้งานเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เนื่องจากผู้ใช้ใช้แพลตฟอร์มนี้สนทนาเรื่องที่เป็น ‘ประเด็นอ่อนไหว’ ของแดนมังกร เช่น ค่ายกักกันซินเจียง หรือการแยกตัวเป็นอิสระของฮ่องกง

แต่ความฮิตของแอปฯ ลักษณะนี้มีผลกระตุ้นให้บริษัทอื่นพัฒนาแอปฯ เลียนแบบอีกเพียบ แค่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีแอปฯ ใหม่แบบเดียวกันออกสู่ตลาดแล้วเกินสิบตัว หนึ่งในนั้นคือแอปฯ Mi Talk จากบริษัท Xiaomi โดยใช้วิธีเจาะตลาดกลุ่มผู้บริหารก่อน และผู้จะเข้าใช้แอปฯ ได้ต้องได้รับ ‘คำเชิญ’ เท่านั้น

ล่าสุด Reuters รายงานข้อมูลจากแหล่งข่าววงในสองราย ระบุว่า “จาง อี้หมิง” ซีอีโอบริษัท ByteDance เจ้าของแอปฯ TikTok มีความสนใจแอปฯ ในลักษณะเดียวกับ Clubhouse และอยู่ในช่วงศึกษาขั้นต้นเพื่อพัฒนาแอปฯ ทั้งนี้ ByteDance ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ความสำเร็จและฮิตจัดของ Clubhouse นั้น อาจจะดูเหมือนเกิดขึ้นในโลกตะวันตกเป็นหลัก เพราะเป็นแอปฯ ที่กำเนิดในซิลิคอนวัลเลย์ แต่เมื่อไปดู Google Trend รอบ 90 วันที่ผ่านมา 4 อันดับแรกเขตการปกครองที่พูดถึง Clubhouse มากที่สุดคือ จีน, มองโกเลีย, ไต้หวัน และฮ่องกงตามลำดับ (ไทยอยู่ในอันดับ 5) ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทเทคฯ จีนต่างรีบเร่งพัฒนาแอปฯ มาแย่งตลาด

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าแอปฯ จีนจะต้องมีระบบเซ็นเซอร์และสอดส่องโดยรัฐบาลจีน ไม่ว่าจะสื่อสารกันด้วยอะไรก็ตาม และที่จริงแล้วแอปฯ สนทนาเสียงเป็นกลุ่มแบบนี้ก็มิใช่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะจีนมีแอปฯ Zhiya ที่เป็นโซเชียลมีเดียแบบเสียง เปิดตัวตั้งแต่ปี 2013 แต่ฮิตในกลุ่มเฉพาะทาง เช่น เกมเมอร์ที่จะเข้ามาคุยเรื่องเกมกัน หรือกลุ่มที่เข้ามาร้องเพลงร่วมกัน

มาร์โก้ ล่าย ซีอีโอ บริษัท Lizhi เจ้าของแอปฯ Zhiya กล่าวว่า การลงทะเบียนใช้แอปฯ นี้จะต้องระบุตัวตนจริง รวมถึงบริษัทต้องมีทั้งระบบ AI และพนักงานที่เป็นมนุษย์คอยดักฟังการสนทนาในห้องทุกห้อง เพื่อตรวจจับแบนคอนเทนต์ “ไม่พึงประสงค์” ต่างๆ เช่น เรื่องอนาจาร ประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง เป็นต้น แอปฯ นี้ยังเคยถูกรัฐบาลระงับมาแล้วเมื่อปี 2019 ก่อนจะได้กลับมาเปิดใช้ใหม่เมื่อบริษัทแก้ไขปัญหาการกลั่นกรองคอนเทนต์ได้แล้ว

แม้มาตรการของรัฐจะทำให้คนจีนคุยเรื่องการเมืองในห้องแชทเสียงไม่ได้ แต่ล่ายมองว่าตลาดมีโอกาสสำหรับการมาคุยกันในเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความบันเทิง จะได้ผลดีมากกับชาวจีน

Google Trends เช็กความฮิต Clubhouse รอบ 90 วันที่ผ่านมา โดยแบ่งตามภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ระบบกลั่นกรองคอนเทนต์ที่พัฒนาไม่ง่ายน่าจะเป็นกำแพงกั้นแอปฯ ใหม่ที่อยากเข้าตลาดโซเชียลมีเดียแบบเสียง ยกตัวอย่างเช่นบริษัท Inke Ltd. เพิ่งจะออกแอปฯ Duihuaba เมื่อสองสัปดาห์ก่อน โดยมุ่งเจาะกลุ่มนักลงทุนเวนเจอร์แคปิตอล นักวิจารณ์ด้านแฟชั่น และเซเลบดารา ให้มาตั้งห้องสนทนาในแอปฯ แต่ปัจจุบันถูกสั่งระงับไปเสียเฉยๆ โดยบริษัทไม่ได้ชี้แจงอะไรมากไปกว่า “แอปฯ ยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม”

ความเคลื่อนไหวการเกาะกระแส Clubhouse ไม่ได้เกิดแต่ที่ประเทศจีน แม้แต่ยักษ์ใหญ่ซีกโลกตะวันตกอย่าง Facebook กับ Twitter ก็กำลังเร่งพัฒนาแอปฯ แบบเดียวกัน โดยเฉพาะรายหลังที่เปิดตัวเวอร์ชันเบต้าเรียบร้อยในชื่อ Twitter Spaces ใช้ได้ทั้ง iOS และ Android แต่ปัจจุบันยังทดลองใช้ในกลุ่มจำกัดอยู่

Source