ตลาด Wealth โตพุ่ง SCB ปั้น Private Banking สู่เป้าพอร์ต 1 ล้านล้านบาท โอกาสทองจับ ‘เศรษฐีไทย’ 

สถาบันการเงิน เร่งเครื่องดันธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง เเย่งลูกค้าเศรษฐีกันดุเดือด ด้วยความที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าการออกสินเชื่อ เเถมยังมีการเติบโตสูง สร้างรายได้ดี เเม้จะเจอวิกฤตเศรษฐกิจ

SCB เป็นอีกหนึ่งเจ้าใหญ่ในไทยที่ประกาศจะขึ้นเป็นผู้นำในตลาด Private Banking โดยตั้งเป้าภายใน 3 ปีจะมี AUM สู่ระดับ 1 ล้านล้านบาทให้ได้

สารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ธุรกิจ Wealth Management ดูเเลพอร์ตการลงทุนให้ลูกค้าผู้มั่งคั่งเติบโตขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมาท่ามกลางโรคระบาด

ด้วยสภาพคล่องที่ล้นตลาดทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำทั่วโลก การออมเงินฝากหรือพันธบัตร ไม่ได้ให้ผลตอบเเทนที่ดีมากนัก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต้องหาทางลงทุนอื่นๆ ที่ได้ผลตอบเเทนมากขึ้น เเม้จะความผันผวนในตลาดสูง

โดยกลุ่มผู้มีสินทรัพย์สูง หรือ HNWIs (มีสินทรัพย์ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป) มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญที่จะมาให้คำเเนะนำการดูเเลพอร์ตมากขึ้น ทำให้ธุรกิจ Private Banking ขยายตัวตามไปด้วย

ตลาด Wealth โตพุ่ง โอกาสจับ ‘เศรษฐีไทย’ 

SCB ประเมินว่า ภาพรวม Wealth ทั่วโลกในปี 2024 จะเติบโต 7% เมื่อเทียบกับปี 2018 โดยจะขยายตัวมากที่สุดในจีน เเละเอเชียแปซิฟิก

สำหรับตลาด Wealth ในประเทศไทย คาดว่าจะเติบโต 5% สูงกว่า GDP ไทยถึง 2 เท่า โดยจำนวนลูกค้า Wealth ทั้งหมดในไทย คาดว่าจะอยู่ที่ 8.86 แสนคน เพิ่มขึ้น 5% จากปี 2018 ที่อยู่ราว 7.1 แสนคน

ประชากร 1% ของคนไทย ถือครองทรัพย์สิน 80% ของทั้งประเทศ

ในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-10 ‘เศรษฐีหลายราย ต้องการพึ่งพาที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ เพราะการเดินทางยังลำบาก เราจึงได้เห็นสถาบันการเงินระดับโลกหลายแห่งเริ่มมาเปิดธุรกิจบริหารความมั่งคั่งร่วมกับสถาบันการเงินท้องถิ่นมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็น Credit Suisse ที่เปิดตัวในปี 2016 ต่อมาในปี 2018 กลุ่มธุรกิจบริการ Private Banking รายใหญ่จากสวิตเซอร์แลนด์อย่าง Julius Baer ได้เปิดตัวธุรกิจกับพันธมิตรอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB ถือหุ้นใหญ่ 60% ส่วน Julius Baer ถือหุ้น 40%) เเละในปี 2019 สถาบันการเงินจากลิกเตนสไตน์อย่าง LGT ก็ได้มาเปิดสำนักงานในไทย เเละล่าสุด HSBC จากอังกฤษ ก็เตรียมตั้งธุรกิจ Private Banking ในไทย

ข้อมูลจาก HSBC ระบุว่า สินทรัพย์ที่นักลงทุนกลุ่ม High Net Worth (HNW) ในเอเชียถือครอง จะเพิ่มขึ้นไปสู่ 40 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ภายในปี 2025 ถือว่าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 2017

นี่จึงเป็นโอกาสทอง เเละการเเข่งขันที่สูงมากเช่นนี้ ทำให้ธุรกิจ Private Banking ต้องงัดหากลยุทธ์ใหม่ๆ มาเพื่อครองใจลูกค้าให้ได้มากที่สุด

บริหารความมั่งคั่ง คือ New S-Curve 

ปัจจุบันธุรกิจ Wealth ของไทยพาณิชย์ มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่อยู่ภายใต้การบริหาร (AUM) ราว 8.5 แสนล้านบาท เเละในปี 2024 ตั้งเป้าจะมี AUM สู่ระดับ 1 ล้านล้านบาท ภายใต้แนวคิด BEAT THE BENCHMARK

โดยมีฐานลูกค้า Wealth จำนวนกว่า 3 เเสนราย (จากราว 7 เเสนรายทั้งประเทศ) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

  • ลูกค้า SCB Prime มีสินทรัพย์ 2-10 ล้านบาท
  • ลูกค้า SCB First มีสินทรัพย์ 10-50 ล้านบาท
  • ลูกค้า SCB Private Banking มีสินทรัพย์ 50 ล้านบาทขึ้นไป

ธนาคารได้เริ่มแผน Wealth Transformation มาตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งปีนั้นสร้างรายได้ให้ธนาคารคิดเป็น 7% ของรายได้รวม และ 31% ของรายได้ค่าธรรมเนียม จากนั้นก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2020 สามารถทำรายได้ถึง 15% ของรายได้รวม และ 56% ของรายได้ค่าธรรมเนียม

ธุรกิจ Wealth Management จึงกลายมาเป็น New S Curve ของไทยพาณิชย์

โดยคาดว่า AUM ลูกค้ากลุ่ม Wealth ของไทยพาณิชย์จะโตเฉลี่ยปีละ 10-12% และปี 2566 คาดว่าจะมี AUM 1 ล้านล้านบาท ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมคาดว่าจะเติบโตได้ในอัตราสองหลัก 

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมารายได้จากธุรกิจบริหารความมั่งคั่งของธนาคาร เติบโตกว่า 25% แม้จะเผชิญกับสถานการณ์วิกฤต COVID-19

ณรงค์ ศรีจักรินทร์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เล่าว่า เมื่อ 4 ปีก่อน ธนาคารได้เฟ้นหาพนักงานหัวกะทิที่โดดเด่นที่สุดของสาขา 1,100 คน มาร่วมทีม Wealth Management โดยมีการจัดเทรนนิ่งอย่างเข้มข้น จนตอนนี้ธนาคารมี RM (Relationship Manager) ที่มีใบรับรองมากที่สุดในไทย

หลักๆ จะเน้นการสร้างขีดความสามารถในการให้คำปรึกษา (Advisory Capability) ควบคู่ไปกับการปรับ ‘Operating Model’ พัฒนาโซลูชันด้านการลงทุนเเบบ Open Architecture คือการมีผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าเลือกลงทุนจากบริษัทพันธมิตรเเละประกัน (ตอนนี้มีอยู่ 35 แห่ง) ไม่ได้มีเเค่ผลิตภัณฑ์ของ SCB เท่านั้น รวมทั้งมีการนำระบบ AI เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการพอร์ต สร้างเเพลตฟอร์มเฉพาะมาบริการเพื่อช่วยให้ลูกค้าเห็นการลงทุนของตัวเองชัดเจนขึ้น

โดยทิศทางของกลุ่มธุรกิจ SCB Wealth ในปี 2021 จะโฟกัสและมุ่งเน้นการเติบโตของเซ็กเมนต์ Private Banking เพื่อจับลูกค้าใหม่ที่มีสินทรัพย์ 50 ล้านบาทขึ้นไป

เมธินี จงสฤษดิ์หวัง รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Private Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า กลุ่มลูกค้า Wealth ของไทยพาณิชย์ เมื่อดู Investment AUM (ไม่รวมเงินฝาก) จะมีสินทรัพย์อยู่ประมาณ 5.7 แสนล้านบาท จาก AUM ทั้งหมดที่ 8.5 แสนบาท สามารถสร้างผลตอบแทนจากการบริหารพอร์ตการลงทุนให้ลูกค้าได้ 14.9% ในระยะเวลา 1 ปี (1 .. – 31 .. 2020) 

มธินี จงสฤษดิ์หวัง รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Private Banking ธนาคารไทยพาณิชย์

โดยในปี 2021 นี้ SCB Private Banking จะดำเนินธุรกิจ ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ดังนี้

  • Investment Solutions for Wealth Preservation ต่อยอดความมั่งคั่งให้ลูกค้า โดยจะมีลงทุนทั้งในและต่างประเทศในสินทรัพย์ที่หลากหลายประเภท กว่า 10,000 หลักทรัพย์และกองทุน ทั้ง Public assets หรือ Private assets
  • Business Solutions for Wealth Creation บริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจอย่างรอบด้าน เปิดโอกาสการลงทุนแบบใหม่ๆ เช่น สินเชื่อ SCB Property Backed Loan ที่เปิดตัวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ให้ลูกค้านำไปเพิ่มกระแสเงินสด
  • SCB Financial Business Group ประสานกับธุรกิจส่วนต่างๆ ทั้งหมดในธนาคารไทยพาณิชย์ให้ครบวงจรเพื่อสร้างความประทับใจให้ลูกค้า

สำหรับข้อเเนะนำในการลงทุนในปีนี้ ผู้บริหาร SCB บอกว่า ควรจะกระจายความเสี่ยงในต่างประเทศ โดยเน้นธุรกิจที่เติบโตในยุค New Normal อย่าง อีคอมเมิร์ซ การขนส่งเเละธุรกิจคลาวด์

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการลงุทนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม พลังงานหมุนเวียน ตามที่จะเห็นรัฐบาลใหญ่ๆ ของโลกทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ต่างออกนโนบายเพื่อขับเคลื่อนสิ่งนี้

ขณะเดียวกันภาวะดอกเบี้ยต่ำที่จะดำเนินต่อเนื่องผู้ลงทุนก็ต้องมองหาผลตอบแทนที่มากกว่า เช่น ตราสารหนี้ , หุ้น เป็นต้น

โดยในปีนี้เเนะนำแบ่งพอร์ตการลงทุนเป็น 60% ลงทุนในหุ้น และ 40% ลงทุนในตราสารหนี้ เเละช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง ให้ปรับตราสารหนี้เป็น 50-60% เเละเมื่อการกระจายวัคซีนได้ผลดีจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ได้เเล้ว เเนะให้ถือตราสารหนี้ลดลงเหลือ 30% พร้อมกับการติดตามข่าวสารเเละนโนบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด