ระวัง “ตัวปลอม”

“จำนวนสมาชิก Fan Pageที่เพิ่มสูงขึ้นอาจไม่ได้แปลว่าดีเสมอไป เพราะคนเหล่านี้อาจไม่ใช่แฟนตัวจริงและอาจไม่มีตัวตนเลยก็ได้” คำพูดนี้คงไม่มีใครเข้าใจความหมายดีไปกว่าเตฌิณ โสมคำ หรือโรเจอร์ หนึ่งในทีมงาน Facebookgoo ซึ่งเขาคิดว่านี่ไม่ใช่สัญญาณที่ดีสำหรับการทำธุรกิจอย่างแน่นอน

ในฐานะเอเยนซี่ที่ดูแลเรื่องแบรนด์อย่างบริษัท RO2 จำกัด ที่เขาก่อตั้งขึ้นและเจอปัญหา “ปั่น Fan Page” จากกลุ่มคนที่เขาเรียกว่า “นักล่ารางวัล” เข้ามาป่วน Fan Page ถุงยางอนามัยยี่ห้อหนึ่งที่เขาดูแลอยู่ ซึ่งจัดแคมเปญโหวตรูปภาพโดยผู้ชนะจะได้รางวัลเป็น iPad ไปครอง โดยก่อนหน้าที่จะจัดแคมเปญนี้เขามีจำนวนสมาชิกประมาณ 500-600 คนเท่านั้น แต่หลังจากจัดกิจกรรมนี้ขึ้นก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นถึงกว่า 3,000 คน ด้วยตัวเลขที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่นานทำให้เขาเกิดความสงสัยว่าคนพวกนี้ใช่ “ตัวจริง” หรือเปล่า

และความคิดนี้ก็เป็นจริงดังคาด เพราะเขาตรวจสอบโพรไฟล์ของสมาชิก Fan Pageที่ต้องสงสัยในเบื้องต้นแล้วพบความ “ผิดปกติ” หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การตั้งชื่อแปลกๆ ที่ไม่ใช่ชื่อจริง ใช้ภาษาต่างประเทศอย่างเกาหลีมาตั้งชื่อ ใช้รูปและชื่อของดาราเข้ามาโหวต การปิดกั้นข้อมูลส่วนตัวมากกว่าคนทั่วไป ไปจนถึงลักษณะการตอบคำถามที่นานๆ จะตอบสักครั้งหรือไม่ตอบเลย ซึ่งเขาคาดว่าเป็นเพราะสมัครไว้หลาย ID จนจำไม่ได้ว่าใช้อันไหนเล่นกิจกรรมอะไรบ้าง นอกจากนี้ยังมีการใช้โพรไฟล์ของคนต่างชาติเข้ามาโหวตทั้งที่ Fan Pageนี้เขาตั้งค่าไว้สำหรับผู้ใช้ในประเทศไทยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม โรเจอร์บอกว่าวิธีเช็กนี้ไม่สามารถยืนยันได้ 100% ว่าคนกลุ่มนี้จะใช่พวกนักล่ารางวัลจริงหรือเปล่า เพราะการสมัครเฟซบุ๊กสามารถทำได้ง่ายและไม่ต้องใช้หลักฐานมาแสดงชัดเจนเหมือนกับการสมัครสมาชิกเว็บไซต์พันทิปที่ต้องใช้เลขที่บัตรประชาชนมายืนยันจึงสามารถตรวจสอบได้ว่าบุคคลนี้มีตัวตนจริงหรือไม่

อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือคนกลุ่มนี้ทำงานกันทีมและกระจายเป็นเครือข่ายเพื่อล่ารางวัลตามแบรนด์ต่างๆ ที่จัดแคมเปญแจกสินค้าประเภท Consumer Product ที่มีราคาแพงอย่าง iPhone iPad ไปจนถึงตั๋วเครื่องบิน “คนพวกนี้มีหลายกลุ่ม บางกลุ่มก็ดีกันบางกลุ่มก็แย่งของกันด้วย จึงมีการทะเลาะกัน ทำทุกวิถีทางที่จะได้ของมา” โรเจอร์บอก ส่วนจำนวนตัวเลขที่ชัดเจนว่ามีกี่คนนั้นเขาไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าเป็น “หลักร้อย”

การปั่น Fan Pageให้มีจำนวนสมาชิกเยอะๆ ในแง่มุมของเอเยนซี่บางแห่งหรือลูกค้าบางรายที่วัดตัวเลขความสำเร็จด้วยจำนวนสมาชิกอาจมองว่าเป็นเรื่องดี แต่ในมุมมองของคนทำงานเอเยนซี่ที่ดูแลแบรนด์อย่างเขากลับ “ไม่ใช่” เพราะสิ่งที่เขาอยากได้คือความคิดเห็นและความต้องการของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ ซึ่งประโยชน์ของเฟซบุ๊กยังช่วยให้ทำโฟกัสกรุ๊ปได้ง่ายขึ้น แต่เมื่อเจอเคสนี้ก็ต้องคิดใหม่ว่าข้อมูลที่ได้มานี้จะสามารถใช้ได้จริงหรือไม่

    วิธีจับผิดนักล่ารางวัล

  1. มักจะตั้งชื่อแปลกๆ ที่ไม่ใช่ชื่อจริง
  2. ตั้งชื่อเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น เกาหลี
  3. ทำเป็นโพรไฟล์ของดาราเข้ามาโหวต
  4. ปิดกั้นข้อมูลส่วนตัวมากกว่าคนทั่วไป
  5. มีเพื่อนในลิสต์น้อยมาก และไม่ค่อยมีข้อมูลส่วนตัวนอกจากระบุเพศ
  6. นานๆ จะตอบคำถามสักครั้ง เพราะสมัครไว้หลาย ID จนลืม
  7. ใช้โพรไฟล์ของคนต่างชาติเข้ามาโหวตหรือทำกิจกรรม เพราะ Fan Pageส่วนใหญ่มักตั้งค่าให้คนไทยมาเล่นเท่านั้น
  8. นักล่ารางวัลมักจะขอ Add เฟซบุ๊กของคนที่ไม่รู้จักเพื่อนำรูปไปใช้สมัครโพรไฟล์ใหม่และไว้ใช้ล่ารางวัลในแคมเปญอื่นๆ ต่อไป