เตรียมรับแรงกระแทก! ‘คลังน้ำมันซาอุฯ’ ถูกโจมตี ดันราคาพุ่งสูงสุดในรอบ 13 เดือน

ภาพคลังน้ำมัน Ras Tanura โดย Getty
ตั้งแต่เริ่มเข้าเดือนมีนาคมมา ราคาน้ำมันก็พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุมาจากประเทศผู้ส่งออกลดปริมาณการผลิตต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายน และล่าสุด ประเทศซาอุดีอาระเบียที่เป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของโลกโดยมีศักยภาพในการผลิตรวมกว่า 2.6 แสนล้านบาร์เรล หรือกว่า 1 ใน 4 ของปริมาณรวมของทั้งโลกได้ถูกโจมตีโรงงานผลิตน้ำมันด้วยขีปนาวุธเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา

ซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า หนึ่งในโรงงานผลิตน้ำมันที่ได้รับการปกป้องมากที่สุดในโลกถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธจากกลุ่มกบฏ ‘ฮูตี’ ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2563

การโจมตีดังกล่าวถือเป็นการโจมตีที่ร้ายแรงที่สุดต่อโรงงานน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย นับตั้งแต่โรงงานแปรรูปน้ำมันทั้ง 2 แห่งที่เคยโดนโจมตีเมื่อเดือนกันยายน 2019 ทำให้การผลิตลดลงเป็นเวลาหลายวัน และส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำมันหายไปถึง 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 5% ของการผลิตน้ำมันทั้งโลก ซึ่งวิกฤตดังกล่าวส่งผลให้น้ำมันดิบเบรนท์ทะยานกว่า 19% แตะที่ 71.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

Photo : Shutterstock

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าโมเมนตัมดังกล่าวจะทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นอย่างน้อยในระยะสั้น และเป็นเซนติเมนต์บวกต่อหุ้นพลังงาน เนื่องจากการโจมตีไม่ได้ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิตหรือทรัพย์สินขณะที่การผลิตน้ำมันยังไม่ได้รับผลกระทบ

เนื่องจาก ‘Ras Tanura’ คลังน้ำมันที่ถูกโจมตีเป็นคลังน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสามารถส่งออกได้ประมาณ 6.5 ล้านบาร์เรลต่อวันซึ่งเกือบ 7% ของความต้องการน้ำมัน และด้วยเหตุนี้จึงได้รับการคุ้มครองอย่างเข้มงวด โดยท่าเรือนี้มีฟาร์มถังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ที่เก็บน้ำมันดิบไว้ก่อนที่จะถูกสูบไปยังเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่

ทั้งนี้ โดยราคาน้ำมันดิบโลกเริ่มพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันศุกร์ (5 มี.ค. 2564) ที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันดิบ Brent เพิ่มขึ้น 3.9% มาที่ 69.36 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยปัจจัยหนุนมาจากเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก เช่น สหรัฐฯ และจีน อีกทั้ง OPEC+ มีมติยังไม่เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในเดือนเมษายน โดยยังปรับคงการลดกำลังการผลิตที่ 8.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

Source