‘TikTok’ ขอใช้ความ ‘เรียล’ สู้ศึก ‘วิดีโอสั้น’ พร้อมดัน ‘วิดีโอยาว’ สวนกระแส

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความฮิตของ ‘TikTok’ ในปี 2020 นั้นเรียกได้ว่าถล่มทลายอย่างแท้จริง เพราะมียอดดาวน์โหลดกว่า 2,000 ล้านครั้งใน 150 ประเทศทั่วโลก! แน่นอนว่าการเติบโตดังกล่าวได้ล่อเป้าให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียระดับโลกหันมาให้ความสนใจและพร้อมจะเปิดฟีเจอร์ใหม่ (ที่ได้แรงบันดาลใจจาก TikTok) เพื่อจะเป็น ‘ทางเลือกใหม่’ ให้กับผู้บริโภคได้ใช้งาน ดังนั้นการทำตลาดของ TikTok จากนี้คงไม่ง่ายเหมือนอดีตแน่นอน

‘วิดีโอ’ ตลาดใหญ่ที่ใคร ๆ ก็อยากเล่น

จากผลสำรวจของ Neilsen ในปี 2020 พบว่า คนไทยใช้เวลากับสื่อดิจิทัลผ่านทางสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น 59% จาก 3.51 ชั่วโมงต่อวันเป็น 6.08 ชั่วโมงต่อวัน และข้อมูลจาก MediaBrix ในปี 2020 ระบุว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่มีการรับชมคอนเทนท์ประเภทวิดีโอ โดย 55% มีการรับชมทุกวัน 90% ชื่นชอบวิดีโอสั้นแนวตั้ง และ 72% เรียนรู้ผลิตภัณฑ์และรู้จักบริการต่าง ๆ ผ่านคอนเทนต์ประเภทวิดีโอ

ส่วนข้อมูลจาก SteamElement ระบุว่า Live-streaming กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นโดยในปี 2020 มีการเพิ่มขึ้นของคอนเทนต์จากการ Live-steaming ถึง 99% เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019 ดังนั้น จะเห็นว่าคอนเทนต์วิดีโอได้เข้ามาช่วงชิงเวลาของกลุ่มผู้ชมในโลกออนไลน์ไปเรียบร้อยแล้ว

Facebook ส่ง Reels บุกตลาดไทย

จากความสำเร็จของ TikTok ทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายใหญ่ของโลกต่างก็ซุ่มพัฒนาฟีเจอร์ ‘วิดีโอสั้น’ เพื่อทำตลาดแข่งขันกับ TikTok ไม่ว่าจะเป็น ‘YouTube’ ที่มีฟีเจอร์ ‘Shorts’ สำหรับทำคลิปวิดีโอสั้นแบบแนวตั้งโดยมีความยาวไม่เกิน 1 นาที โดยได้ทดลองใช้ฟีเจอร์นี้ในประเทศอินเดียเป็นที่แรกตามด้วยอเมริกา ซึ่งในอินเดีย Shorts ก็สามารถทำยอดวิวได้ถึง 3,500 ล้านครั้งต่อวัน (แต่อย่าลืมว่า TikTok โดนแบนในอินเดีย)

อีกรายก็คือ ‘Facebook’ ที่เปิดตัวฟีเจอร์ ‘Reels’ ซึ่งก็เป็นฟีเจอร์ทำคลิปวิดีโอสั้นแบบแนวตั้งเช่นกัน โดยสามารถใช้งานได้ทั้งบน Facebook และ Instagram สามารถสร้างวิดีโอความยาว 15 และ 30 วินาที โดยฟีเจอร์ดังกล่าวหลังจากได้ทดลองใช้ในอินเดียและอเมริกา ล่าสุดก็ได้เปิดตัวในไทยเป็นที่เรียบร้อยเเล้ว

ฟีเจอร์ Reels

TikTok ขอใช้ความ ‘เรียล’ เข้าสู้

สุรยศ เอี่ยมละออ Head of Consumer Marketing ระบุว่า จุดแข็งของ TikTok ที่ใช้มัดใจผู้ใช้ก็คือความ Authentic หรือ ‘ความจริงใจ’ และ ‘เครื่องมือ’ ที่หลากหลาย โดยวิดีโอที่ถูกสร้างสรรค์จะทำออกมาแบบเรียลไม่ค่อยประดิษฐ์ ซึ่งแสดงถึงความเป็นตัวตนของครีเอเตอร์ ขณะที่แพลตฟอร์มอื่นอาจจะเน้นที่ ความสวยงาม อีกทั้งผู้ใช้ที่ได้รับชมวิดีโอจาก คนที่ไม่รู้จัก เพราะแพลตฟอร์มจะสุ่มวิดีโอตามความสนใจให้รับชม ขณะที่แพลตฟอร์มอื่นจะเป็นการรับชมคอนเทนต์ในวง เพื่อน หรือการ ติดตาม เท่านั้น

นอกจากนี้ ความเป็น ‘โลคอล’ และ ‘ชาเลนจ์’ ที่ก่อให้เกิด ‘ไวรัล’ ก็เป็นอีกจุดแข็งของ TikTok โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีหลายไวรัลในไทยที่มีจุดกำเนิดมาจาก TikTok ทั้งสิ้น ทั้งเพลง ‘เจน-นุ่น-โบว์’ เพลง ‘สิบสอง’ เป็นต้น

“ตอนนี้มีหลายเพลตฟอร์มทำวิดีโอสั้น แต่เราก็มั่นใจและไม่ต้องปรับอะไรเยอะ เนื่องจากเรายังคงรูปแบบความครีเอตที่สูง มีชาเลนจ์ที่ทำตามได้ง่าย และมีโลคอลไรซ์แคมเปญเยอะกว่าคู่แข่ง”

สุรยศ เอี่ยมละออ Head of Consumer Marketing TikTok

สวนกระเเสเพิ่มความยาววิดีโอ

อีกกลยุทธ์ที่จะใช้เพื่อเพิ่มฐานผู้ใช้คือ ‘วิดีโอยาว’ โดยปีที่ผ่านมา TikTok ได้เพิ่มความยาวของวิดีโอจาก 15 วินาทีเป็นสูงสุด 3 นาที โดยจะจะสามารถใช้ได้ในผู้ใช้ที่มีคนติดตาม 5,000 คนขึ้นไป แต่ปีนี้จะเปิดให้ผู้ใช้งานทุกคนสามารถสร้างคอนเทนต์ความยาว 3 นาทีได้ อีกส่วนคือ ฟีเจอร์ ‘Live-streaming’ พร้อมด้วยฟีเจอร์เสริมอย่าง ‘Multi-Guest’ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถชวนเพื่อนมาไลฟ์พร้อมกันได้สูงสุด 3 คน เป็นต้น

นอกจากนี้ TikTok เริ่มหาพันธมิตรที่เป็น ‘ผู้ผลิตคอนเทนต์มืออาชีพ’ เช่น สำนักข่าว ค่ายเพลง ค่ายละคร เพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์รูปแบบใหม่ ๆ ล่าสุด ร่วมกับ Star Hunter เปิดตัวซีรีส์แนวตั้งเรื่อง Bad Roommate ความยาวจะอยู่ที่ตอนละ 1-3 นาที รวมการจัดเอ็กซ์คลูซีฟ ไลฟ์สตรีมมิ่ง ร่วมกับศิลปินดัง ๆ

ทั้งนี้ ประเภทคอนเทนต์ที่กำลังได้รับความนิยม คือ ‘ข่าว’ มียอดวิวรวมกว่า 1.1 พันล้านวิว ‘การศึกษา’ เช่น ฮาวทู มียอดวิว 901 ล้านวิว และสุดท้าย ‘คอมเมดี้’ 571 ล้านวิว ซึ่งการเพิ่มระยะเวลาจะช่วยให้คอนเทนต์เหล่านี้สามารถอธิบายเรื่องราวได้ดีขึ้น

ฟังดูย้อนแย้งที่เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นจะเน้นที่วิดีโอยาว แต่วิดีโอยาวจะช่วยเพิ่มให้ผู้ใช้สามารถอธิบายเรื่องราวได้มากขึ้น และฟีเจอร์ไลฟ์ก็จะช่วยให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ได้ใกล้ชิดกับแฟนคลับได้ง่ายขึ้น โดยปีที่แล้วเป็นการสร้างการรับรู้ แต่ปีนี้จะเป็นการสร้างเอนเกจเมนต์มากขึ้น

ภาพจาก Facebook TikTok Live Thailand

มั่นใจ TikTok เป็น Top of Mind

ข้อมูลจาก App Annie เปรียบเทียบการใช้แพลตฟอร์ม TikTok ระหว่างเดือนมกราคมปี 2021 กับเดือนมกราคมปี 2020 พบว่าในไทยมีการดาวน์โหลด TikTok เพิ่มขึ้น 44% และมีการเพิ่มขึ้นของการใช้เวลาบนแพลตฟอร์มของผู้ใช้แต่ละคนสูงถึง 71%

โดยมีระยะเวลาการใช้งานในแต่ละครั้งเพิ่มสูงขึ้น 47% มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 18 – 34 ปี ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนมากกว่า 54% ของจำนวนผู้ใช้ทั้งหมดในประเทศไทย

ล่าสุด ได้มีการสำรวจความรู้สึกของผู้ใช้คนไทยที่มีต่อ TikTok โดย Kantar พบว่า 83% ของผู้ใช้รู้สึกว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มผู้นำกระแส 82% มองว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นบวกและทำให้ผู้ใช้รู้สึกดีเมื่อได้ใช้เวลาบนแพลตฟอร์ม

“เรายังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้วิกฤตโควิดจะซาลง โดยเรามั่นใจว่ายังสามารถเติบโตได้อีกโดยเฉพาะช่วงเทศกาล เช่น สงกรานต์ที่จะถึงนี้”

จะเห็นว่าเมื่อเหล่าแพลตฟอร์มใหญ่ที่มีความแข็งแกร่งในด้าน ‘วิดีโอยาว’ ก็หันมาจับตลาด ‘วิดีโอสั้น’ ส่วน TikTok ที่แข็งแรงในตลาดวิโอสั้นก็หนีไปทำวิดีโอยาว ก็ไม่รู้ว่าสงครามนี้จะจบอย่างไร คงต้องดูว่าแพลตฟอร์มใหญ่จะเปลี่ยนผู้ใช้ในมือให้หันมาใช้ฟีเจอร์วิดีโอสั้นของตัวเองได้แค่ไหน ส่วน TikTok เองก็ไม่รู้ว่าวิดีโอยาวที่จะเน้นจะได้รับการตอบรับอย่างไรบ้าง แต่ที่แน่ ๆ เวลาของผู้ใช้โดนขโมยเพิ่มอีกแล้ว