‘Intel’ Come Back! ทุ่มเงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานผลิตชิปใหม่ 2 แห่งรวด

Photo : shutterstock
ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนชิปทั่วโลก ซึ่งกำลังทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ เกิดความวุ่นวายตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ล่าสุด ‘Intel’ ก็ได้ประกาศว่าจะทุ่มเงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างโรงงานผลิตชิปใหม่ 2 แห่ง

การประกาศดังกล่าวมาจาก ‘Pat Gelsinger’ CEO คนใหม่ของ Intel ที่เพิ่งออกแถลงกลยุทธ์ครั้งแรกหลังจากนั่งตำแหน่ง โดยได้เปิดเผยถึงกลยุทธ์ ‘IDM 2.0’ ซึ่งจะปรับโมเดลใหม่โดยจะเปิดรับงานจากลูกค้าภายนอกบริษัท โดยจะขยายไปใช้โรงงานจากพันธมิตรด้วย แต่จะเน้นที่โรงงานตัวเองเป็นหลัก

Intel เป็นและจะยังคงเป็นผู้พัฒนาชั้นนำของเทคโนโลยีผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่และเป็นผู้ให้บริการชั้นของโลก” Gelsinger กล่าว

Intel จะตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ชื่อ Intel Foundry Services (IFS) นำโดย Randhir Thakur รองประธานอาวุโสของ Intel คนปัจจุบัน เพื่อรับงานผลิตชิปจากลูกค้าภายนอก ทั้ง x86, ARM, RISC-V โดยคาดว่าจะได้ลูกค้า อาทิ Google, Microsoft, Amazon, IBM, Qualcomm, Cisco, Ericsson, imec

นอกจากนี้ Intel ยังลงทุนอีก 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ตั้งโรงงานใหม่อีก 2 แห่งในแอริโซนา และมีแผนจะประกาศโรงงานแห่งใหม่ในสหรัฐฯ และยุโรปเพิ่มอีก โดยสาเหตุที่ Intel ต้องลงทุนเปิดโรงงานใหม่เพราะการผลิตมีผลต่อความมั่นคงของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ รวมถึงเพื่อแข่งขันให้ได้มากขึ้นในตลาดที่จะมีมูลค่าถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2568

ในเดือนกุมภาพันธ์ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศมีความสำคัญต่อการบริหารงานของเขา ฝ่ายบริหารของเขาหวังที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชิปและจัดการกับข้อกังวลของผู้ร่างกฎหมายที่ว่าการผลิตชิปจากภายนอกทำให้สหรัฐฯ เสี่ยงต่อการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานมากขึ้น

ปัจจุบัน Intel ดำเนินการโรงงานสี่แห่งเรียกว่า ‘wafer fabs’ ในสหรัฐอเมริกา นอกจากไซต์ในแอริโซนาซึ่งกำลังขยายตัวแล้วยังมี fabs ในแมสซาชูเซตส์, นิวเม็กซิโก และโอเรกอน นอกจากนี้ยังผลิตชิปในไอร์แลนด์, อิสราเอล และจีน

ที่ผ่านมา Intel กำลังเผชิญกับความท้าทายมากมาย เนื่องจากเพิ่งสูญเสียความได้เปรียบในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้กับคู่แข่งในเอเชียโดยเฉพาะ TSMC นอกจากนี้ยังมีคู่แข่งอย่าง AMD รวมถึง Apple ที่เป็นทั้งลูกค้าและคู่แข่ง

Source