ตรรกะการขายสินค้าของพรานทะเลดูจะแปลกอยู่ไม่น้อย เพราะหลังจากผลิตภัณฑ์พร้อมทาน คลิก เนื้อคู่สำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่วาดหวังไว้ เนื่องจากราคาสินค้าที่สูงเกินกว่าคนจะยอมจ่ายเพื่อทานคู่กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองละ 5-6 บาท
แต่พรานทะเลก็ไม่ยอมแพ้ หลังจากที่เจรจากับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่เป็นผล พรานทะเลก็ตัดสินใจผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในรูปแบบชาม ออกโปรโมชั่นขายคู่กับคลิก ในชื่อ “นู้ดเดิ้ล คลิก” โดยจัดทำเป็นของพรีเมียมกับอาหารพร้อมรับประทานคลิก
ไม่ต่างจากการผลิตกระดาษเพื่อให้ขายปากกา
การที่ยอมทุ่มถึงเพียงนี้ พรานทะเลคงประเมินแล้วว่า หากสำเร็จไม่เพียงแต่จะแจ้งเกิดคลิก แต่ยังทำให้พรานทะเลขยายเข้าสู่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่มีมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท ประกอบกับแบรนด์ของพรานทะเลก็เริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดแมสมากขึ้น เป็นผลมาจากการขยายสู่ตลาดอาหารทะเลแช่แข็งวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ยังมีอาหารกึ่งสำเร็จรูปแช่แข็ง และแผงขายอาหารพรานทะเลในฟู้ดเซ็นเตอร์ทั่วกรุงเทพฯ
ก่อนจะวางขายอย่างเป็นทางการในชื่อแบรนด์ “พรานไพร นู้ดเดิ้ลโบว์ล” และ “พรานทะเล นู้ดเดิ้ลโบว์ล” ที่ราคาขายต่อชามประมาณ 30 – 32 บาท ไม่ต่างจากการทานก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม ที่มีทั้งความสด ใหม่ และมีเนื้อสัตว์จริงๆ ที่ครบเครื่องมากกว่าเนื้อปรุงสุกพร้อมทานที่เป็นจุดขายของพรานทะเล
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบชาม ถือเป็นตลาดที่ทั้งมาม่าและไวไวยังไม่กล้าบุก เพราะทั้งสองยังมองไม่เห็นศักยภาพ และเทรนด์การเติบโตของตลาด ถึงแม้ผู้บริโภคจะคำนึงถึงความสะดวกมากขึ้น แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยก็คว้าโอกาสตรงนี้ไว้ในครอบครองด้วยอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในปีนี้ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการเติบโตน่าจะอยู่ที่ 30% ต่อปี
สำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประเภทชาม ทั้งสองแบรนด์ต่างมีความคิดเห็นเดียวกันว่า ทานลำบากกว่าถ้วย และราคาที่สูงเกือบเท่ากับข้าวราดแกง หรือก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประเภทนี้ ผิดกับรูปแบบถ้วย ที่พกพาสะดวก ง่ายต่อการทานกว่า และที่สำคัญราคาประมาณ 12 บาทเท่านั้น
อันที่จริงผู้บริโภคไทยคุ้นเคยกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบชามมานานแล้ว โดยทัศนคติของพวกเขา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบชามเป็นสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นและเกาหลี
ที่ถึงแม้จะแพงเกินกว่าราคามาตรฐานอาหารในประเทศไทย แต่พวกเขาก็เข้าใจและรับได้ เนื่องจากเป็นสินค้านำเข้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2553 ไทยจะมีมูลค่าการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอีก 44% เป็นความต้องการต่อเนื่องจากกระแสญี่ปุ่น และเกาหลีที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคอาหารที่มีรสชาติสไตล์ญี่ปุ่นและเกาหลีแบบดั้งเดิม
นอกจากนี้ การปรับลดภาษีนำเข้าภายใต้กรอบ FTA อาเซียน – ญี่ปุ่น และอาเซียน – เกาหลีใต้ ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ถูกลง เท่ากับว่า พรานไพรต้องเผชิญกับความยากลำบากในการจูงใจผู้บริโภคพอสมควร และความสาหัสของการแข่งขันที่มีทั้งคู่แข่งทางตรงจากบะหมี่ฯนำเข้า อาหารพร้อมรับประทานอื่นๆที่วางขายในร้านสะดวกซื้อ และร้านก๋วยเตี๋ยวบนทางเดินเท้าอีกจำนวนมาก
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น่าจะเป็นอีกหนึ่งในธุรกิจสุดท้าทายของพรานทะเลที่ต้องรอพิสูจน์
มูลค่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป | |||
ปี | มูลค่าตลาด | แบบซอง | แบบถ้วย |
2552 | 14,150 ล้านบาท | 94% | 6% |
2553 | 15,000 ล้านบาท | 90% | 10% |