มองตลาดแรงงานไทย แข่งดุอัตรา 1 : 100 แถม ‘ต่างชาติทักษะสูง’ จ่อแย่งงาน

ปกติแล้วอัตราการว่างงานไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1% แต่เพราะวิกฤต COVID-19 ทำให้อัตราว่างงานพุ่งสูงถึง 2% โดยภาพรวมตลาดประกาศงานในไทยช่วงเดือนมกราคมหายไป 35.6% ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคมหายไป 37.9% เมื่อเทียบกับเวลาเดียวกันของปี 2019 โดย ‘จ๊อบส์ ดีบี’ (JobsDB) ก็ได้ออกมาเปิดข้อมูลการประเมินแนวโน้มทิศทางตลาดแรงงานหลังวิกฤต COVID-19 ว่าจะฟื้นมากน้อยแค่ไหนไปดูกัน

ไตรมาสแรกส่งสัญญาณบวก

หลังจากที่ถูกพิษ COVID-19 ถล่มเศรษฐกิจซึ่งแน่นอนว่ากระทบกับภาพรวมการจ้างงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ในที่สุดก็เริ่มเห็นสัญญาณบวก โดย พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 สามารถเติบโต 24.65% เมื่อเทียบกับจุดต่ำสุดในเดือนธันวาคมที่การระบาดระลอก 2 ขณะที่ตลาดงานครึ่งปีแรกคาดว่าจะเติบโตได้ 5% ในกลางปี 2564 แต่จะกลับไปฟื้นตัวเท่ากับก่อนวิกฤตการณ์ COVID–19 อาจต้องรอถึงต้นปี 2565 หากไม่มีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น

กลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่
  • สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ (16.0%)
  • สายงานไอที (14.7%)
  • สายงานวิศวกรรม (9.8%)
กลุ่มสายงานที่มีจำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุด ได้แก่
  • สายงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ (29.7%)
  • สายงานขนส่ง (24.7%)
  • สายงานการผลิต (20.8%)

ด้านกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการฟื้นตัวสูงสุด ได้แก่
  • กลุ่มธุรกิจประกันภัย (42.9%)
  • กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (41.9%)
  • กลุ่มธุรกิจการผลิต (37.7%)

“กลุ่มงานขายและการผลิตแสดงให้เห็นถึงสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนสายงานไอทียังคงมีความต้องการสูงต่อเนื่อง ด้านสายงานขนส่งได้รับแรงผลักดันจากพฤติกรรมช้อปออนไลน์ ที่น่าห่วงคือ สายงานภาคท่องเที่ยว, โรงแรมยังติดลบ -20% เทียบไตรมาส 1 ปี 64 กับครึ่งปีหลังปี 63”

ตลาดฟื้นแต่ยังแข่งสูง

ในแต่ละเดือนพบว่ามีใบสมัครงานกว่า 1 ล้านใบต่อเดือน เติบโต 20% โดยอัตราการแข่งขันในการหางานของคนไทยมีอัตราส่วนที่ 1 ต่อ 100 ใบสมัคร โดยส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่เพียงในกลุ่มงานที่เงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยหางานมากขึ้นการแข่งขันยิ่งสูง

คนไทยอยากออก ต่างชาติอยากเข้า

จากแบบสำรวจ “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนทำงานยุคใหม่” (Global Talent Survey) ฉบับที่ 1 ที่จ๊อบส์ ดีบีร่วมมือกับบริษัท บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) และ เดอะ เน็ตเวิร์ก (The Network) พบว่า กว่า 57% ของคนทำงานทั่วโลกยินดีที่จะทำงานให้กับบริษัต่างประเทศ และ 50% ของคนไทยยินดีที่จะทำงานในต่างประเทศเช่นกัน โดยไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 35 จากประเทศทั่วโลกที่คนทำงานต่างชาติสนใจอยากเข้ามาทำงาน ขยับขึ้นมาจากอันดับ 43 และ 39 ในปี 2014 และ 2018

จากปี 2018 ที่แรงงานต่างชาติที่ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาที่ใช้แรงงาน แต่ปี 2020 กลับเป็นชาวต่างชาติที่มีทักษะสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากเติบโตของบริษัทในประเทศที่ขยายมาสู่ประเทศไทย ซึ่งงานต่างชาติจะเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ งานข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนา งานที่พักโรงแรม และบริการด้านอาหาร งานวิทยาศาสตร์ การบริหารและการบริการ

สำหรับแรงงานต่างชาติที่สนใจอยากมาทำงานในประเทศไทย ได้แก่ 1. สิงคโปร์ 2. มาเลเซีย 3. จีน 4. อินโดนีเซีย 5. รัสเซีย ส่วน 3 อันดับประเทศที่คนไทยอยากไปทำงานด้วยมากที่สุด ได้แก่ 1. ออสเตรเลีย 2. ญี่ปุ่น 3. สิงคโปร์

นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมหันมาทำงานแบบ เวอร์ชวล (Virtual Talent Pool) มากขึ้นในทุกสายงาน โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี ดิจิทัล วิทยาศาสตร์ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพที่จะมาเป็นกุญแจสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับกลุ่มธุรกิจที่จะหาคนทำงานที่ตรงตามความต้องการจากต่างประเทศ โดยไม่ต้องโยกย้ายถิ่นฐาน

“ต่างชาติพร้อมที่จะเข้ามาเพราะบริษัทต่างชาติเริ่มขยายเข้ามาในไทย อีกทั้งไทยยังเป็นประเทศที่ต่างชาติชอบ ทั้งอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ขณะที่เด็กไทยรุ่นใหม่ก็พร้อมจะไปทำงานที่ต่างประเทศเพื่อความก้าวหน้า ต้องการเงินเดือนสูง แต่อนาคตก็มีโอกาสกลับมาทำงานในไทย”

ทักษะใหม่ที่มาพร้อม COVID-19

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีสายงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤตการณ์ COVID-19 อาทิ นักพัฒนาเอไอ, ที่ปรึกษาด้านบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัล, ผู้เชี่ยวชาญ Business Transformation รวมถึง Growth Officer

เด็กจบใหม่ไม่ตรงสายงาน

ปัญหาความต้องการจ้างงานที่ไม่สอดคล้องกับภาคการศึกษาที่ผลิตบุคลากรสู่ตลาดยังคงเป็นปัญหาใหญ่ โดยจะเห็นว่ากลุ่มไอทีสามารถผลิตออกมาได้น้อยกว่าความต้องการ ขณะที่กลุ่มของมาร์เก็ตติ้งหรือนิเทศศาสตร์กลับผลิตออกมาได้มากกว่าความต้องการ ขณะที่ปัจจุบัน ภายใน 1-2 ปีเท่านั้นที่เทรนด์การทำงานปรับเปลี่ยน เริ่มเห็นตำแหน่งงานใหม่ ๆ ขณะที่การเรียนมหาวิทยาลัยใช้เวลา 4 ปี ดังนั้นจะเห็นว่าปัญหานี้กำลังใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ

“ตลาดไทยมีความต้องการแรงงานทักษะสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ 70% ของแรงงานอยู่ในกลุ่มทักษะปานกลาง-ต่ำ และไม่มีการเปลี่ยนเเปลงในระยะเวลาหลายสิบปี ขณะที่ต่างชาติก็พร้อมเข้ามาแย่งงานคนไทย นี่จึงเป็นอีกโจทย์ที่ต้องเร่งแก้ในตลาดแรงงานไทย”