ถึงเวลา “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” ปรับโฉมครั้งใหญ่ เพิ่มพื้นที่ พร้อมอัปเกรดเป็นพรีเมียม ซูเปอร์มาร์เก็ต นำร่องสาขาเดอะมอลล์งามวงศ์วาน, สยามพารากอน ภารกิจนี้เป็นการทำงานร่วมกันของคน 2 เจนแห่งตระกูล “อัมพุช” ด้วย
โจทย์ต้องเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเวิลด์คลาส
ในอดีตซูเปอร์มาร์เก็ตของเดอะมอลล์ กรุ๊ปได้ใช้ชื่อว่า “โฮม เฟรช มาร์ท” ภายหลังได้รีแบรนด์ใหม่ให้เป็นชื่อ “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” เป็นการปรับโฉมแบรนด์ให้ดูพรีเมียมขึ้น
แต่ต้องบอกว่าในยุคนี้ หลายแบรนด์ หรือสินค้าหลายๆ ตัวเริ่มมีการปรับโฉม ปรับแพ็กเกจจิ้ง ปรับดีไซน์ หรือรีแบรนด์ใหม่ในทุกๆ 5-10 ปี เพราะด้วยเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ในวงการค้าปลีกก็เช่นกัน จำเป็นต้องมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาเติม เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกไม่จำเจ
เดอะมอลล์ กรุ๊ปจึงถือโอกาสของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นช่วงที่คนมาเดินศูนย์การค้าน้อยลง ปรับโฉมกูร์เมต์ มาร์เก็ตใหม่ ประเดิมที่สาขาเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน พร้อมกับการรีโนเวตศูนย์การค้าไปในตัว
ล่าสุดไปรีโนเวตสาขาสยามพารากอน ในงบลงทุน 200 ล้านบาท บนพื้นที่ 6,000 ตารางเมตร เริ่มรีโนเวตตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2563 และเสร็จสมบูรณ์ตอนเดือนธันวาคม 2563
เบื้องหลังของการปรับโฉมครั้งนี้ อัจฉรา อัมพุช รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด บอกว่า ได้มีการเดินทางดูคอนเซ็ปต์ไปทั่วโลก โดยมีโจทย์หลักที่ว่าต้องทำกูร์เมต์ มาร์เก็ตให้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแบบเวิลด์คลาส
“สาขาสยามพารากอนเปิดมา 17 ปีแล้ว ได้โจทย์มาว่าต้องทำเป็นเวิลด์คลาส เดสติเนชั่น ต้องมีคอนเซ็ปต์ใหม่ ก่อนหน้านี้ได้เดินทางตลอด 1 ปี ไปยุโรปอย่างเดียว ดูคอนเซ็ปต์ต่างๆ ใช้เวลาซึมซับไปกับภาพตามหมู่บ้าน นั่งรถไปตามเมืองต่างๆ เมืองเล็กๆ ดูตลาดชุมชน ระหว่างทางจะเห็นร้านตามเมืองต่างๆ มีขายชีส ขายเนื้อ มีบรรยากาศที่น่าเข้า มีทั้งสินค้าโลคอล และดูมีวัฒนธรรม”
อัจฉรา เสริมอีกว่า ตอนนี้กูร์เมต์ฯ มีทีมคนรุ่นใหม่เข้ามาเสริมเยอะขึ้น ต้องการอยากสร้างบรรยากาศที่เข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด ให้เห็นว่าสินค้ามาจากโลคอลฟาร์ม ให้กูร์เมต์ฯ เป็นเมืองๆ หนึ่งขึ้นมา
สรุปแล้วคอนเซ็ปต์ใหม่ของกูร์เมต์ฯ จะรวมบรรยากาศเมืองเก่าที่เรียกว่า Old Town มีการดึงเสน่ห์จากตลาดน้อย แพร่งนรา นางเลิ้ง ตลาดชุมชนเก่าของไทยมาไว้ มีการตกแต่งแบบโคโรเนียลยุคเก่า และมี New Town ด้วย ได้บรรยากาศของยุโรปเข้ามาเสริม มีกลิ่นอายของจีน ไทย ฝรั่งผสมเป็นกูร์เมต์ฯ โฉมใหม่
ภารกิจใหญ่ของคน 2 เจนแห่ง “อัมพุช”
นอกจากคอนเซ็ปต์ในการรีโนเวตกูร์เมต์แล้ว ความสำคัญของภารกิจนี้ก็คือ เป็นการทำงานของคน 2 เจนแห่งตระกูล “อัมพุช” แต่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ ไม่มีช่องว่างระหว่างวัยเป็นอุปสรรค
โดยที่ พลอยชมพู อัมพุช ผู้จัดการใหญ่บริหารสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ต บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารวัย 28 ปีเท่านั้น ได้เข้ามาบริหารได้ 6 ปี ดูแลในส่วนของกลุ่มอาหารสดของกูร์เมต์ อัจฉรามีศักดิ์เป็นคุณอาของเธอนั่นเอง
พลอยชมพูบอกว่าโปรเจกต์การทำงานระหว่าง 2 เจนเริ่มตั้งแต่รีโนเวตสาขาเดอะมอลล์ งามวงศ์วานแล้ว แต่ที่สาขาสยามพารากอนได้เห็นชัดขึ้น เพรามีการปรับครั้งใหญ่ แต่คุณอาอ้อย (อัจฉรา) ค่อนข้างฟังคนรุ่นใหม่เยอะ เป็นคนดูเทรนด์ใหม่ๆ เปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่คิด ไม่ได้จับมือเขียน เปิดกว้างให้ทำสิ่งใหม่ๆ แต่จะช่วยตบๆ ให้เข้าที่เข้าทาง
แต่สิ่งที่ท้าทายพลอยชมพูที่สุดคงไม่ใช่เรื่องการทำงาน แต่เป็นเรื่องอายุ และประสบการณ์ เธอบอกว่า “ด้วยอายุ และประสบการณ์ และกับตำแหน่งนี้ เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ยากมาก ปกติถ้าตำแหน่งนี้ต้องสะสมประสบการณ์นาน มีอายุเยอะ เราเลยต้องสปีดตัวเอง 4-5 เท่า ไม่มีเวลาเรียนรู้เยอะ ต้องทำจริงเลย เวลาไปคุยกับคู่ค้าก็ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด อายุน้อยก็ต้องอาศัยความกล้า ความเร็ว และการปรับตัว”
ทางด้านอัจฉราไปเซอร์เวย์ที่โซนยุโรป แต่พลอยชมพูจะไปเซอร์เวย์คนละประเทศกัน โดยจะเก็บแรงบันดาลใจในแต่ละที่อย่างละนิดละหน่อยมารวมกัน แต่จะประทับใจที่ประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตจะมีอาหารพร้อมทาน มีเคาน์เตอร์ปลา ผลไม้ต่างๆ อีกทั้งญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่ายืนหนึ่งเรื่องอาหารการกิน วัฒนธรรมใกล้เคียงกับคนไทย และคนไทยก็ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นด้วย
กูร์เมต์ฯ ที่สยามพารากอนโฉมใหม่จึงมีโซน “ตลาดปลาทาคาชิมายา” ได้ร่วมมือกับสยามทาคาชิมายานั่นเอง
ทยอยปรับทุกสาขาภายใน 3 ปี
การปรับโฉมกูร์เมตฯ แต่ละสาขา ใช้งบลงทุนเฉลี่ยสาขาละ 100-200 ล้านบาท โดยสาขาต่อไปเตรียมปรับโฉมที่เดอะมอลล์ท่าพระ มีพื้นที่ 12,000-14,000 ตารางเมตร ใช้งบ 200 ล้านบาท เริ่มปรับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าจะเปิดได้เดือนกรกฎาคม สาขานี้ใช้โอกาสปรับโฉมไปพร้อมๆ กับการทำอุโมงค์ด้านหน้าศูนย์การค้าไปเลย
อัจฉราบอกว่า “การทำธุรกิจในไทยไม่ง่ายเลย นอกจาก COVID-19 แล้ว ยังมีความไม่แน่นอนอีกมากมาย มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ อย่างที่เดอะมอลล์ท่าพระก็ทำอุโมงค์ด้านหน้าศูนย์ฯ พอรถติดมากๆ คนก็เข้าศูนย์น้อยลง เราเลยต้องแก้เกม ถือโอกาสรีโนเวตกูร์เมต์ มาร์เก็ตไปด้วยเลย จะได้เสร็จพร้อมๆ กับถนน”
พลอยชมพูเสริมอีกว่า หลังจากที่ปรับโฉมสาขาเดอะมอลล์งามวงศ์วาน มียอดขาย และผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 25% ยอดการซื้อต่อบิลเพิ่มขึ้นนิดหน่อย แต่พฤติกรรมของลูกค้าในช่วง COVID-19 มักจะมาซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยความถี่น้อยลง แต่ซื้อในจำนวนที่เยอะขึ้น เพื่อที่จะไม่ต้องออกจากบ้านบ่อยๆ ยอดจะขึ้นสูงๆ ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์
กลุ่มสินค้าที่ขายดีที่สุดเป็นกลุ่มของสด ผัก และผลไม้ รองลงมาคือ อาหารพร้อมทาน ของแห้ง ของชำ ส่วนพวกสินค้าอุปโภค บริโภคลูกค้าสามารถหาซื้อที่ไหนก็ได้ กูร์เมต์เลยต้องพัฒนาเอาสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศมาขาย เป็นสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟที่หาซื้อจากที่ไหนไม่ได้
ปัจจุบันกูร์เมต์ฯ มีทั้งหมด 17 สาขา รวม 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. สาขาในเมือง เช่น สยามพารากอน, เอ็มควอเทียร์, เอ็มโพเรียม 2. สาขาดาวน์ทาวน์ อยู่รอบนอกเมือง ได้แก่ เดอะมอลล์บางกะปิ, ท่าพระ, งามวงศ์วาน เป็นต้น 3. สแตนด์อโลน สาขาที่เปิดร่วมกับพาร์ตเนอร์
มีการตั้งเป้าว่าจะรีโนเวตกูร์เมต์ทุกสาขาในคอนเซ็ปต์ใหม่ให้ครบทุกสาขาภายใน 3 ปี โดยใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
สาขาที่มีรายได้เยอะที่สุด ได้แก่ สยามพารากอน, เดอะมอลล์บางกะปิ, บางแค และเอ็มควอเทียร์ มียอดการใช้จ่ายเฉลี่ยเกือบ 1,000 บาท/บิล
ถ้าถามถึงเป้าหมายของกูร์เมต์ฯ เป็นอย่างไร อัจฉราบอกว่า ขอเติบโตให้ได้ 10% และเป็นเดสติเนชั่นสำหรับอาหารให้ได้