แอลจีจัดหนัก สมาร์ทโฟนแมสๆ

เมื่อใครต่อใครต่างก็ไปลงเล่นในสนามสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ เมื่อถึงเวลาที่ แอลจี ต้องเอาจริงเอาจังกับตลาดสมาร์ทโฟนเสียที ค่ายผู้ผลิตจากเกาหลีจึงเลือกฉีกตัวเองลงมาเล่นในตลาดสมาร์ทโฟนระดับแมส โดยส่งรุ่น Optimus One ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เวอร์ชั่น 2.2 Froyo เข้าสู่สนามรบในตลาดสมาร์ทโฟนอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก

ถึงจะมาช้ากว่าคู่แข่งหลายช่วงตัว แต่ ณัฐวัชร์ ศิริวงศ์ศาล ผู้จัดการ ฝ่ายการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์โทรศัพท์ มือถือ บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) มองว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะเชื่อว่าระบบปฏิบัติการ (โอเอส) แอนดรอย เวอร์ชั่น 2.2 Froyo น่าจะเอาอยู่ เนื่องจากเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดยังไม่มีคู่แข่ง ถึงจะมีแต่คู่แข่งก็ใช้วิธีอัพเกรดไม่เหมือนกับแอลจีที่ร่วมมือกับกูเกิล ถึงจะต้องใช้เวลาแต่แอลจีก็เชื่อว่าคุ้มกับการรอ เพราะการใช้ กูเกิล โมบาย เซอร์วิส เสถียรกว่าการอัพเกรด และเวอร์ชั่นนี้ มีจุดเด่น เรื่องการประมวลผล การควบคุมและสั่งงานด้วยเสียง และแอพพลิเคชั่นหลากหลาย สามารถตอบโจทย์ลูกค้าในระดับแมสได้ ซึ่งจะให้มา 18 แอพพลิเคชั่น

ด้วยสเปกแบบนี้ บวกกับกำหนดราคาขายไว้ที่ 9,900 บาท ไม่ถึงหมื่น แอลจีเชื่อว่านี่คือPrice Strategy จะทำให้แข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนระดับแมสได้สบาย โดยเฉพาะผลักดันให้ผู้ใช้ฟีเจอร์โฟนเปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งแอลจีมีฐานในตลาดฟีเจอร์โฟนอยู่แล้ว ดีกว่าไปลงแข่งขันในตลาดไฮเอนด์ ราคาสองหมื่นบาทขึ้นไปที่มีไอโฟน บีบี และโนเกียคุมเชิงอยู่ แถมช่วงหลังยังมีซัมซุง คู่แข่งสัญชาติเดียวกันที่ไต่ระดับไปแข่งในตลาดไฮเอนด์แล้ว ขณะที่ตลาดแมสแอลจีมองว่ายังมีโอกาสอยู่มาก ยิ่งเมืองไทยด้วยแล้วตลาดสมาร์ทโฟนยังถือว่าแค่จุดเริ่มต้น ถ้าดูจากผลวิจัยของจีเอฟเคพบว่า สมาร์ทโฟนมีส่วนแบ่งตลาด 7% จากตลาดรวม 10 ล้านเครื่อง และมีมูลค่าตลาด 25% จากมูลค่าตลาดรวม 30,000 ล้านบาท

ในตลาดสมาร์ทโฟนระดับแมสก็มีแต่แบล็คเบอร์รี่ หรือ บีบี ที่แอลจีมองว่าเป็นคู่แข่งสูสี แต่บีบีก็วาง Positioning ของการเป็น “โซไซตี้โฟน” ขณะที่แอลจีกำหนดPositioning ของ Optimus one ให้เป็นไลฟ์สไตล์โฟน ซึ่งทำให้แอลจีทำตลาดได้กว้างขึ้น ครอบคลุมลูกค้าหลายเซกเมนต์ เช่น กลุ่มชอบแฟชั่น หรือชื่นชอบเกม โดยที่แอลจีพัฒนา “แอพ แอดไวเซอร์” ช่วยให้การเข้าถึงแอพพลิเคชั่นในแอนดรอยด์ มาร์เก็ตที่มี 1 แสนแอพพลิเคชั่น ระบบนี้ยังคอยอัพเดต 10 แอพพลิเคชั่นที่ได้รับการโหวตจากผู้ใช้สูงสุดให้ทราบทุกๆ 2 สัปดาห์

แต่การเล่นกับตลาดแมส ก็เป็นเรื่องใหญ่ ครั้งนี้แอลจีต้องทำการบ้านหนัก ใช้เวลา 6 เดือนเต็ม เพื่อหา Consumer Insight ผู้บริโภคคนไทย สิ่งหนึ่งที่แอลจีพบ คือ ยังมีลูกค้าอีกมากที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟนใช้งาน และ มองว่าสมาร์ทโฟนใช้ยาก แอลจีจึงต้องใช้วิธีสื่อสารการตลาดไม่เน้นเทคนิค หรือวิชาการ ใช้คำพูดหรือวิธีสื่อสารให้เข้าใจง่าย

เพื่อให้เข้าถึงตลาดแมส แอลจีจึงต้องทุ่มงบ 30 ล้าน ใช้สื่อทีวีซีเพื่อเข้าถึงแมส โดยยังเกาะไปกับกระแสเกาหลีฟีเวอร์ เลือกใช้โฆษณาชุดที่มี “ลี มิน โฮ” พระเอกดังเกาหลี แบรนด์แอมบาสเดอร์ รวมถึงการจัดกิจกรรมเปิดตัวลีมินโฮกับแฟนคลับในไทยที่จะมีเป็นระยะๆ ขณะเดียวกันก็เพิ่มน้ำหนักให้กับ Point of sales หรือช่องทางขายในร้านค้าปลีกรายใหญ่ ซึ่งเป็นจุดขายที่มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจของลูกค้า รวมถึงการใช้ออนไลน์เป็นอีกช่องทาง เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมลูกค้ายุคนี้ ที่หาข้อมูลผ่านออนไลน์ โดยให้ข้อมูลผ่านบล็อกเกอร์ที่เลือกมาแล้ว มีบทบาทมากๆ ในการรีวิวสินค้า ซึ่งแอลจีมีโปรแกรมที่เรียกว่า BRM (Bloger Research Management) มาช่วยในการใช้เครื่องมือตลาดผ่านบล็อกเกอร์

มาแบบครบเครื่องแบบนี้ แอลจีตั้งความหวังไว้ว่า อยางต่ำๆ คาดว่าจะได้ส่วนแบ่งตลาดไม่น้อยกว่า 10% เพราะยังมีแคมเปญการตลาด และเครื่องรุ่นใหม่ๆ ตามมาอีกเป็นระลอก ที่สำคัญ เชื่อในความแรงของแอนดรอยด์ ที่คาดว่าจะมีแชร์เพิ่มจาก 12% เป็น 18% ในไตรมาสที่ 4 ก็ยิ่งทำให้แอลจีมั่นใจมากขึ้นว่า เกิดได้แน่ในตลาดสมาร์ทโฟน

ส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟน
โนเกีย 50%
บีบี 10%
ซัมซุง 10%
ไอโฟน 10%
(ที่มา : แอลจี)