มาช้ากว่าแต่มาเต็ม! “เดอะมอลล์” ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ MONLINE.COM และ GOURMETMARKETTHAILAND.COM ดีเดย์ 7 เมษายน 2564 ดึงพาร์ตเนอร์แบรนด์เกือบยกห้างฯ ลงจำหน่าย โดยวางตัวเป็น “อี-รีเทลเลอร์” หยิบจุดเด่นด้าน “ความน่าเชื่อถือ” ของสินค้าและผู้ขาย ผนวกจุดแข็งของเครือคือการสร้าง “คอนเทนต์” บันดาลใจนักช้อปให้อยากซื้อ ไม่เน้นทำสงครามราคา ตั้งเป้ารายได้จากออนไลน์ขึ้นถึง 25% ของยอดขายรวมทั้งเครือภายใน 5 ปี
ในที่สุด “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ก็ลุยตลาดอี-คอมเมิร์ซ หลังจากรอดูจังหวะตลาดมาพักใหญ่ โดยเตรียมเปิดบริการในรูปแบบเว็บไซต์ แบ่งเป็น 2 เว็บไซต์คือ MONLINE.COM และ GOURMETMARKETTHAILAND.COM เตรียมเปิดตัวพร้อมกัน 7 เมษายน 2564 จากนั้นจะทยอยเปิดรูปแบบแอปพลิเคชันภายในปีนี้ เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้า
“ศุภลักษณ์ อัมพุช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด นำทัพผู้บริหารร่วมแถลงข่าวเปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยศุภลักษณ์เปิดเผยรายละเอียดโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเดอะมอลล์ว่า จะเป็นธุรกิจแบบ “อี-รีเทลเลอร์” คือธุรกิจศูนย์การค้าออฟไลน์ที่ผันตัวเพิ่มธุรกิจขายออนไลน์ และมีการเชื่อมโยงเข้าหากันแบบออมนิชาแนล
ศุภลักษณ์เปิดใจบนเวที ยอมรับว่าเดอะมอลล์ “มาช้ากว่าตลาด” ในยุคนี้ แต่เชื่อว่า “ยังมีโอกาส” เพราะตลาดยังมีจุดที่ขาดคือ “คอนเทนต์” ในการขาย ซึ่งเดอะมอลล์มีจุดแข็งส่วนนี้ที่จะบุกตลาดได้
“เรามอง core value ของตัวเองจากการทำศูนย์การค้าแบบมีหน้าร้าน เราเป็นศูนย์ฯ ที่มีเอกลักษณ์ สนุก มันส์ แต่ละศูนย์ฯ ของเราเป็นงานคราฟท์ ไม่เหมือนกันเลยในแต่ละที่ และครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ตั้งแต่ระดับแมสจนถึงซูเปอร์ลักชัวรี ในศูนย์ฯ ของเรามีขายตั้งแต่ก๋วยเตี๋ยว 50 บาทจนถึงรถโรลส์-รอยซ์ ซึ่งเราจะนำเอกลักษณ์เหล่านี้มาใช้กับฝั่งดิจิทัลของเราด้วย” ศุภลักษณ์กล่าว
โดยแบรนด์ที่มีจำหน่ายในศูนย์ฯ ของเดอะมอลล์เกือบทั้งหมดจะมาเปิดหน้าร้านขายบน MONLINE.COM ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบิวตี้ แฟชั่น กีฬา เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ พร้อมกับเปิดกว้างในอนาคตอาจมีแบรนด์ที่ต้องการลงขายเฉพาะออนไลน์ก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องตั้งต้นจากหน้าร้านออฟไลน์ก่อน
เน้นการสร้าง “คอนเทนต์” ไม่เน้นแข่งราคา
“วรลักษณ์ ตุลาภรณ์” ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า กลยุทธ์การทำตลาดออนไลน์ของเดอะมอลล์ จะเน้นไปที่ DNA ของบริษัท คือความเป็น “Content-Centric” ใช้คอนเทนต์ในการสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกค้าต้องการสินค้าชิ้นนั้นๆ ร่วมกับ ระบบ AI จาก IBM ซึ่่งลงทุนไปกว่า 100 ล้านบาท เพื่อนำเสนอสินค้า (offer) ให้ตรงใจลูกค้ารายนั้นๆ มากที่สุด
“ต่างประเทศเข้ามาทำแบบลดราคา สาดโปรโมชันกัน ทำให้ขายได้ แต่จะทำได้ต้องกระเป๋าหนัก เราทำแบบเขาไม่ได้ และเราไม่ได้เด่นเรื่องทำธุรกิจแบบ cannibalism ตัดราคาแข่ง” ศุภลักษณ์อธิบายวิสัยทัศน์
ดังนั้น ตลาดออนไลน์แบบเดอะมอลล์ จะเป็นแพลตฟอร์มที่มีสไตล์ ให้ความรู้สึกพรีเมียม และเน้นใช้คอนเทนต์ออนไลน์กระตุ้นการซื้อ ใช้พลังของ KOLs สร้าง ‘สตอรี่’ สินค้า
โดยเป็นกลยุทธ์ปกติที่เดอะมอลล์ทำอยู่แล้ว ทำให้มีฟอลโลเวอร์บนโซเชียลมีเดียทุกช่องทางรวมกันกว่า 8 ล้านคน และยังมีฐานสมาชิกบัตร M Card อีก 4.5 ล้านคน ทำให้วรลักษณ์ตั้งเป้าว่าปีนี้แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซของเดอะมอลล์จะมีเพจวิวรวมไม่ต่ำกว่า 20 ล้านวิว
ไม่ช้า…ขอมาในช่วงตลาดสุกงอม
สำหรับโอกาสตลาดของเดอะมอลล์ “จักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล” ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสบริหารสินค้า บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดตัวเลขว่ายอดขายรีเทลของประเทศไทยปี 2563 มีสัดส่วนจากช่องทางออนไลน์เพียง 4-5% เท่านั้น เทียบกับประเทศจีนที่ค้าออนไลน์เติบโตมาก ทำให้มีสัดส่วนจากช่องทางออนไลน์ถึง 25% ของตลาดรีเทลทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีโอกาสโตอีกมาก
โดยจักรกฤษณ์ชี้ว่า ตลาดเมืองจีนที่เติบโตมากเพราะมี “อี-รีเทลเลอร์” มาจับตลาด ความแตกต่างจาก “อี-มาร์เก็ตเพลซ” ของอี-รีเทลเลอร์คือ เป็นระบบที่มีทั้งหน้าร้านออฟไลน์และออนไลน์ไว้ส่งเสริมกัน ทำให้สินค้า แบรนด์ ผู้ขาย น่าเชื่อถือมากกว่า ลูกค้ามั่นใจได้ว่าได้ของแท้ ได้ของแน่นอน และยังทำระบบได้มากกว่า เช่น Click & Collect, จองสินค้าและมาลองสินค้าที่หน้าร้าน, ซื้อที่หน้าร้านแล้วจัดส่งถึงบ้าน
“เราว่าไม่ได้ช้าไปเพราะจริงๆ สัดส่วนอี-คอมเมิร์ซของไทยเพิ่งจะ 4-5% ของตลาดรวมรีเทล และอี-รีเทลเลอร์ก็ยังมาจับตลาดน้อยมาก ปัจจุบันเป็นสัดส่วนแค่ 15% ของตลาดอี-คอมเมิร์ซทั้งหมด” จักรกฤษณ์กล่าว
เดอะมอลล์ วางเป้าหมาย 3 ปีจากนี้จะมีสัดส่วนรายได้อี-คอมเมิร์ซ 15% จากรายได้รวม และขึ้นเป็น 25% ภายใน 5 ปี ส่วนเม็ดเงินจะเท่ากับเท่าใดยังตอบยาก เพราะขึ้นอยู่กับฝั่งหน้าร้านออฟไลน์จะมีห้างฯ ใหม่ผุดขึ้นมากแค่ไหนใน 5 ปีข้างหน้า ยิ่งออฟไลน์โต ออนไลน์จะต้องโตตามให้ได้
การกลับมาอีกครั้งของ เดอะมอลล์ ออนไลน์
ศุภลักษณ์ยังเล่าถึงประสบการณ์ของเดอะมอลล์ในอดีตด้วยว่า เดอะมอลล์ไม่ได้มองข้ามธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเพราะเคยทุ่มงบทำเว็บไซต์ขายออนไลน์มาแล้ว เริ่มจากปี 2554 เป็นเว็บไซต์ mods.co.th เน้นตลาดนิชมาร์เก็ต เช่น กลุ่มแฟชั่นนิสต้า ต่อมาปี 2555 ก็มีเว็บไซต์ mglobemall.com ซึ่งจับตลาดแมสมากขึ้น
“ตอนนั้นทำได้ปีสองปีก็ต้องเก็บ เพราะมันไม่ไหวจริงๆ รายได้ไม่พอจ่ายเงินเดือนพนักงานด้วยซ้ำ” ศุภลักษณ์กล่าว โดยยุคสมัยนั้นเดอะมอลล์อาจจะ ‘มาก่อนกาล’ สำหรับการขายออนไลน์
ส่วนการกลับมาในรอบนี้ เดอะมอลล์เริ่มโครงการค้าออนไลน์ขึ้นตั้งแต่ 18 เดือนก่อน หรือประมาณปลายปี 2562 และมาได้ COVID-19 เป็นตัวเร่งให้เข้าทางมากขึ้น เพราะภายในปี 2563 ปีเดียว อี-คอมเมิร์ซไทยโตพุ่งถึง 81% นับเป็นจังหวะที่ดี ตลาดตอบรับแล้ว
“เราจะบาลานซ์ทั้ง physical และ digital มันคือการทำ phygital คือเราไม่ทิ้งข้างใดข้างหนึ่ง เงินลงทุนศูนย์การค้ายังมีอยู่ แต่ออนไลน์คือโอกาสขยายไปต่างจังหวัดได้ทุกจังหวัด ทั่วประเทศจริงๆ” ศุภลักษณ์กล่าว