เพียง 8 เดือนเท่านั้นที่ ‘หัวเว่ย’ (Huawei) ต้องร่วงจากตำแหน่ง ‘เบอร์ 1’ ที่ขับเคี่ยวมากับ ‘ซัมซุง’ แถมตอนนี้ไม่ได้อยู่ใน 3 อันดับแรกด้วยซ้ำ ซึ่ง Ken Hu ประธานของหัวเว่ยก็ยอมรับว่าธุรกิจสมาร์ทโฟนของบริษัทกำลังเผชิญปัญหาใหญ่และคงจะกลับไปยืนอยู่ในตำแหน่งเดิมไม่ได้ง่าย ๆ เพราะตามข้อมูลจาก Gartner และ Counterpoint ระบุว่าหัวเว่ยไม่ได้เป็นผู้นำตลาดในประเทศจีนอีกต่อไป ดังนั้นตลาดโลกก็ยิ่งยาก
เคน หู (Ken Hu) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย ได้ยอมรับว่าธุรกิจ ‘สมาร์ทโฟน’ ของตนกำลังประสบปัญหาเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่เป็นปัญหาต่อการเติบโต เนื่องจากทำให้บริษัทไม่สามารถจัดหาชิ้นส่วนเพื่อมาผลิตสมาร์ทโฟนได้ และสั่งห้ามไม่ให้ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ของกูเกิล (Google) ในโทรศัพท์มือถือ
สรุปทุกปัญหาที่รุมเร้าจน ‘หัวเว่ย’ ย้ำเป้าหมายจากนี้ ‘ต้องเอาชีวิตรอด’
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาคู่แข่งร่วมประเทศอย่าง Oppo และ Xiaomi ได้แซงหน้าหัวเว่ยทั้งในประเทศจีนและในตลาดโลก อีกทั้ง หัวเว่ยเพิ่งขายแบรนด์ลูกอย่าง ‘Honor’ ซึ่งเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนราคาประหยัดซึ่งสร้างยอดขายให้หัวเว่ยมากถึง 40% โดยผู้บริหาร กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจสมาร์ทโฟนทำให้ยากมากที่จะคาดการณ์การอนาคตของธุรกิจสมาร์ทโฟน
“เนื่องจากการคว่ำบาตรที่ไม่เป็นธรรมของเราในสหรัฐฯ ทำให้ธุรกิจโทรศัพท์มือถือของเรามีรายได้ลดลง” Ken Hu ประธานของ Huawei กล่าว
ในปีที่ผ่านมา หัวเว่ยมีรายได้ 891,400 ล้านหยวน (4.25 ล้านล้านบาท) เติบโต 3.8% ขณะที่กำไรเติบโต 3.2% เป็น 64,600 ล้านหยวน (3.08 แสนล้านบาท) ถึงแม้ว่ารายได้และกำไรจะเติบโต แต่ถ้าเทียบกับการเติบโตในอดีตที่อยู่ประมาณ 30% ต่อปี ก็ถือว่าลดลงอย่างมาก โดยในปี 2562 ที่ผ่านมาแม้การเติบโตจะลดลงแต่ก็สามารถเติบโตได้ 19%
หัวเว่ยเปิดเผยว่า แผนกผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค (คอนซูเมอร์) อาทิ สมาร์ทโฟน, โน้ตบุ๊ก และอุปกรณ์อื่นนั้นคิดเป็นกว่า 50% ของรายได้รวมบริษัท โดยมีรายได้ 482,900 ล้านหยวน เติบโต 3.3% อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยปฏิเสธว่ารายได้ของสมาร์ทโฟนลดลงเท่าใด เพียงเเต่ระบุว่ารายได้จาก สมาร์ทดีไวซ์ อาทิ สมาร์ทวอตช์ แล็ปท็อป และอุปกรณ์อื่น ๆ มาชดเชยแทน ซึ่งการเติบโตของสินค้ากลุ่มนี้สูงถึง 65%
ในส่วนของรายได้จากฝั่งลูกค้าองค์กรเติบโตขึ้น 23% โดยมีรายได้ราว 100,300 ล้านหยวน ส่วนธุรกิจผู้ให้บริการด้านโครงข่ายโทรคมนาคม รวมถึงอุปกรณ์เครือข่าย 5G บริษัทมีรายได้ 302,600 ล้านหยวน เติบโตเพียง 0.2% ในปีที่แล้ว เนื่องจากหลายประเทศแบนการใช้งานอุปกรณ์ของหัวเว่ยตามสหรัฐฯ แต่ที่เติบโตได้เป็นเพราะแรงหนุนจากตลาดในประเทศจีน
ทั้งนี้ รายได้จากฝั่งยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาของหัวเว่ยลดลง 12.2% เหลือ 180,800 ล้านหยวน ส่วนในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมจีน) ลดลง 8.7% เหลือ 64,400 ล้านหยวน ส่วนในอเมริกาลดลง 24.5% เหลือ 39,600 ล้านหยวน
“เรายอมรับที่จะบอกว่าในปีที่ผ่านมา การเติบโตของเราชะลอตัวลงมาก และยอมรับว่ามันเป็นปีที่ไม่ง่ายสำหรับเรา”
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าหากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ยังไม่ถูกยกเลิก การที่หัวเว่ยจะ ‘คืนชีพ’ ให้ตลาดสมาร์ทโฟนก็เป็นเรื่องยาก ขณะที่ปัจจุบันก็ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ ว่าจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของหัวเว่ยหรือไม่