บํารุงราษฎร์ ขยับหาคลินิก ‘ไซซ์เล็ก’ ต่างจังหวัด ดัน ‘แพทย์ประจำครอบครัว’ เจาะ Expat วัยเกษียณ

การมาของ COVID-19 ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนต้องปรับตัวขนานใหญ่ เดิมที่เคยพึ่งพารายได้จาก “ผู้ป่วยต่างชาติ” ใน Medical Tourism มาวันนี้ต้องเเก้เกมปรับกลยุทธ์หาลูกค้าในประเทศ เจาะใจกลุ่ม ‘Expat’ ผู้สูงอายุต่างชาติวัยหลังเกษียณ หันมาจับมือกับคลินิกขยายเครือข่ายไปต่างจังหวัด เพื่อเข้าถึง ‘ชุมชน’ มากขึ้น

บำรุงราษฎร์หรือ BH ก็เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ในไทย ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ

ก่อนจะเกิดวิกฤตโรคระบาดนั้น BH ให้การรักษาผู้ป่วยทั้งชาวไทยเเละต่างชาติกว่า 1.1 ล้านรายต่อปี คิดเป็นสัดส่วนผู้ป่วยไทยและต่างชาติอย่างละ 50% 

ขณะที่สัดส่วนรายได้’ ส่วนใหญ่มาจากผู้ป่วยชาวต่างชาติถึง 66% ส่วนผู้ป่วยคนไทยอยู่ที่ราว 34% เนื่องจากชาวต่างชาติจะเข้ามาทำการรักษาเคสหนัก เช่น การผ่าตัดหัวใจ รักษาโรคร้ายเเรง ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า

ดังนั้น เมื่อยังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเต็มที่ไม่ได้บำรุงราษฎร์จึงหันมามุ่งขยายตลาดไปยังชาวไทยและชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย (Expatriate) ที่มีอยู่ประมาณ 2.45 ล้านคน นับว่าเป็นตลาดใหญ่ที่มีโอกาสทางธุรกิจอยู่มาก

ขณะเดียวกัน ก็เริ่มมองหาพันธมิตรในพื้นที่ต่างจังหวัดเเละชุมชนต่างๆ ที่มีความพร้อม มีแนวทางร่วมกัน เเละตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์หรือในทำเลที่มีศักยภาพ

บำรุงราษฎร์ รุกหาคลินิก ‘ไซซ์เล็ก’ ต่างจังหวัด 

จากเเผนของ BH ที่ต้องการกระจายไปในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และในหัวเมืองสำคัญของภูมิภาคต่าง ๆ ในราคาที่เหมาะสมกับภูมิภาคนั้น เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ที่มีชื่อว่า ‘บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก’ (Bumrungrad Health Network : BHN) ขึ้นมาเมื่อราว 2 ปีที่เเล้ว โดยมุ่งเน้นไปที่การขยายเครือข่ายพันธมิตรเพื่อสร้างโอกาสในการเเข่งขันเเละรองรับ ‘กลุ่มลูกค้าตลาดใหม่ๆ’ 

ล่าสุดได้เปิดตัว ‘Be Well Heart Clinic’ ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ลิ้นหัวใจและอายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เเละ Be Well Medical Center เจาะกลุ่มผู้ลูกค้าทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยที่พำนักอยู่ในหัวหิน

สมศักดิ์ วิวัฒนสินชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก เล่าว่า แนวคิด ‘แพทย์ประจำครอบครัว’ ซึ่งเป็นบริการที่ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในยุโรป ‘คุ้นเคยกันดี’ เเต่ในเมืองไทยยังไม่เเพร่หลายมากนัก

ทางโรงพยาบาลจึงเล็งเห็นโอกาสเเละศักยภาพของ ‘Be Well Medical Center’ คลินิกสุขภาพครอบครัวที่ให้บริการดูแลรักษาขั้นปฐมภูมิ ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับ Banyan Resort Hua Hin ซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะสมเพราะอยู่ใกล้บริเวณที่พักอาศัยของชาวต่างชาติ

สมศักดิ์ วิวัฒนสินชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก

โดย ‘หัวหิน’ ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ ที่ได้รับความนิยมจากคนไทยและชาวต่างชาติ จากสถิติพบว่า ชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในไทยและเลือกมาทำงานในพื้นที่หัวหิน ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานที่มีความสามารถในการทำงานในตำแหน่งผู้จัดการหรือผู้บริหารระดับสูง เรียกได้ว่าเป็น ‘Demand ที่มีคุณภาพ’

จากข้อมูลปี 2562 ระบุว่ามีชาวต่างชาติราว 10,000 – 15,000 คนพำนักอยู่ในหัวหินและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่มาจากยุโรปและสแกนดิเนเวีย รวมถึงกลุ่มต่างชาติที่เกษียณอายุและใช้ชีวิตที่หัวหินเป็นบ้านหลังที่สอง โดยมองว่าเป็นเมืองที่เหมาะกับการพักผ่อนและอาศัยอยู่ในระยะยาว

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็น ‘ครั้งเเรก’ ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ จับมือกับพันธมิตรระดับ ‘คลินิก’ จากที่ผ่านมามักจะเป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น การเปิดศูนย์ศูนย์กระดูกสันหลังกับโรงพยาบาลนครธน เมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นทิศทางใหม่ของบำรุงราษฎร์ที่จะรุกหาตลาดในชุมชนมากขึ้น 

โมเดล ‘แพทย์ประจำครอบครัว’ เจาะ Expat วัยเกษียณ 

ย้อนกลับไปเมื่อ 38 ปีที่เเล้ว ‘ไฮโก้ เอ็มมานูเเอล’ นักธุรกิจชาวดัตช์ ผู้มีครอบครัวอยู่ในวงการเเพทย์ได้เดินทางมายังประเทศไทย เขามองเห็นโอกาสของธุรกิจเฮลท์แคร์ว่าจะมีเเนวโน้มเติบโจได้ในอนาคต

เเต่ด้วยความไม่พร้อมหลายอย่างในขณะนั้น เขาจึงรอเวลา เก็บสะสมเงินทุน ศึกษาตลาดเรื่อยมา จนในที่สุดก็ได้ก่อตั้ง ‘Be Well Medical Center’ ขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2563 ด้วยการสนับสนุนเเละผลักดันจาก ‘มนัสวี เอ็มมานูเเอล’ ภรรยาผู้เคยเป็นพยาบาลวิชาชีพ

‘Be Well Medical Center’ เริ่มต้นจากการสำรวจตลาด พบว่าผู้คนในหัวหินมีความต้องการในการดูแลสุขภาพของคนในครอบครัวสูง

โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายของคลินิก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยถาวร และผู้อยู่อาศัยในระยะยาวถึง 80% พวกเขามีความคุ้นเคยกับ แพทย์ประจำครอบครัว จากประเทศบ้านเกิดอย่างเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรีย ฯลฯ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงเเละมีความจำเป็นต้องใช้บริการทางสุขภาพ

ขณะที่ลูกค้าชาวไทย ที่ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 20% ก็เริ่มตระหนักถึงประโยชน์ของการบริการเบื้องต้นแบบปฐมภูมิมากขึ้น เพราะไม่ต้องไปรอคิวยาวที่โรงพยาบาล เเต่ก็ได้รับการรักษาจากเเพทย์ทั่วไป ในราคาที่เข้าถึงได้

เเละหากต้องส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาในขั้นต่อไป คลินิกก็จะประสานงานกับโรงพยาบาลพันธมิตรอย่าง รพ.บำรุงราษฏร์ รพ.สมิติเวช รพ.กรุงเทพหัวหิน รพ.หัวหิน เป็นต้น

หลังจากเปิดทำการมาเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน ตอนนี้คลินิกมีสมาชิกรวม 1,200 คน มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยตั้งเเต่ 800-3,000 บาทต่อครั้ง (ค่าบริการพบเเพทย์เริ่มต้นที่ 500 บาท)

Be Well Medical Center ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไปต่างๆ โดยแพทย์ประจำ 2 คน (จะมีการขยายจำนวนในเร็วๆ นี้) พร้อมมีบริการตรวจเลือด กายภาพบำบัด การฝังเข็มด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน มีห้องตรวจหูเเละจัดกระดูก ฯลฯ

ขณะเดียวกัน มีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาดูเเลโรคเฉพาะทาง โดยให้คำปรึกษาทางไกลเเละจะเดินทางมาตรวจที่คลินิกเป็นระยะๆ เช่น เดือนละ 2 ครั้ง หรือ 2 เดือนครั้ง ซึ่งตอนนี้กำลังมองหาเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเพราะผู้สูงอายุมีปัญหาด้านนี้จำนวนมาก

เเม้ช่วงเริ่มต้นธุรกิจเจอกับ COVID-19 เเต่กลับกลายเป็นโอกาสให้ ‘เติบโต’ มากขึ้น เพราะชาวต่างชาติที่ติดอยู่ในไทย มองหาการรักษาเเบบ ‘แพทย์ประจำครอบครัว’ รวมถึงคนไทยที่ไม่อยากไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทำให้ยอดลูกค้าเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤต 

Be Well Medical Center เตรียมจะขยายสาขาไปยังเมืองท่องเที่ยวสำคัญในไทย โดยช่วงต้นปีหน้าจะลงสนามเปิดที่ภูเก็ตก่อน ส่วนเชียงใหม่นั้นยังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้

โดยมองว่าความท้าทายของคลินิก ‘แพทย์ประจำครอบครัว’ ในไทย คือระบบโครงสร้างที่ประชาชนต้องเดินทางไปการรักษาที่โรงพยาบาลโดยตรง เเม้จะเป็นอาการเบื้องต้นก็ตาม ทำให้โรงพยาบาลมีผู้ป่วยเเออัด รวมไปถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่มีผลต่อรายได้ของผู้คน จึงต้องการสร้างความรับรู้ให้ทั่วถึง สร้างความเข้าใจ เเละภาครัฐต้องให้การสนับสนุนต่อไปในระยะยาว

(จากซ้ายไปขวา) สมศักดิ์ วิวัฒนสินชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก
นพ.วัธนพล พิพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ลิ้นหัวใจและอายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
มนัสวีเเละไฮโก้ เอ็มมานูเเอล เจ้าของ Be Well Medical Center

ทำไมต้อง Heart Clinic ? 

ผู้มาใช้บริการและสมาชิกของ Be Well Medical Center จะครอบคลุมทุกช่วงวัย แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในแต่ละวันจะมีอายุระหว่าง 60 ถึง 101 ปี ซึ่งเป็น ‘กลุ่มผู้สูงวัย’ ที่มีความเสี่ยงเป็น ‘โรคหัวใจ’ ค่อนข้างมาก

โรคหัวใจ เป็นโรคที่มีความยากและมีความซับซ้อนในการรักษา จำเป็นต้องมีแพทย์ที่มีประสบการณ์และเทคโนโลยีระดับสูง ดังนั้นการได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์นั้น ทำให้การรักษายกระดับสู่มาตรฐานสากล

เบื้องต้นจะมี นพ.วัธนพล พิพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ลิ้นหัวใจและอายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มาให้คำปรึกษาผู้ป่วยผ่านทาง Teleconsultation หรือโทรเวชกรรม ซึ่งเป็น Next Normal ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทุกครั้ง

แต่หากต้องรับการตรวจวินิจฉัยหรือการรักษาพยาบาลในระดับที่สูงขึ้น ทาง Be Well Heart Clinic
สามารถส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ และหลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น
ก็สามารถกลับเข้าไปรับการดูแลที่คลินิกต่อไปได้

ปัจจุบัน BH มีเทคโนโลยีรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ‘TAVI’ หรือ ‘Transcatheter Aortic Valve Implantation’ ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าๆ จากปกติที่ต้องใช้เวลาผ่าตัดถึง 4 ชั่วโมง เหมาะกับการรักษาผู้ป่วยสูงวัยที่มีอายุมากกว่า 80 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะไม่ต้องผ่าตัดเปิดช่องอก ทำให้แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว และยังช่วยลดโอกาสเสี่ยงจากอาการแทรกซ้อน

ทั้งนี้ โรคหัวใจที่พบบ่อยในผู้สูงวัย ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน โรคลิ้นหัวใจเอเออร์ติกตีบ (Aortic valve stenosis) โรคหัวใจสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) ภาวะหัวใจเต้นช้า และหัวใจล้มเหลว

โดยชนิดของหัวใจเต้นผิดปกติที่พบบ่อยที่สุด คือ หัวใจห้องล่างเต้นรัว (Ventricular Tachycardia) หรือหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) มักพบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้มีอายุ 75 ปีขึ้นไป ที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนอายุน้อยกว่า 50 ปีถึง 13 เท่า 

ภาพห้อง EP Lab ของรพ.บำรุงราษฎร์

สำหรับทิศทางของธุรกิจโรงพยาบาล เเละ Wellness Tourism นั้น ผู้บริหารบำรงราษฎร์ มองว่า กำลังจะฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ เเละจะกลับมาเติบโตได้ดีในปีหน้า โดยต้องจับตาปัจจัยเรื่องการกระจายวัคซีน ซึ่งจะมีผลต่อการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว โดยยืนยันว่าภาคเอกชนจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่กำลังมาแรง จากการจัดอันดับของ Global Wellness Institute รายงานว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย ติดอันดับ 13 ของโลก ทำรายได้มากกว่า 9,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนตลาดโลกนั้น อุตสาหกรรมด้านเวลเนสเติบโตดับเบิลดิจิต’ ต่อเนื่องมาแล้ว 5 ปี สะท้อนโอกาสธุรกิจที่มีสูงมาก