เเม้ว่าแนวโน้มของธุรกิจสถานพยาบาล จะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้รวดเร็วแบบ V-Shape เมื่อคลายมาตรการล็อกดาวน์ สอดคล้องกับสัญญาณเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง
เเต่ทว่า “โรงพยาบาลเอกชน” ที่เคยพึ่งพารายได้จาก “ผู้ป่วยต่างชาติ” หรือที่เรียกว่าพึ่งพา Medical Tourism จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ยังต้องเผชิญกับความท้าทาย เมื่อรายได้หลักที่เคยมีหดหายไปอย่างมาก เเละยังไม่อาจเปิดประเทศเป็นปกติได้ในเร็ววัน
จากข้อมูลของ TMB Analytics ระบุถึงโครงสร้างรายได้ของโรงพยาบาลเอกชนในไทยว่า มีรายได้จาก Medical Tourism คิดเป็น 8% ของรายได้โรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด ดังนั้นรายได้จากผู้ป่วยต่างประเทศในปีนี้ “จะยังไม่ฟื้นตัวดีนัก” เพราะคาดว่าไทยจะยังคงดำเนินการมาตรการล็อคดาวน์ต่างประเทศ เเละคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศต่อไป
การปรับกลยุทธ์ใหม่ เเก้เกมในวิกฤต COVID-19 ของ “โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์” (BH) ที่เคยมุ่งเจาะลูกค้าระดับไฮเอนด์เเละชาวต่างชาติ เเต่ตอนนี้ต้องหันมาจับ “ตลาดคนไทย” ทั้งการดัมพ์ราคาค่าห้อง ลดเเลกเเจกเเถมโปรเเกรมตรวจสุขภาพ ไปจนถึงเสนอเเพ็กเกจผ่าตัดราคาพิเศษ เพื่อทดเเทนรายได้ที่ขาดไปในปีนี้ เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่น้อย
หันมาเจาะ “คนไทย” อัดโปรลดเเลกเเจกเเถม
ภญ.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ผู้อำนวยการด้านบริหาร รพ.บำรุงราษฎร์ ยอมรับว่า วิกฤตโรคระบาด ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยตรง เพราะผู้ป่วยชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยในช่วงเดือนเมษายน ถือว่า “หนักที่สุด”
ที่ผ่านมา BH ให้การรักษาผู้ป่วยทั้งชาวไทยเเละต่างชาติกว่า 1.1 ล้านรายต่อปี โดยคิดเป็นสัดส่วนผู้ป่วยไทยและต่างชาติอย่างละ 50 % ขณะที่ “สัดส่วนรายได้” ส่วนใหญ่นั้นมาจากผู้ป่วยชาวต่างชาติถึง 66% ส่วนผู้ป่วยคนไทยอยู่ที่ราว 34% เนื่องจากชาวต่างชาติจะเข้ามาทำการรักษา “เคสหนัก” เช่นการผ่าตัดหัวใจ รักษาโรคร้ายเเรงซึ่งจะที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า
โดยฐานลูกค้าชาวต่างชาติของ BH หลักๆ มาจากกลุ่มประเทศอาเซียน CLMV รองลงมาเป็น แถบตะวันออกกลาง เเละประเทศในยุโรป ซึ่งไทยยังถือว่ามีข้อได้เปรียบในเรื่องคุณภาพของโรงพยาบาล ความชำนาญการของแพทย์ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่ประหยัดกว่าสหรัฐฯ ประมาณ 40-75% หรือสิงคโปร์ ประมาณ 30%
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาผู้ป่วยต่างชาติไม่สามารถเดินทางมารักษาในไทยได้ในสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังระบาดทั่วโลก รพ.บำรุงราษฎร์ จึงต้องหันมาปรับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อพยุงรายได้ที่หายไป ด้วยการหันมาจับตลาด “คนไทย” มากขึ้น เเละไม่ใช่เเค่เจาะลูกค้ารายได้สูงเท่านั้น เเต่ยังต้องขยายไปสู่คนที่มีรายได้ปานกลางมากขึ้น
โดยมีการจัดโปรโมชันพิเศษต่างๆ เช่น การลดราคาค่าห้องลงถึง 50% ในเดือนพ.ค. การจัดเเพ็กเกจตรวจสุขภาพเเบบ “ซื้อ 1 เเถม 1” รวมถึงเสนอเเพ็กเกจผ่าตัดราคาพิเศษ เพื่อดึงดูดลูกค้าชาวไทย
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดบริการ Homecare Services ที่มีชื่อว่า Bumrungrad @ Home Service Center เพื่อให้บริการดูแลสุขภาพแก่ผู้ป่วยและครอบครัวถึงบ้าน และบริการ “60 Second Service” เพื่อให้บริการขั้นพื้นฐาน เช่น ฉีดวัคซีนและรับยา เเบบรวดเร็วเข้าถึงง่าย ตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในยุค New Normal
“จากเเคมเปญเเละโปรโมชันต่างๆ ที่เราได้ทำไป ตอนนี้รายได้เริ่มกลับมาทดเเทนส่วนที่หายไปจากชาวต่างชาติได้บ้างเเล้ว คาดว่าในช่วงไตรมาส 3 จะดีขึ้น เเละจะสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ได้”
BH รายงานรายได้ในไตรมาส 2/2020 มีกำไรสุทธิเพียง 44 ล้านบาท ลดลงถึง 93.9% จากไตรมาส 2/2019 ที่มีกำไรสุทธิ 725 ล้านบาท โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ รายได้จากกิจการโรงพยาบาลจำนวน 6,531 ล้านบาท ลดลง 27.1% หลักๆ เป็นผลมาจากการลดลงของรายได้ผู้ป่วยชาวไทย 7.8% และต่างชาติ 36.4% ขณะที่ในปี 2019 BH เคยมีรายได้ 1.87 หมื่นล้านบาท และทำกำไร 3.74 พันล้านบาท
ขยายโอกาสธุรกิจใหม่ ดัน Wellness Tourism
อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจของ “บำรุงราษฎร์” ในช่วงนี้ คือการหันมาผลักดันธุรกิจ Wellness Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จับมือกับพันธมิตรค่ายอสังหาฯ อย่าง “มั่นคงเคหะการ” กับยักษ์โรงเเรมอย่าง “ไมเนอร์”
เปิดตัวโครงการ “รักษ” (อ่านว่า รัก–ษะ) ศูนย์เวลเนส รีทรีต 200 ไร่บนคุ้งบางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นโซนที่ถูกเรียกว่าเป็น “ปอดเเห่งใหม่ของกรุงเทพฯ” ประเดิมราคาแพ็กเกจเริ่มต้น 60,000 บาท จับกลุ่มลูกค้าที่สนใจด้านสุขภาพ–เวลเนสทั่วโลก
ลักษณะความร่วมมือครั้งนี้ มั่นคงฯ จะเป็นผู้ถือหุ้นและลงทุนโครงการ 100% แต่ทำสัญญากับ รพ.บำรุงราษฎร์ ให้ผู้บริหารด้านการแพทย์ แบ่งรายได้ระหว่างกันประมาณ 50 : 50 แต่ในกำไรส่วนที่ รพ.บำรุงราษฎร์ ได้จากบริการทางการแพทย์จะแบ่งคืนให้กับมั่นคงฯ 15% ส่วนสัญญากับ ไมเนอร์ เป็นการจ้างบริหารงานบริการโรงแรมและอาหาร
อ่านเพิ่มเติม : คิกออฟ! “รักษ” ศูนย์เวลเนส จาก 3 บิ๊กเนม “มั่นคง–บำรุงราษฎร์–ไมเนอร์” มูลค่า 2,000 ล้านบาท
เดิมทีโครงการ “รักษ” ตั้งเป้าจับกลุ่มลูกค้าต่างชาติจากทั่วโลก แต่เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ลูกค้ายังบินเข้ามาไม่ได้ ทำให้ปีแรกที่จะเปิดบริการเต็มปีคือปี 2021 น่าจะมีอัตราเข้าพักเพียง 30% ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ว่าปีแรกจะมีอัตราเข้าพัก 60%
อย่างไรก็ตาม มั่นคงเคหะการ เชื่อว่าระยะยาวเวลเนสจะยังได้รับความนิยม ในปี 2022 อัตราเข้าพักคาดว่าจะขึ้นมาเป็น 50% และเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอานิสงส์ชื่อเสียงของประเทศไทยที่รับมือ COVID-19 ได้ดีในช่วงนี้ จะเป็นปัจจัยบวกกับโครงการในภายหลัง เพราะทำให้ต่างชาติเชื่อถือในระบบสาธารณสุขของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
ผู้บริหาร รพ. บำรุงราษฎร์ มองว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น และรัฐบาลประกาศชัดเจนว่าจะส่งเสริมอย่างต่อเนื่องในช่วงหลัง COVID-19 “นี่จะเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ของเราในอนาคต เพราะวิกฤตโรคระบาด ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลในไทยและต่างประเทศเปลี่ยนไป”
โดยประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่กำลังมาแรง จากการจัดอันดับของ Global Wellness Institute รายงานว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย ติดอันดับ 13 ของโลก ทำรายได้มากกว่า 9,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนตลาดโลกนั้น อุตสาหกรรมด้านเวลเนสเติบโต “ดับเบิลดิจิต” ต่อเนื่องมาแล้ว 5 ปี สะท้อนโอกาสที่มีสูงมาก
ทั้งนี้ จากการประชุมศูนย์กลางด้านการแพทย์ ปี 2561 ระบุว่า มีผู้ป่วยต่างชาติมาใช้บริการในด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ประมาณ 3.4 ล้านครั้ง สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 1.4 แสนล้านบาท และไทยยังมีสถานบริการสุขภาพผ่านมาตรฐานคุณภาพสถานพยาบาลระดับสากล JCI ถึง 68 แห่ง มากที่สุดในอาเซียน
- “หมอเสริฐ” แปลงโฉม “ปาร์คนายเลิศ” สู่ ศูนย์สุขภาพคู่ รร. “Movenpick BDMS Wellness Resort”
- เปิดตลาดใหม่! รพ.เทพธารินทร์ จับมือ ชาเทรียม ออกโปรแกรมรักษาโรคนอนไม่หลับใน “เมดิเทล”
ปรับรับผู้ป่วยต่างชาติ “เช่าเหมาลำ” จับตาเริ่มกลับมา ต.ค.นี้
บรรดาโรงพยาบาลเอกชน ต่างคาดหวังว่ารายได้จะกระเตื้องขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หากมีการ “เปิดประเทศ” รับนักท่องเที่ยวที่มาพำนักระยะยาวมากขึ้น
BH เริ่มรับผู้ป่วยต่างชาติในกรณีพิเศษเเล้วในช่วงไตรมาส 3 โดยมีผู้ป่วยราว 20-30 คนเดินทางโดยเครื่องบินเเบบ “เช่าเหมาลำ” จากเมียนมา เพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยเฉพาะ ซึ่งจะต้องผ่านการคัดกรองโรคเเละกักตัว 14 วันภายในโรงพยาบาลตามข้อกำหนดของรัฐ โดยคาดว่าจะมีผู้ป่วยต่างชาติ ล็อตอื่นๆ ตามมาอีกต่อเนื่อง
เเละก็เริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้น โดยล่าสุดวันที่ 15 ก.ย. คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบแนวทางการเปิดรับ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” เข้าประเทศไทย ประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) โดยกำหนดเงื่อนไขว่านักท่องเที่ยวดังกล่าวจะต้องเป็นบุคคลต่างด้าวพำนักระยะยาว (Long Stay) ภายในประเทศไทย เเละต้องยอมรับการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ประกาศใช้ภายในประเทศไทย พร้อมตกลงยินยอมกักตัวในห้องพักจำนวน 14 วัน
โดยต้องมีหลักฐานสถานที่พักอาศัยระยะยาวภายในไทย เช่น หลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรมที่พัก หรือโรงพยาบาลที่พัก หลักฐานสำเนาโฉนดหรือการชำระเงินดาวน์ห้องชุดประเภทคอนโดมิเนียม และค่าธรรมเนียมลงตราวีซ่า 2,000 บาท
ครั้งแรกจะอนุญาตให้พักได้ 90 วัน เเละขยายได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 90 วัน รวม 270 วันหรือ 9 เดือน โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 ทั้งนี้ จะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตั้งเเต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ครั้งละ 100 คน จำนวน 1,200 คนต่อเดือน โดยมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะสามารถนำเงินเข้าประเทศได้กว่า 1,200 ล้านบาทต่อเดือน
นี่จึงเป็นอีกโอกาสสำคัญที่ “โรงพยาบาลเอกชน” ที่พึ่งพารายได้จากชาวต่างชาติ จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เเม้จะไม่รุ่งเท่าช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 ก็ตาม
- “หมอเสริฐ” ล้มดีลเทกโอเวอร์ “บำรุงราษฎร์” ตลาดไม่เอื้อลงทุน
- เปิดผลสำรวจ “ประเทศไทย” พร้อมเปิดรับการท่องเที่ยวกว่าชาติใดในโลก