รพ.เทพธารินทร์ จับมือโรงแรม ชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ พัฒนาพื้นที่แบบ “เมดิเทล” ประเดิมโปรแกรมวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับ (insomnia) พร้อมกิจกรรมรีทรีตภายในโรงแรม หวังเจาะกลุ่มคนวัยทำงานชาวไทย และต่อยอดกลุ่มชาวต่างชาติในอนาคต โมเดลธุรกิจแบบวิน-วิน ฝั่งโรงพยาบาลได้รุกตลาดเวชศาสตร์เชิงป้องกัน ฝั่งโรงแรมมีตลาดใหม่ชดเชยช่วง COVID-19
“นพ.โอฬาริก มุกสิกวงศ์” ผู้อำนวยการส่วนการแพทย์และนวัตกรรม บริษัท ที อาร์ เอช โกลบอล ในนาม โรงพยาบาลเทพธารินทร์ เปิดเผยถึงนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของโรงพยาบาล เป็นความร่วมมือแบบ “เมดิเทล” คือ Medical+Hotel กับ โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ จัดโปรแกรม Sleepless Society วินิจฉัยและช่วยปรับพฤติกรรมแก้ปัญหาโรคนอนไม่หลับ (insomnia) ภายในโรงแรม ไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาล เพื่อให้คนไข้ได้ผ่อนคลายระหว่างการวินิจฉัย และตอบรับกับ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ที่กำลังเป็นเทรนด์
โดยโปรแกรมนี้จะจัดระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ผู้เข้าร่วมจะได้รับแพ็กเกจห้องพักที่ชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ ห้องพักเริ่มต้น 60 ตร.ม. เป็นห้องพักแบบ Grand Room รับวิวแม่น้ำเจ้าพระยา มีอุปกรณ์ตรวจ Sleep Test จากทางโรงพยาบาลติดตั้งให้ ตามด้วยการวินิจฉัยจากทีมแพทย์และนักจิตบำบัด เพื่อหาสาเหตุการนอนไม่หลับของแต่ละบุคคล พร้อมอาหาร 3 มื้อที่ออกแบบโดยนักโภชนาการ และมีคลาสโยคะ โยคะร้อน แอโรบิกในน้ำ ให้เข้าร่วม ทั้งหมดเพื่อปรับพฤติกรรมที่ทำให้นอนไม่หลับ ราคาแพ็กเกจเริ่มต้น 27,500 บาท
คน 2 ใน 3 ของโลกมีอาการนอนไม่หลับ
นพ.โอฬาริกเชื่อว่าโปรแกรมนี้จะได้รับความสนใจมาก เพราะคน 2 ใน 3 ของประชากรโลกเผชิญปัญหานอนไม่หลับหรือหลับไม่เพียงพอ สำหรับในประเทศไทย คาดว่ามีประชากรถึง 30-40% เท่ากับ 19 ล้านคนที่มีปัญหานอนไม่หลับ และปัญหาการนอนไม่พอเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไปจนถึงความสามารถด้านการจำ
“ดีมานด์น่าจะเยอะมากแต่ห้องทำ Sleep Test ในโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอ ไม่ใช่แค่ที่เรา โรงพยาบาลอื่นๆ ก็มีคิวต่อกันยาวไปถึงครึ่งปีเพราะห้องไม่พอ” นพ.โอฬาริกกล่าว โดยเสริมว่าคนกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มีปัญหานอนไม่หลับคือคนวัยทำงาน และหนักที่สุดคือคนที่ทำงานเป็นกะ
เป็นเหตุให้การจับมือกับโรงแรมเป็นทางออกที่ดี นอกจากเพิ่มซัพพลายตอบรับดีมานด์แล้ว ยังทำให้ผู้เข้ารับวินิจฉัยผ่อนคลายกว่าในตอนนอนและเป็นการพักผ่อนไปในตัวได้
โอกาสต่อยอดรับลูกค้าต่างชาติ
ดาน “ทักษอร คงคาประเสริฐ” รองประธานกรรมการ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ กล่าวถึงที่มาการร่วมมือกับชาเทรียม เดิมพูดคุยกันเพื่อจะร่วมมือสร้างสถานที่กักกันโรคทางเลือก (Alternative State Quarantine : ASQ) แต่หารือแล้วมองว่าการพัฒนาสถานที่กักกันโรคอาจจะเปิดได้แค่ชั่วคราว เมื่อสถานการณ์ผ่อนคลายหรือรัฐมีการเปลี่ยนนโยบายก็จะไม่มี ASQ อีก ทำให้โมเดลธุรกิจนี้ไม่ยั่งยืน
ขณะที่รพ.เทพธารินทร์มีเป้าหมายต้องการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อจะเป็นผู้นำด้านเวชศาสตร์เชิงป้องกัน จึงเลือกหยิบเรื่องปัญหาการนอนไม่หลับมาจัดเป็นโปรแกรม และทำให้ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นได้ยาว ปัจจุบันมีดีลระหว่างกันถึงเดือนพฤศจิกายน 2563
เบื้องต้นยังเน้นเจาะกลุ่มคนไทยหรือ expat ที่อาศัยในไทยก่อนเพราะรัฐยังไม่เปิดให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศ แต่อนาคต ทักษอรมองว่ามีโอกาสเนื่องจากกลุ่มต่างชาตินิยมแพ็กเกจรีทรีตอยู่แล้ว เป็นการมาท่องเที่ยวด้วยและเข้าโปรแกรมเพื่อสุขภาพด้วย โดยอยู่ยาว 2-3 สัปดาห์เพื่อปรับพฤติกรรม
ด้าน “พาที สารสิน” ผู้ก่อตั้ง Really Really Cool Global Platform เอเย่นต์ออนไลน์ (OTA) ที่เข้ามาช่วยเป็นช่องทางโปรโมตและขายแพ็กเกจ Sleepless Society มองว่า “ชาวจีน” ให้ความสนใจมาก หากไม่มี COVID-19 จะมีคนจีนจำนวนมากเข้ามาทัวร์สุขภาพในไทยตั้งแต่ต้นปี
ตลาดใหม่ของชาเทรียม
ฝั่งโรงแรมก็ได้ประโยชน์จากโปรแกรมนี้แน่นอน ดังที่ทราบกันดีว่าช่วงการท่องเที่ยวชะงักงันเช่นนี้คือวิกฤตของโรงแรมทุกแห่ง รวมถึงชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ ด้วย โดยขณะนี้โรงแรมกลับมาให้บริการแล้ว ล่าสุดมีอัตราเข้าพักช่วงวันธรรมดา 10-20% และวันหยุดสุดสัปดาห์ 55% เทียบกับช่วงก่อน COVID-19 โรงแรมริมน้ำอย่างชาเทรียมมีอัตราเข้าพักสูง 70-80% ในช่วงไฮซีซั่น
“เราต้องมองหาตลาดใหม่หลัง COVID-19 การเป็นเมดิเทลคือการจับคู่ที่สมบูรณ์แบบ เพราะเราสามารถให้ความสบายในการพักผ่อนในโรงแรมนี้ได้อย่างเต็มที่” เรอเน่ บาลเมอร์ ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มชาเทรียม ฮอสพิทัลลิตี้ กล่าว
เป็นครั้งแรกของชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ ที่จัดโปรแกรมแบบเมดิเทลกับโรงพยาบาล ทำให้ต้องจัดระบบบุคลากรและฟังก์ชันในโรงแรมขึ้นมารองรับเพิ่มเช่นกัน เช่น บุคลากรโรงแรมจะต้องดูแลแขกอย่างละเอียดมากขึ้นเพราะมีเรื่องอาหาร customized รายบุคคล ทำให้โรงแรมจะใช้บุคลากรมากขึ้นสำหรับโปรแกรมนี้ หรือมีการจัดหาเทรนเนอร์กิจกรรมอย่างโยคะหรือแอโรบิกในน้ำเข้ามาเพิ่มเติม จากเดิมที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นต้น
เรียกได้ว่านาทีนี้ทุกธุรกิจต้องหาทางรอดเท่าที่ทำได้ เพื่อให้ผ่านพ้น COVID-19 และไม่แน่ว่าอาจค้นพบโอกาสใหม่จากดีมานด์ที่รออยู่ในตลาดก็ได้!