-
เครือโรงแรมไทย “ชาเทรียม” ในมือตระกูล “โสภณพนิช” กางแผนเน้นธุรกิจ “รับบริหาร” มากขึ้น ควบคู่ไปกับธุรกิจเดิมที่เป็นเจ้าของโรงแรมและบริหารเอง โดย 3 ปีข้างหน้าจะมีโรงแรมเปิดใหม่อีก 5 แห่ง ทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม
-
ส่งแบรนด์ “มายเทรียณ์” (Maitria) โรงแรมไลฟ์สไตล์ระดับ 4 ดาวเป็นหัวหอกเข้าสู่ตลาดรับบริหาร วางจุดเด่นสัญญา “ยืดหยุ่น” กว่า เจ้าของโครงการ (owner) โอกาสได้กำไรสูง
-
ปีนี้ยังขยับเข้าสู่ตลาดโรงแรมระดับลักชัวรีผ่าน “ชาเทรียม แกรนด์ กรุงเทพ” ทำเลด้านหลังสยามพารากอน ฤกษ์เปิดตัว 28 พฤศจิกายนนี้
กล่าวถึงเชนโรงแรม “ชาเทรียม ฮอสพิทาลิตี้” ภาพจำที่คนไทยรู้จักดีคือโรงแรมขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา “ชาเทรียม โฮเทล ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ” โดยบริษัทนี้อยู่ภายใต้ร่มใหญ่ “ซิตี้เรียลตี้” ของตระกูลโสภณพนิช
ซิตี้เรียลตี้เริ่มลงทุนโรงแรมครั้งแรกที่ย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ตั้งแต่ปี 2541 และโรงแรมนี้เองที่รีแบรนด์ใหม่เป็น “ชาเทรียม โฮเทล รอยัล เลค ย่างกุ้ง” ในปี 2551 จุดเริ่มต้นของการขยายชาเทรียม ฮอสพิทาลิตี้ จนปัจจุบันมีโรงแรมในมือ 12 แห่ง ใน 3 ประเทศ คือ ไทย เมียนมา และญี่ปุ่น
พอร์ตโฟลิโอดั้งเดิมของชาเทรียมทำธุรกิจแบบ Build-Own-Operate คือพัฒนาโครงการ เป็นเจ้าของเอง และบริหารเอง รวมทั้งหมด 10 แห่ง
มีเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่เป็นธุรกิจ “รับบริหาร” (Management) ได้แก่ โรงแรมมายเทรียณ์ โมด สุขุมวิท 15 และ ชาเทรียม นิเซโกะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทั้งสองแห่งเพิ่งเข้ามาในพอร์ตเมื่อปี 2561-62
แผน 3 ปีเปิดใหม่ 5 แห่ง ทั้งลงทุนเองและรับบริหาร
“สาวิตรี รมยะรูป” กรรมการผู้จัดการ ชาเทรียม ฮอสพิทาลิตี้ อธิบายถึงแบรนด์ในพอร์ตบริษัทจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
- ชาเทรียม แกรนด์ (Chatrium Grande) โรงแรมระดับลักชัวรี 5 ดาว+
- ชาเทรียม (Chatrium) โรงแรมระดับอัปสเกลจนถึงไฮเอนด์ 5 ดาว
- มายเทรียณ์ (Maitria) โรงแรมไลฟ์สไตล์ระดับกลางบน 4 ดาว
แผนของชาเทรียมในอีก 3 ปีข้างหน้า จะมีการเปิดตัวโรงแรมใหม่ 5 แห่ง ทั้งในไทยและต่างประเทศ ในไทยจะเน้นทำเลหัวเมืองที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ ขณะที่ต่างประเทศคาดว่าจะเปิดในเวียดนามและอินโดนีเซีย
โดยคาดว่าจะมีโรงแรมที่ลงทุนเอง 1-2 แห่ง และที่รับบริหาร 3-4 แห่ง ในส่วนที่รับบริหาร จะเน้นนำเสนอแบรนด์ “มายเทรียณ์” เป็นหลัก เพราะเป็นแบรนด์ที่ทำกำไรได้ดีที่สุด ตรงกับความต้องการของเจ้าของโรงแรม (owner) ที่มองหาเชนโรงแรมบริหาร
จุดเด่น “สัญญายืดหยุ่น” ตีตลาดจากรายใหญ่
“เรเน่ บาล์มเมอร์” ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มชาเทรียม ฮอสพิทาลิตี้ กล่าวถึงกลยุทธ์ของชาเทรียมในการแข่งขันกับเชนโรงแรม ‘บิ๊กเนม’ คือ การเจรจาสัญญาที่ยืดหยุ่นกว่า สามารถเซ็นระยะสั้นกว่าได้ ส่วนใหญ่ในตลาดรับบริหารจะเปิดสัญญาที่ 10+10 ปี แต่ชาเทรียมสามารถทำสัญญาระยะ 5+10 ปี หรือ 10+5 ปีได้ รวมถึงจะเน้นเรื่องค่าธรรมเนียม (fee) ที่ชัดเจน เป็นประโยชน์กับ owner มากกว่า
สิ่งที่จะนำเสนอกับ owner โรงแรม คือประสบการณ์ของชาเทรียมที่ลงทุนและบริหารเองมานาน ทำให้เข้าใจความต้องการของเจ้าของโครงการ เข้าใจการควบคุมต้นทุน และสร้างผลตอบแทนการลงทุน (ROI) ที่ดีสม่ำเสมอ
ขณะที่จุดอ่อนของเครือยอมรับว่าเป็น “ชื่อเสียง” ของแบรนด์ที่ไม่เป็นที่รู้จักมากนักนอกประเทศ ทำให้จะต้องเน้นการประชาสัมพันธ์โรงแรมมากขึ้น
ที่ดินทำเลทองลงทุนเองที่ “ภูเก็ต-เกาะสมุย”
เรเน่กล่าวต่อถึงโครงการที่บริษัทจะลงทุนเองใน 3 ปีข้างหน้า มีที่ตัดสินใจลงทุนแน่ชัดแล้วคือ โรงแรมชาเทรียม หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 15 ไร่ คาดก่อสร้างเป็นโรงแรมขนาด 320 ห้อง (ยังไม่ระบุมูลค่าการลงทุน)
ขณะที่ตระกูลโสภณพนิชยังมีที่ดินทำเลทองในมืออีก 2 แห่งที่สามารถพัฒนาเป็นโรงแรมต่อไปได้ในอนาคต คือ ที่ดินบริเวณหาดไม้ขาว จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 90 ไร่ และ ที่ดินบนเกาะสมุย เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ทั้งสองแห่งน่าจะพัฒนาภายใต้แบรนด์ชาเทรียม แกรนด์
เปิดตัว “ชาเทรียม แกรนด์ กรุงเทพฯ” โรงแรมหรูกลางสยาม
ด้านความเคลื่อนไหวปีนี้ เครือจะมีการเปิดตัวโรงแรมสำคัญคือ “ชาเทรียม แกรนด์ กรุงเทพฯ” เป็นโรงแรมระดับลักชัวรีแห่งแรกของเครือ โดยใช้เม็ดเงินลงทุน 5,400 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดิน) ทำเลที่ตั้งด้านหลังศูนย์การค้าสยามพารากอน สามารถเข้าออกได้ทั้งทางถ.เพชรบุรี และถ.พระราม 1
ออกแบบแยกเป็น 2 อาคาร สูง 32 ชั้น จำนวนห้องพักรวม 582 ห้อง ตกแต่งภายนอกด้วย “สีแดง” ในคอนเซ็ปต์ที่สื่อถึง “ทับทิมสยาม” และภายในตกแต่งด้วยเส้นสายของสายน้ำและดอกบัวที่สื่อถึงที่ตั้งของโรงแรมที่อยู่ใกล้วังสระปทุม สนนราคาห้องพักเริ่มต้น 7,000 บาทต่อคืน สูงสุดเป็นห้องเพนท์เฮาส์ราคา 80,000 บาทต่อคืน
สาวิตรีเล่าถึงความเป็นมาของที่ดินโรงแรมผืนนี้เป็นที่ดินทรัพย์สินเก่าแก่ของโสภณพนิชมานาน 40 ปี เคยมีสิ่งปลูกสร้างเป็นอพาร์ตเมนต์ในชื่อ ‘บางกอก อพาร์ตเมนต์’ สูง 6 ชั้น ก่อนจะพัฒนาเป็นโรงแรมชาเทรียม แกรนด์ กรุงเทพฯ
กำหนดการแกรนด์ โอเพนนิ่งโรงแรม วันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ โดยมีเป้าหมายหลักเป็นลูกค้ากลุ่มตะวันออกกลาง อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะนี้มีการจองผ่านบริษัทเอเจนซีบ้างแล้ว และจะเริ่มเปิดให้จองผ่าน OTA ได้ในสัปดาห์หน้า
สาวิตรีเชื่อว่าโรงแรมจะสามารถแข่งขันได้กับโรงแรมระดับเดียวกัน ด้วยทำเลที่อยู่กลางแหล่งศูนย์การค้าย่านสยาม และจะมีไฮไลต์เป็นห้องอาหารสไตล์ฝรั่งเศส-เมดิเตอเรเนียน เพื่อเสริมแกร่งด้านรายได้กลุ่ม Food & Beverage ด้วย เชื่อว่าอัตราการเข้าพักจะขึ้นไปแตะ 75% ได้ภายในเดือนธันวาคม 2566
พอร์ต “ลองสเตย์” ช่วยรักษาสมดุลรายได้
ภาพรวมของปี 2565 สาวิตรีระบุว่าอัตราเข้าพักของทั้งพอร์ตอยู่ที่ 70% โดยราคาห้องพักเฉลี่ยใกล้เคียงหรือสูงกว่าก่อนโควิด-19 ด้วย เนื่องจากพอร์ตโรงแรมของเครือชาเทรียมบางแห่งจะมีห้องพักที่เป็นเรสซิเดนเซสด้วย เช่น เอ็มโพเรียม สวีท บาย ชาเทรียม จึงมีกลุ่มลูกค้า “ลองสเตย์” ค่อนข้างมาก ทำให้แม้จะเผชิญโรคระบาด ลูกค้ากลุ่มนี้ก็ไม่ลดลงเท่าใดนัก
“ถ้าเป็นโรงแรมที่มีเรสซิเดนเซสอยู่ในตึกด้วยก็จะไม่เคยขาดทุนเลยตลอดช่วงโควิด-19 เพราะยังมีรายได้หล่อเลี้ยงตลอด ส่วนโรงแรมที่ไม่มี เราก็ปรับตัวไปเป็น ASQ ร่วมกับภาครัฐเพื่อสร้างรายได้” สาวิตรีกล่าวย้อนถึงสถานการณ์ช่วงปี 2563-64
- เปิดตลาดใหม่! รพ.เทพธารินทร์ จับมือ ชาเทรียม ออกโปรแกรมรักษาโรคนอนไม่หลับใน “เมดิเทล”
- รู้จัก “Bunkhouse” น้องคนกลางในเครือ The Standard เชนโรงแรมบูทิคที่ขอพลิกตลาดเมืองรอง
ช่วงก่อนโควิด-19 ชาเทรียม ฮอสพิทาลิตี้เคยมีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 80-85% ซึ่งถ้าหากประเมินจากสถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศ สาวิตรีก็เชื่อว่าจะกลับไปเป็นปกติได้ภายในปี 2567