รู้จัก “Bunkhouse” น้องคนกลางในเครือ The Standard เชนโรงแรมบูทิคที่ขอพลิกตลาดเมืองรอง

Hotel Saint Cecilia ในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส
แบรนด์โรงแรมในเครือ The Standard ทยอยเข้ามาเปิดตัวในไทยอย่างต่อเนื่องหลังจาก “แสนสิริ” เข้าซื้อเครือเมื่อปี 2560 ล่าสุดเป็นคิวของ ‘น้องคนกลาง’ อย่างแบรนด์ “Bunkhouse” ที่จะเริ่มเข้ามาทำตลาด ด้วยคอนเซ็ปต์เชนโรงแรม “บูทิค” ดีไซน์เป็นเอกลักษณ์เข้ากับท้องถิ่นแบบ ‘One of a kind’ โดยจะมุ่งเน้นไปที่ตลาดเมืองรอง ให้โรงแรมเป็นจุดหมายปลายทางในตัวเอง

บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อกิจการเครือโรงแรม The Standard มาตั้งแต่ปี 2017 และไล่ซื้อหุ้นเพิ่มต่อเนื่องจนปัจจุบันถือหุ้นสัดส่วน 62% พร้อมกับเริ่มนำแบรนด์เข้ามาเปิดตัวในไทยแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ The Standard หัวหิน, The Standard แบงค็อก มหานคร, The Peri เขาใหญ่, The Peri หัวหิน

ยังขาดอีกหนึ่งแบรนด์ในเครือที่ยังไม่ได้เปิดตัวในประเทศไทยคือ “Bunkhouse” แต่เชื่อว่าเราจะได้เห็นแห่งแรกกันไม่เกินปีหน้า

“บริพัตร หลุยเจริญ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สแตนดาร์ดเอเชีย จำกัด อธิบายถึงทั้ง 3 แบรนด์ในเครือว่าจะมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกัน ไลฟ์สไตล์ต่างกัน เปรียบเหมือน ‘พี่น้อง’ ที่มีจุดเชื่อมโยงกันตามมาตรฐานของเครือ แต่ก็มีวิถีชีวิตของตนเอง

  • The Standard พี่คนโตของครอบครัวที่มีความ ‘extrovert’ ชอบความสนุกสนาน โฉบเฉี่ยว งานสังสรรค์ ชอบการเดินทาง ไม่หยุดนิ่ง
  • Bunkhouse น้องคนกลางที่มีความ ‘introvert’ มากขึ้น ชอบกิจกรรม ความมีชีวิตชีวา แต่ยังมีโลกส่วนตัว และชอบเรียนรู้เอกลักษณ์ท้องถิ่น
  • Peri Hotel น้องคนเล็กที่รักความสงบเงียบ โลกส่วนตัวสูง เน้นความ ‘chill’ ในการมาพักผ่อน

 

Bunkhouse แบรนด์ฮิปจากเท็กซัส

“ลิซ่า โบนิฟาซิโอ” ประธาน Bunkhouse Group เล่าถึงประวัติแบรนด์นี้ตั้งแต่ก่อนเข้ามาอยู่ในเครือ The Standard ว่า ที่จริงแล้ว เริ่มต้นมาจากการเปิดร้านกาแฟและอาหารเช้าชื่อ Jo’s ในปี 1999 ที่เมืองออสติน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ก่อนจะมาเปิดโรงแรมแห่งแรกในปี 2000 คือ Hotel San Jose และขยายตัวต่อเนื่องจนปัจจุบันมีโรงแรม 9 แห่งในสหรัฐฯ และเม็กซิโก รวมถึงมีกิจการอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรงแรม เช่น พื้นที่จัดอีเวนต์ เทศกาลดนตรี และตลาดนัด, ลานจอดรถบ้านสำหรับตั้งแคมป์

Hotel San Cristobal เมืองโตโดส ซานโตส ประเทศเม็กซิโก หนึ่งในโรงแรมเครือ Bunkhouse

ที่จริงแล้ว Bunkhouse ไม่ได้เป็นชื่อโรงแรมแต่เป็นเหมือนชื่อบริษัทที่บริหารมากกว่า เนื่องจากโรงแรมในเครือนี้จะมี ‘ชื่อของตนเอง’ ที่เป็นเอกลักษณ์ เพราะเป็นบูทิคโฮเทล แต่ละแห่งในเครือจะมีดีไซน์ไม่เหมือนกัน แต่มีแนวคิดในการออกแบบเหมือนกันคือ เป็นโรงแรมที่ยังคงเล่าเรื่องของอาคารสถานที่นั้นๆ นำชิ้นงานศิลปะและกลิ่นอายของท้องถิ่นที่ตั้งโรงแรมเข้ามาตกแต่ง ซึ่งทำให้แต่ละแห่งมี ‘ความเป็นตัวของตัวเอง’ สูง หรือเรียกว่าเป็น One of a kind

หากจะแบ่งระดับของโรงแรม Bunkhouse ยังแบ่งเป็นแบรนด์ย่อยอีก 2 แบรนด์คือ

  • The Saint Collection เป็นโรงแรมระดับไฮเอนด์ ใช้คอนเซ็ปต์ ‘Relax Luxury’ เป็นความลักชัวรีที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ความหรูหราที่จับต้องได้ง่าย ให้ความสงบเป็นส่วนตัว เน้นตกแต่งแบบวินเทจ งานศิลปะท้องถิ่น งานคราฟต์ มีพื้นที่สีเขียวในโรงแรม ตัวอย่างโรงแรม เช่น Hotel Saint Cecilia ในเมืองออสติน
    (*หากเข้ามาพัฒนาในไทยจะเป็นโรงแรมขนาด 30-70 ห้อง ค่าห้องพักประมาณ 10,000 บาทต่อคืน)
Hotel Saint Cecilia ตัวอย่างโรงแรมใน The Saint Collection
  • โรงแรมแบบบีสโปค by Bunkhouse เป็นโรงแรมระดับ 4-5 ดาว ตกแต่งด้วยเอกลักษณ์ท้องถิ่น ให้ความรู้สึกสบายๆ เป็นตัวของตัวเอง มีพื้นที่ส่วนกลางใช้จัดกิจกรรม เช่น งานค็อกเทลในสวน งานมิวสิคเฟสติวัล ตลาดนัดสินค้าทำมือจากท้องถิ่น ตัวอย่างโรงแรม เช่น Carpenter Hotel เมืองออสติน, Hotel Magdalena เมืองออสติน, Phoenix Hotel เมืองซานฟรานซิสโก,
    (*หากเข้ามาพัฒนาในไทยจะเป็นโรงแรมขนาด 70-100 ห้อง ค่าห้องพักประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อคืน)
Hotel Magdalena เมืองออสติน ตัวอย่างโรงแรมบีสโปคบริหารโดย Bunkhouse

ลิซ่าอธิบายต่อว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของ Bunkhouse ต่อเจ้าของโครงการคือ ความแข็งแรงในงานดีไซน์และคอนเซ็ปต์ที่ช่วยพลิกฟื้นโรงแรมเดิมให้น่าสนใจในตลาด เช่น Carpenter Hotel ทางบริษัทได้เข้าไปรีโนเวตอาคารให้มีชีวิตชีวา ใช้เสียงดนตรี ปรับปรุงให้มีบาร์และร้านอาหาร ด้วยงบลงทุนรีโนเวตไม่สูงมาก แต่สามารถปรับราคาห้องพักขึ้นได้ และดึงลูกค้ามาพักได้มากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน

 

ครั้งแรกที่ Bunkhouse จะข้ามทวีป

ในปีนี้ Bunkhouse เริ่มเข้ามาเตรียมการเปิดโรงแรมแรกในไทยแล้ว โดย “เทนาย่า ฮิลส์” รองประธานอาวุโส ด้านดีไซน์และการพัฒนา Bunkhouse Group สำรวจแหล่งผลิตงานฝีมือและงานศิลปะในไทย เช่น เถ้าฮงไถ่ ผู้ผลิตเครื่องเซรามิกใน จ.ราชบุรี หรือบ้านถวาย หมู่บ้านหัตถกรรมไม้แกะสลัก จ.เชียงใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมนำงานคราฟต์เหล่านี้มาใช้ในการออกแบบ

การมาประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศแรกนอกทวีปอเมริกาที่ Bunkhouse จะเข้ามาปักหมุด ซึ่งแบรนด์จะใส่ใจกับการออกแบบที่ให้ความเคารพต่อประวัติศาสตร์และงานฝีมือของไทย วิธีการตกแต่งจะเป็นการผสมผสานสไตล์ไทยเข้ากับเอกลักษณ์ของ Bunkhouse โดยมีงานศิลปะเหล่านี้ที่จับต้องได้ชัดเจน

Bunkhouse
(จากซ้าย) “ลิซ่า โบนิฟาซิโอ” ประธาน Bunkhouse Group, “เทนาย่า ฮิลส์” รองประธานอาวุโส ด้านดีไซน์และการพัฒนา Bunkhouse Group และ “บริพัตร หลุยเจริญ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สแตนดาร์ดเอเชีย จำกัด

 

โรงแรมที่จะเป็นจุดหมายของเมืองรอง

ด้านแผนธุรกิจของ Bunkhouse บริพัตรกล่าวว่า บริษัทพร้อมจะทำงานร่วมกับเจ้าของโครงการทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างใหม่ หรือโครงการรีโนเวตจากโรงแรมเดิมหรือรีโนเวตจากอาคารที่เคยใช้ประโยชน์แบบอื่น

สิ่งที่แบรนด์มองหาเป็นหลักในการทำงานร่วมกันคือเสน่ห์ของอาคารหรือที่ตั้งที่มีเอกลักษณ์ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในไพรม์แอเรีย เช่น ติดหน้าหาดหรือกลางซีบีดีของเมือง

Carpenter Hotel เมืองออสติน กับงานบาร์บีคิว พูลปาร์ตี้

ส่วนสิ่งที่ Bunkhouse จะให้กับเจ้าของโครงการได้คือ งานดีไซน์ที่ดูดีโดยไม่ต้องลงทุนสูงมากเท่ากับโรงแรมลักชัวรีแบบเดิมๆ พร้อมกับฐานลูกค้าในมือของเครือซึ่งจะช่วยให้โรงแรมที่เคยเป็นโรงแรมอิสระ บริหารเอง ได้โอกาสเข้าถึงลูกค้ากว้างขึ้น

บริพัตรกล่าวด้วยว่า จังหวัดที่แบรนด์นี้สนใจในไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ภูเก็ต, เกาะสมุย, เกาะยาวน้อย, เกาะยาวใหญ่, น่าน, สุโขทัย, อยุธยา โดยเฉพาะจังหวัด “เมืองรอง” ที่แบรนด์สนใจเป็นพิเศษเพราะเข้ากับคาแรกเตอร์การเป็นบูทิคโฮเทลที่ไม่เหมือนใคร คาดว่าน่าจะสามารถเซ็นดีลและเปิดตัวได้ปีละ 1-3 แห่งนับจากนี้ โดยเริ่มแห่งแรกปีหน้า

“โอกาสโรงแรมระดับลักชัวรีในเมืองรองเปิดมากแล้ว ตอนนี้ในไทยก็เริ่มมีรีสอร์ทหรูหรือบูทิคโฮเทลดีๆ ไปเปิดในเมืองรอง หรืออยู่ในโลเคชันที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก และสามารถดึงลูกค้าได้เพราะวันนี้ผู้บริโภคนิยามคำว่าลักชัวรีเปลี่ยนไป ไม่ใช่จะต้องมีหินอ่อนขอบทองตลอด” บริพัตรกล่าว

“เรามองว่าไทยมีประวัติศาสตร์ที่รุ่มรวยมาก เรามีตึกเก่าๆ พร้อมเรื่องราวในอดีตรอเราอยู่ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง เพียงแต่เราจะต้องสร้างโปรดักส์ที่เป็นจุดหมายปลายทาง (destination) ในตัวเองขึ้นมา”