สรุปทุกปัญหาที่รุมเร้าจน ‘หัวเว่ย’ ย้ำเป้าหมายจากนี้ ‘ต้องเอาชีวิตรอด’

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา กั้ว ปิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท หัวเว่ย (Huawei) ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีน ได้ออกมากล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทตอนนี้คือ ‘เอาชีวิตรอด’ จากการโจมตีซ้ำแล้วซ้ำเล่าของ ‘สหรัฐอเมริกา’ ที่เกิดจากข้อหา มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติ โดยอ้างว่ารัฐบาลจีนสามารถใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยในการสอดแนมได้ ขณะที่บริษัทก็ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้นตลอดมา ดังนั้น Positioning จะมาสรุปกันว่าหลังจากที่สหรัฐฯ ได้กล่าวหาหัวเว่ยนั้น เกิดอะไรขึ้นกับแบรนด์บ้าง

เริ่มจากโดน Entity list ในปี 2019

จุดเริ่มต้นมาจากในปี 2019 เมื่อกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เปิดเผยคำฟ้องถึงบริษัทหัวเว่ยรวม 23 ข้อหา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา แต่ประเด็นหลักคือ ความกังวลว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยจะถูกนำไปใช้เพื่อสอดแนมในต่างประเทศและในบริษัทอื่น ๆ อีกทั้ง ทางรัฐบาลจีนได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง บังคับให้บริษัทจีนต้องส่งมอบข้อมูลทุกอย่างให้ทางรัฐบาลจีน หากรัฐบาลจีนร้องขอ

ส่งผลให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งให้ลิสต์หัวเว่ยเข้าไปในรายการของกระทรวงอุตสาหกรรมและความปลอดภัยของกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ โดยทำการแบนหัวเว่ยจากเครือข่ายการสื่อสารของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ และอีกคำสั่งมาจากฝั่งของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ที่ได้เพิ่มชื่อหัวเว่ยใน Entity list โดยบริษัทที่อยู่ในลิสต์ดังกล่าว จะต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อนที่จะซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากบริษัทในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยไม่สามารถใช้งาน Google และระบบปฏิบัติการ Android ได้

กดดันนานาประเทศแบนหัวเว่ย

สหรัฐฯ ไม่ได้แค่แบนหัวเว่ยในประเทศตัวเอง แต่ยังกดดันนานาประเทศทั่วโลกแบนอุปกรณ์หัวเว่ยจากเครือข่ายโทรคมนาคม 5G ของตน ตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักร ที่จากตอนแรกได้อนุมัติให้หัวเว่ยเข้ามาวางเครือข่าย 5G แต่จำกัดการมีส่วนร่วมที่ 35% ของโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด แต่ก็ได้ยกเลิกไป แม้มาตรการดังกล่าวจะทำให้การเริ่มใช้ระบบการสื่อสาร 5G ของประเทศต้องล่าช้าออกไปอีก 1 ปี อีกทั้งจะส่งผลให้เกิดความล่าช้าสะสมนานถึงสามปีซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่า 2 พันล้านปอนด์ หรือราว 8 หมื่นล้านบาทก็ตาม

หรือในปี 2561 รัฐบาลออสเตรเลียประกาศแบนหัวเว่ยไม่ให้จัดส่งอุปกรณ์ป้อนโครงการพัฒนาเครือข่ายสื่อสาร 5G โดยอ้างถึงความเสี่ยงที่จะถูกต่างชาติแทรกแซง ทำให้หัวเว่ยต้องลดจำนวนพนักงานด้านเทคโนโลยีขั้นสูงรวมกว่า 1,000 ตำแหน่ง และก่อนหน้านี้ หัวเว่ยได้ระงับการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนามูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 72.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ห้ามซื้อชิป แรงกดดันล่าสุดที่ถึงตาย

วอชิงตันได้เพิ่มแรงกดดันต่อ โดยออกมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ในเดือนพฤษภาคมและสิงหาคม ด้วยการแบนไม่ให้หัวเว่ยเข้าถึงชิปที่จำเป็นต่อการผลิตสมาร์ทโฟน, อุปกรณ์เครือข่าย 5G และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ส่งผลให้บริษัท Qualcomm และ TSMC จะไม่สามารถขายให้กับหัวเว่ยได้อีกต่อไป หากไม่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ก่อน มีเพียงแค่ Intel ที่ยังได้รับใบอนุญาตจากทางการสหรัฐฯ ในการจัดหาอุปกรณ์ให้หัวเว่ยต่อไป แต่ไม่ได้ระบุว่าจะขายผลิตภัณฑ์อะไรได้บ้าง

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เรียกการคว่ำบาตรครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ ว่า “ระเบิดร้ายแรงที่ส่งผลถึงชีวิต” โดยหัวเว่ยเองได้ระบุว่า บริษัทมีซัพพลายชิปเพียงพอสำหรับธุรกิจอุปกรณ์โครงข่ายโทรคมนาคม แต่ไม่เพียงพอสำหรับผลิตโทรศัพท์มือถือ ซึ่งกำลังไปได้ดี เพราะในไตรมาส 2 ที่ผ่านมามียอดจัดส่งสูงถึง 55.8 ล้านเครื่อง ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดโลก ดังนั้นจากนี้คงต้องจับตาดูว่าหัวเว่ยจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร เพราะโอกาสที่สหรัฐฯ จะยอมอนุญาตให้ Qualcomm กลับมาส่งชิปให้หัวเว่ยนั้นค่อนข้างริบหรี่ อีกทั้งนักวิเคราะห์หลายคนประเมินว่าหัวเว่ยได้กักตุนเซมิคอนดักเตอร์ไว้เพียงพอที่จะใช้งานจนถึงสิ้นปีเท่านั้น

Source