ผลการศึกษาพบ 1 ใน 3 ของผู้ที่หายจาก COVID-19 มีอาการ ‘ป่วยทางจิต’ แทรก

Photo : Shutterstock
สถานการณ์ของไทยกำลังน่าเป็นห่วงทีเดียว เพราะกำลังเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งคราวนี้เป็นสายพันธุ์อังกฤษซึ่งแพร่กระจายเร็วกว่าถึง 1.7 เท่า อย่างไรก็ตาม COVID-19 ไม่ได้แค่ส่งผลให้เราเจ็บป่วยเท่านั้น แต่มีการศึกษาในสหรัฐฯ พบว่า ผู้ที่หายป่วย 1 ใน 3 นั้นได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคทางระบบประสาทหรือจิตเวชอีกด้วย

การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Psychiatry ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากบันทึกสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ป่วย COVID-19 จำนวน 236,379 คนจากเครือข่าย TriNetX ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่ามี 34% ตรวจพบอาการทางระบบประสาทหรือมีปัญหาด้านสุขภาพจิตในช่วง 6 เดือนที่ติดเชื้อ เมื่อพิจารณาถึงความผิดปกติทางระบบประสาทและสุขภาพจิต 14 รายการ

13% ของคนเหล่านี้เป็นการวินิจฉัยทางระบบประสาทหรือจิตเวชเป็นครั้งแรก โดยอาการทั่วไปที่พบได้มากที่สุดคือ

  • 17% อาการวิตกกังวล
  • 14% ตามด้วยอาการผิดปกติทางอารมณ์
  • 7% มีความผิดปกติของการใช้สารเสพติดในทางที่ผิด
  • 5% นอนไม่หลับ

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วย 0.6% มีอาการเลือดออกในสมอง 2.1% มีอาการหลอดเลือดสมองตีบและ 0.7% สำหรับภาวะสมองเสื่อม

และเมื่อถึงลักษณะพื้นฐานทางสุขภาพ เช่น อายุ, เพศ, เชื้อชาติ และสภาวะสุขภาพที่มีอยู่แล้วพบว่า ผู้ติดเชื้อ COVID-19 มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาด้ายระบบประสาทและสุขภาพจิตมากกว่าการเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ถึง 44% และและหากเทียบกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ จะมีความเสี่ยงมากกว่าราว 16%

ศาสตราจารย์พอล แฮร์ริสัน หัวหน้าผู้เขียนการศึกษาจากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด กล่าวว่า การศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ระบบการดูแลสุขภาพจะต้องจัดการกับความผิดปกติทางระบบประสาทที่อาจสูงขึ้นในผู้รอดชีวิตจากไวรัส

“ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลจริงจากผู้ป่วยจำนวนมาก พวกเขายืนยันอัตราการวินิจฉัยทางจิตเวชที่สูงหลังจากหายจาก COVID-19 และแสดงให้เห็นว่ามีความผิดปกติร้ายแรงที่ส่งผลต่อระบบประสาท (เช่น โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะสมองเสื่อม) แม้ว่าอย่างหลังจะหายากกว่ามาก แต่ก็มีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เป็นโรค COVID -19 ขั้นรุนแรง”

ก่อนหน้านี้มีการศึกษาเชิงสังเกตโดยกลุ่มวิจัยเดียวกันรายงานว่าผู้รอดชีวิตจาก COVID -19 มีความเสี่ยงต่อโรคอารมณ์และความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นในช่วง 3 เดือนแรกหลังการติดเชื้อ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลขนาดใหญ่ในการตรวจสอบผลกระทบทางระบบประสาท

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ที่ป่วยจะมีเปอร์เซ็นต์ที่น้อย แต่ในระยะยาวอาจจะส่งผลต่อระบบสาธารณสุขได้ เนื่องจากอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นอาการเรื้อรัง ระบบบริการสุขภาพจึงจำเป็นต้องได้รับการจัดหาทรัพยากร เพื่อรับมือในอนาคต โดยนับตั้งแต่ไวรัส COVID-19 เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีนเมื่อปลายปี 2562 จนปัจจุบันมีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสแล้วกว่า 132 ล้านรายและเสียชีวิตกว่า 2.8 ล้านรายตามข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์

Source