“ดอนเมืองโทลล์เวย์” ย้ำแผนเปิด IPO จัดสรร 140 ล้านหุ้นระดมทุน 7 พ.ค.นี้ ประเมินสถานการณ์ทางด่วนปี 2563 ท่ามกลาง COVID-19 รายได้-กำไรลดลง แต่เชื่อว่าปริมาณรถขึ้นทางด่วนจะกลับมาเป็นปกติภายในปี 2566-67 ชี้โอกาสเติบโตจากส่วนต่อขยายรังสิต-บางปะอินจะทำให้มีรถใช้งานดอนเมืองโทลล์เวย์เพิ่ม และสัมปทานภาครัฐอีกหลายเส้นทางที่บริษัทอาจเข้าร่วม
บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT เจ้าของสัมปทานทางยกระดับอุตราภิมุข หรือ “ดอนเมืองโทลล์เวย์” คืบหน้าไปอีกขั้นในการเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จ่อเสนอขาย IPO ปลายเดือนเมษายนนี้ และจะเข้าเทรดในตลาดหุ้นวันแรก 7 พ.ค. 64
“ธานินทร์ พานิชชีวะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงพื้นฐานธุรกิจของบริษัท ก่อตั้งเมื่อปี 2531 หรือกว่า 30 ปีก่อน เพื่อรับสัมปทานเป็นผู้บริหารจัดการทางยกระดับดอนเมืองรวมระยะทาง 21 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ช่วง คือช่วงดินแดง-ดอนเมือง ระยะทาง 15.4 กิโลเมตร และช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถานแห่งชาติระยะทาง 5.6 กิโลเมตร
ทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ถือเป็นทางด่วนเส้นสำคัญของการเข้าออกเมืองทางทิศเหนือ และมีจุดเชื่อมต่อเข้าสนามบินดอนเมืองได้โดยตรง
ปัจจุบันสัญญาสัมปทานรอบล่าสุดจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2577 หรือเหลือระยะเวลาอีก 13 ปีก่อนจะหมดสัมปทานรอบนี้ และเป็นสัญญาที่มีกำหนดการขึ้นอัตราค่าผ่านทางแน่นอน โดยจะมีการปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในปี 2567 และปี 2572 (ปัจจุบันค่าผ่านทางเริ่มต้น 80+35 บาท สำหรับช่วงที่ 1 และ 2 ตามลำดับ)
“13 ปีที่ยังเหลือสัมปทาน เราจะไม่หยุดอยู่กับที่ เราจะพัฒนาความพร้อมด้านบุคลากรและเทคโนโลยี เพราะถ้ารัฐเปิดประมูลสัมปทานใหม่เมื่อไหร่ เราก็มีโอกาสไปชิงเค้กเพิ่ม โดยเรามีประสบการณ์ด้านทางด่วนมานานกว่า 30 ปีเป็นจุดแข็ง” ธานินทร์กล่าว
ปี’63 สะดุด COVID-19 แต่ยังกำไร
ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจและการเงิน DMT กล่าวต่อถึงผลประกอบการล่าสุดของบริษัท ในปี 2563 บริษัทมีรายได้ 2,063 ล้านบาท กำไรสุทธิ 791 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 38.7% ปริมาณรถผ่านทางอยู่ที่ 34.9 ล้านคันต่อปี หรือเท่ากับกว่า 95,000 คันต่อวัน
ทั้งรายได้ กำไร และปริมาณรถลดลงจากช่วงปี 2560-62 โดยเมื่อปี 2562 บริษัทมีรายได้รวม 2,859 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,159 ล้านบาท ในช่วงปี 2560-62 บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ระหว่าง 41-48% และมีรถผ่านทางเฉลี่ยกว่า 154,000 คันต่อวัน
ตัวเลขในปี 2563 จึงสะท้อนให้เห็นผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 มีการล็อกดาวน์และลดการเดินทาง แต่ดร.ศักดิ์ดาชี้ว่า บริษัทยังแข็งแกร่งทางการเงินและมีกำไร รวมถึงปัจจุบันบริษัทมีหนิ้สินต่ำ โดยมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) เพียง 0.4 เท่า
คาดกลับมาปกติภายในปี 2566-67
ดร.ศักดิ์ดากล่าวต่อว่า เชื่อว่าปี 2564 นี้สถานการณ์จะดีขึ้นกว่าปีก่อน แม้มีการระบาดรอบที่ 3 เกิดขึ้น ส่วนสถานการณ์ปริมาณรถผ่านทางด่วน คาดว่าช่วงปี 2566-67 จะกลับไปสู่ช่วงปกติเท่ากับก่อน COVID-19 คือประมาณ 154,000 คันต่อวันได้
นอกจากนี้ ดอนเมืองโทลล์เวย์จะได้รับอานิสงส์ในช่วงปี 2568-69 เมื่อทางด่วนส่วนต่อขยายรังสิต-บางปะอิน (M5) เปิดใช้ในปีดังกล่าว เส้นทางนี้จะมีการจราจรที่เชื่อมต่อดอนเมืองโทลล์เวย์เดิม ทำให้ปริมาณรถที่ใช้งานน่าจะเพิ่มขึ้น โดยเส้นทางรังสิต-บางปะอินเป็นเส้นทางที่จะไปผ่านสี่แยกบางปะอิน ทางแยกระหว่างรถที่จะขึ้นเหนือกับออกอีสานทาง จ.นครราชสีมา
ธานินทร์กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายทำรายได้ 3,000 ล้านบาท เมื่อสถานการณ์กลับเป็นปกติ โดยเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงจากหลายปัจจัย เช่น รัฐบาลมีแผนการฉีดวัคซีนและแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้การเดินทางสูงขึ้น ยอดขายรถยนต์ที่เติบโตขึ้นน่าจะทำให้ปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นด้วย
เล็งสัมปทาน 5 โครงการ
สำหรับแผนงานอนาคตของ DMT มีงานประมูลสัมปทาน 5 โครงการของรัฐช่วงปี 2564-65 ระยะทางรวม 244 กิโลเมตร ที่บริษัทมองว่ามีศักยภาพที่น่าสนใจ ดังนี้
1)โครงการ M5 รังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. มูลค่าโครงการ 39,956 ล้านบาท
2)โครงการ M9 บางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 38 กม. มูลค่าโครงการ 64,848 ล้านบาท
3)โครงการ M8 นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กม. มูลค่าโครงการ 79,006 ล้านบาท
4)โครงการ M82 บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. มูลค่าโครงการ 48,310 ล้านบาท
5)โครงการทางพิเศษกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 44 กม. มูลค่าโครงการ 14,177 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธานินทร์กล่าวว่า บริษัทจะประเมินความเสี่ยงด้านความคุ้มค่าทางการเงินก่อนตัดสินใจร่วมประมูล
เปิด IPO ระดมทุนเป็นบริษัทปลอดหนี้
วรวัสส์ วัสสานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อวานการ์ด แคปปิตอล จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยข้อมูลการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จะเปิดขายทั้งหมด 140 ล้านหุ้น คิดเป็น 11.9% ของบริษัทหลังเปิดขาย โดยขณะนี้ยังไม่ระบุราคา คาดว่าจะเสนอขาย IPO ปลายเดือนเมษายนนี้ และจะเข้าเทรดในตลาดหุ้นวันแรก 7 พ.ค. 64
เป้าหมายการระดมทุนจะเป็นการนำเงินไปชำระภาระหนี้มีดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้บริษัทกลายเป็นบริษัทปลอดหนี้เพราะขณะนี้มีหนี้สินต่ำมาก และยังไม่มีแผนลงทุนโครงการใหม่จนกว่าภาครัฐจะเปิดประมูล