แน่นอนว่าในยุคที่ทุกคนใช้สมาร์ทโฟน ก็คงจะได้พบเจอกับโฆษณาอยู่ในทุก ๆ วันที่เปิดหน้าจอ ไม่ว่าจะมาจากแอปโซเชียลมีเดีย หรือแอปฯ ที่ดาวน์โหลดมาใช้ฟรี ๆ แต่ในยุคที่คนเราใช้งานอยู่แค่ไม่กี่แอปฯ ต่อวัน โฆษณาเหล่านี้จะได้ผลจริงหรือ? นี่คงเป็นคำถามที่หลายคนคงสงสัย ซึ่งทาง คุณนพพล ธรรมรักขิต ผู้อำนวยการของบริษัท คอลลี่ (Cauly) ในเครือวายดีเอ็ม (ประเทศไทย) ดิจิทัลเอเจนซีด้าน Mobile App User Acquisition จะมาอธิบายให้ฟัง
3 ช่องทางหลักโฆษณาบน Mobile Apps
คุณนพพลอธิบายว่า จริง ๆ แล้วโฆษณาบนโมบายแอปฯ จะมีอยู่ 3 ช่องทางหลัก ได้แก่
1.Social Media เช่น Facebook ที่เวลาเราไถฟีดมักจะเจอกับโฆษณาเกม
2.App Store Search
3.Mobile Ad Networks หรือแบนเนอร์โฆษณาที่ไปฝังอยู่ในแอปฯ ต่าง ๆ อย่างแอปฯ ที่ใช้ฟรีก็จะมีโฆษณามาคั่น
คุณนพพลอธิบายต่อว่า การใช้ Mobile Ad Networks เป็นเหมือนการปืนใหญ่ที่ยิงหาผู้บริโภคได้ในจำนวนมาก แน่นอนว่าปัจจุบันผู้บริโภคอาจจะใช้งานอยู่ไม่กี่แอปฯ ในชีวิตประจำวัน แต่จริง ๆ แล้ว Mobile Ad Networks แทรกซึมไปตั้งแต่ตอนดาวน์โหลดแอปฯ แล้ว ดังนั้น จำนวนแอปฯ ที่ใช้ในแต่ละวันไม่ใช่ประเด็น แต่เป็นความถี่ในการใช้โมบายที่เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เห็นโฆษณา แต่สุดท้าย เป้าหมายไม่ใช่จำนวนคนเห็นแอด แต่เป็นจำนวนดาวน์โหลด ซึ่งข้อดีของการโฆษณาบน Mobile Apps คือผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดได้ทันที
“ที่ผ่านมาลูกค้า 99% ต้องการให้การันตี และ 99% ก็ล้มเหลว เพราะเราไม่สามารถการันตีได้ว่าจะมีคนเห็นกี่คน แต่เราสามารถประเมินผลจากคุณภาพของตัวแอปฯ ได้ โดยเจ้าของแอปฯ ต้องรู้ว่าผู้ใช้ 1 คนสร้างเงินให้แอปฯ กี่บาท เพื่อจะนำเงินมาเป็นตัวเซตต้นทุนมาร์เก็ตติ้ง แล้วมาดูว่าใช้ช่องทางไหนดีที่สุด”
Mobile Ad เหมาะกับใคร
โมบายแอปฯ ที่ใช้งาน Mobile Ad ส่วนใหญ่ก็คือ ‘แอปฯ ที่ต้องการยูสเซอร์’ ซึ่งกลุ่มที่ซีเรียสที่สุดในการโกยคนก็คือ ‘เกม’ เพราะเขาพัฒนาเกมมาเพื่อจะทำเงิน ดังนั้น เกมจะเป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่ใช้งาน Mobile Ad อีกส่วนก็คือ ‘อีคอมเมิร์ซ’ นอกนั้นอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าการเพิ่มยูสเซอร์เป็นสิ่งที่ต้องทุ่มเงินขนาดนั้น แค่ใช้สื่ออื่น ๆ ที่มีในมือก็พอแล้ว ดังนั้น ลูกค้าของคอลลี่ราว 90% เป็นบริษัทเกม
“อย่างค่ายเกมจีนจะทุ่มตลาดมาก เน้นขายเร็ว พอทำกำไรได้จุดหนึ่งก็พอ ขนเกมใหม่มาทำตลาด ขณะที่ค่ายเกมฝั่งยุโรปจะใช้เงินน้อยกว่า เน้นการ Track ประสิทธิภาพของเม็ดเงินที่ลงไป แต่ที่เหมือนกันทุกที่ก็คือ เขาจะไม่หวังทำเงินจากเกม ๆ เดียวตลอดไป”
แม้การระบาดของ COVID-19 จะทำให้ตลาดเกมเติบโตมาก เพราะคนว่าง แต่เชื่อว่าจะได้เห็นผลกระทบครึ่งหลังปีนี้ เพราะเป็นเรื่องเศรษฐกิจทำให้ผู้บริโภคไม่มีเงิน ‘เติมเกม’ ดังนั้น เกมก็ได้รับผลกระทบแต่อาจจะช้ากว่าที่อื่น
การ ‘โกง’ ปัญหาใหญ่ Mobile Ad
อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้เกิดการ ‘โกง’ (Fraud) โดยใช้ ‘Bot’ ดาวน์โหลดแอปฯ ทำให้เจ้าของแอปฯ ต้องเสียเงินค่าแอดฟรี ๆ ดังนั้น คอลลี่จึงพัฒนาระบบ Anti-Fraud พร้อมทั้งคัดคุณภาพของผู้ใช้งาน (ไม่ใช่แค่โหลดแต่เล่นจริง) นอกจากนี้ คอลลี่ยังมี Mobile App Network กว่า 12,000 แอปฯ ทั่วโลก ทำให้คู่แข่งในตลาดของคอลลี่มีไม่มาก และอีกจุดแข็งคอลลี่คือ อยู่ในเครือวายดีเอ็ม (ประเทศไทย) ทำให้สามารถมีบริการที่ครบวงจร อาทิ การจัดหาอินฟลูเอนเซอร์ในการทำแคมเปญ
“ความท้าทายของเรา คือ เทคโนโลยีที่ต้องพัฒนาให้ทันกับความคาดหวังของลูกค้า และชาเลนจ์หลัก ๆ เรื่องการเติบโต เพราะการเติบโตของตลาดเกมอาจจะชะงักจากที่ปี 2020 เติบโต 50%”
ปัจจุบัน คอลลี่มีการทำ Campaign ให้กับลูกค้าในไทยไปแล้วกว่า 500 campaign ภายในระยะเวลา 3 ปี โดย 70% เป็นลูกค้าไทย 30% เป็นลูกค้าต่างชาติ