ช้างออกบรรจุภัณฑ์ “Recyclable Pack” ชูเรื่องการใช้ซ้ำ และ ทิ้งถูกที่ นำร่องเป็นองค์กรเพื่อความยั่งยืนมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)


เครื่องดื่มตราช้าง ออก ช้าง โคลด์ บรูว์ “Recyclable Pack” บรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เรื่องการนำกลับมาใช้ซ้ำ ด้วยรูปลักษณ์สวยงาม วัสดุพรีเมียม ทนทาน เพิ่มความสะดวกสบายให้กลุ่มลูกค้า พร้อมชูแนวคิดเรื่องความยั่งยืนขององค์กร รณรงค์ให้เกิดพฤติกรรมการใช้ซ้ำ และ ทิ้งให้ถูกที่ อันเป็นหัวใจของการลดขยะเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ตั้งใจนำร่องเป็นก้าวแรกในฐานะภาคธุรกิจร่วมรับผิดชอบต่อสังคมด้วยบรรจุภัณฑ์ใหม่ ที่จะทำให้การรีไซเคิลเป็นเรื่องใกล้ตัว

ตลอดมา เครื่องดื่มตราช้าง หนึ่งในผู้นำตลาดเครื่องดื่ม (Beverage Industry) ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยยึดหลักแนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทาง ของ “ไทยเบฟ” ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ พร้อมดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมผ่านแนวทางหลัก ดังกล่าว ได้แก่

การบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์:

เพื่อลดปริมาณของเสียที่ต้องกำจัด และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยไทยเบฟ และบริษัทในเครือ จะใช้การใช้หลัก 3Rs ได้แก่ Reduce การลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ ขวด PET กระป๋องอลูมิเนียม และยังช่วยลดภาวการณ์เกิดโลกร้อน หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ที่ใช้กระบวนการย่อยตามเกณฑ์ที่กำหนด, Reuse การนำกลับมาใช้ซ้ำ โดยนำบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคกลับมาใช้ซ้ำในกระบวนการผลิต เช่น ขวดแก้ว ในปีนี้ได้ตั้งเป้าไว้ 80% ของยอดขายทั้งหมดที่จะนำกลับมาใช้ให้ได้มากที่สุด และ Recycle การนำบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคกลับมาใช้ใหม่ โดยนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต อาทิ ขวดแก้ว นำมาบดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่, ขวดพลาสติกใส (ขวด PET) นำมาแปรรูปเป็นเม็ดโพลีเอสเตอร์ผลิตเป็นเส้นใยถักทอเป็นผืนผ้า

การให้ความสำคัญในการคัดแยกขยะ:

โดยนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ โดยเริ่มต้นจากภายในองค์กรของไทยเบฟ และบริษัทในเครือ ให้พนักงานได้มีส่วนร่วมคัดแยกขยะในสำนักงาน นอกจากนี้ยังจัดตั้งโครงการคัดแยกขวดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ยกตัวอย่างโครงการ Can 2 Can: การเก็บกระป๋องเครื่องดื่มอลูมิเนียมจากผู้บริโภคกลับมาคัดแยก แล้วนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งในปี 63 สามารถเก็บกระป๋องอลูมิเนียมกลับมาได้ทั้งสิ้น 1,256 ตัน (89 ล้านใบ) หรือ 21% ของปริมาณทั้งหมดที่บริษัทจำหน่ายทั่วประเทศ รวมถึงการนำขวดแก้วกลับมาหมุนเวียนเพื่อใช้ซ้ำและรีไซเคิลถึง 82%

โดยล่าสุด “ช้าง โคลด์ บรูว์” หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ขายดี และมีภาพลักษณ์พรีเมียมโดนใจกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ มีการออกบรรจุภัณฑ์ใหม่ “ช้างโคลด์ บรูว์” Recyclable Pack ที่ตอบโจทย์ในเรื่องของรูปลักษณ์ ที่สวยงาม ทันสมัย และช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า และครั้งนี้ยังมาพร้อมคอนเส็ปเรื่องความยั่งยืน ที่ต้องการให้กลุ่มลูกค้าให้ความสำคัญของการนำกลับมา “ใช้ซ้ำ” และ “การทิ้งให้ถูกที่” โดยทุกบรรจุภัณฑ์จะมีการวาง คิว อาร์ โค้ด (QR Code) ที่ ช้าง ร่วมมือกับพันธมิตร ได้แก่ วน และ พรีเชียสพลาสติก (Precious Plastic) พัฒนาเป็นเว็ปไซต์ Bring Back Recycle ( http://www.bringbackrecycle.com ) เพื่อระบุพิกัดจุดคืนบรรจุภัณฑ์ (Drop point) ให้ลูกค้าทุกคนสามารถนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วมาทิ้งได้อย่างถูกที่ นำไปสู่การนำมา รีไซเคิลได้อย่างถูกวิธีอีกด้วย

คุณณรัชฏ์ วัชรเพชร์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่มตราช้าง กล่าวว่า

“เรามองว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น โดยหลังจากการ Launch บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว เรามีแผนที่จะวาง คิว อาร์ โค้ด (QR Code)ที่แสดงจุดคืนบรรจุภัณฑ์ (Drop point) ในทุกๆ ผลิตภัณฑ์ของเครื่องดื่มตราช้าง ในส่วนความคาดหวัง แน่นอนว่าเราต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้และคัดแยกขยะของกลุ่มลูกค้า (End Consumer) โดยเราเชื่อว่าโครงการนี้จะสามารถดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืนจนเห็นผลลัพธ์ดังกล่าวนั้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ธุรกิจขนาดใหญ่ ไปจนถึง ธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SME ทั่วประเทศ โดยแนวคิดเรื่องความยั่งยืนไม่ควรเป็นเพียงแค่เทรนด์ในสังคม หรืออยู่ในความรับผิดชอบของคนเฉพาะกลุ่ม แต่ควรเป็นหนึ่งในเป้าหมายของทุกๆ องค์กร เหมือนเป็นอีกหนึ่ง New normal ที่ทุกคนควรเปลี่ยน และทำมันอย่างยั่งยืน”

“ช้างโคลด์ บรูว์” Recyclable Pack มีวางจำหน่ายแล้วในร้านสะดวกซื้อ (7-11) ทั่วประเทศ จำนวน 100,000 ชิ้น โดยลูกค้าสามารถนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วมาส่งคืนที่จุดส่งคืนผลิตภัณฑ์ (Drop point) ในพิกัดที่มีมากถึง 439 จุด โดยบรรจุภัณฑ์ที่ถูกส่งคืนอย่างถูกที่ ถูกวิธีนี้ จะถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อนำไปรีไซเคิลผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อีกครั้ง หรือเพิ่มมูลค่าด้วยการผลิตเป็นสินค้าชนิดอื่น เป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และลดผลกระทบของบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคต่อสิ่งแวดล้อม