Google Earth โชว์ภาพถ่ายดาวเทียม “Timelapse” โลกเปลี่ยนไปอย่างไรในรอบ 36 ปี

ฟีเจอร์ใหม่จาก Google Earth ให้ทุกคนเข้าไปรับชมภาพ Timelapse ดูความเปลี่ยนแปลงบนพื้นโลก 36 ปี นับจากปี 1984 ถึง 2020 เห็นชัดเจนถึงการพัฒนาของเมือง การตัดไม้ทำลายป่า จนถึงเรื่องโลกร้อน โดยประเทศไทยมีภาพให้ชม 1 จุด คือ สนามบินสุวรรณภูมิ

Google Earth ออกภาพถ่ายดาวเทียมแบบ Timelapse ให้ผู้ใช้เข้าไปคลิกสำรวจด้วยตนเองได้ โดยโครงการนี้ต้องรวมภาพถ่ายดาวเทียมถึง 24 ล้านภาพ ตั้งแต่ปี 1984 ถึง 2020 และใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งของ Google Cloud ทำการปะติดปะต่อภาพเหล่านี้เป็นเวลา 2 ล้านชั่วโมง จนได้ออกมาเป็นฟีเจอร์ดังกล่าว

งานครั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือสารพัดราย โดย Google ร่วมมือกับองค์การ NASA, โครงการ Landsat สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา, โครงการ Copernicus ของสหภาพยุโรปซึ่งเป็นเจ้าของดาวเทียม Sentinel รวมถึง CREATE แล็บของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ซึ่งให้ความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีการทำภาพ Timelapse

ผลสำเร็จของฟีเจอร์คือภาพ Timelapse จำนวน 189 ภาพจากทั่วโลก โดยแบ่งออกเป็น 10 หมวดย่อย คือ แหล่งเกษตรกรรม, การตัดไม้ทำลายป่า, ธารน้ำแข็ง, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, มหานคร, ความเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นตา, เหมือง, ภัยธรรมชาติ, การเจริญเติบโตของเมือง และ การเปลี่ยนแปลงเส้นทางน้ำ

มีภาพที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น มหานครดูไบ UAE ซึ่งเนรมิตแผ่นดินรูปต้นปาล์มยื่นลงไปในทะเล

Cr: Google Earth

การตัดป่าเพื่อหาพื้นที่ทำไร่ถั่วเหลืองในซาน ฆูเลียน ประเทศโบลิเวีย ในรอบ 3 ทศวรรษ ป่าแทบจะหายไปหมดเพื่อเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

Cr: Google Earth

หรือการทำเหมืองถ่านหินในมองโกเลีย ประเทศจีน จากพื้นที่ธรรมชาติกลายเป็นเหมืองขนาดมหึมาเพื่อตอบรับความต้องการ โดยปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ส่งออกพถ่านหินมากที่สุดในโลก

Cr: Google Earth

รวมถึงภาพจากประเทศไทย 1 แห่งคือ “สนามบินสุวรรณภูมิ” ทำให้เห็นทั้งการเกิดขึ้นของสนามบินบนพื้นที่เดิมที่ยังเป็นท้องทุ่ง และความเจริญที่เกิดขึ้นโดยรอบตามมา

Cr: Google Earth

Google กล่าวว่า บริษัทหวังว่าภาพเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในภาคส่วนต่างๆ เช่น รัฐบาล นักวิจัย นักข่าว คุณครู และใครก็ตามที่ต้องการวิเคราะห์ภาพเหล่านี้ ต้องการจะชี้ให้เห็นเทรนด์ หรือข้อสังเกตจากภาพ

“เราขอเชิญชวนใครก็ตามที่ต้องการนำ Timelapse ไปใช้และส่งต่อให้กับคนอื่นๆ ไม่ว่าคุณจะรู้สึกประหลาดใจกับแนวชายฝั่งที่เปลี่ยนไป หรือกำลังติดตามการเติบโตของมหานคร หรือติดตามการตัดไม้ทำลายป่าอยู่ก็ตาม” รีเบคคา มัวร์ ผู้อำนวยการของ Google Earth กล่าว

“Timelapse คือการถอยมามองภาพกว้าง เพื่อประเมินสุขภาพและความน่าอยู่อาศัยของบ้านหลังเดียวที่เรามี และจะเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้และให้แรงบันดาลใจเพื่อปฏิบัติจริงต่อไป”

คลิกเข้าไปสำรวจ Google Earth Timelapse กันได้ที่นี่

Source: CNN