รู้จัก STS แพลตฟอร์มพิเศษ ที่ “กลุ่มทรู” พัฒนาเพื่อดูแลกลุ่ม “ออทิสติก” เป็นพิเศษ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกปัจจุบันเราได้พบเจอกับบุคคลที่มีความแตกต่างทั้งทางด้านกายภาพ และจิตใจ หลายคนเกิดมาพร้อมกับความสมบูรณ์ของอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย แต่บางคนเกิดมาพร้อมกับความบกพร่องบางส่วนของร่างกาย แต่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข

นอกจากความพิการทางด้านร่างกายแล้ว เราสามารถพบเห็นกลุ่มคนที่มีความบกพร่องในทักษะทางสังคมและการสื่อสาร โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลออทิสติก ให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติได้ เพียงแค่มอบความเข้าใจและการยอมรับในศักยภาพของพวกเขาเท่านั้นเอง

สร้างความตระหนักแก่ “กลุ่มออทิสติก” 

ในวันที่ 2 เมษายนของทุกปี องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้กำหนดให้เป็นวันตระหนักรู้ออทิสติกโลก หรือ World Autism Awareness Day ในปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ 14 แล้ว โดยมีแนวคิดบนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า เมื่อโลกมีความตระหนักรู้ และมีความเข้าใจภาวะบุคคลออทิสติก ก็จะส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการรณรงค์ส่งเสริม ระบบสุขภาวะที่ดีให้กับประชากรโลกอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

รวมทั้งเป็นการเพิ่มระดับของการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับภาวะออทิสซึ่มทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลออทิสติกได้แสดงศักยภาพอันโดดเด่น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการ ความเข้าใจ เกิดความเคารพ และการยอมรับความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันจากทุกคนสังคมต่อบุคคลออทิสติก

ปีนี้ UN ให้นโยบายในวันออทิสติกโลก เกี่ยวกับความห่วงใยในการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการกระจายรายได้ และความมั่งคั่งการเข้าถึงการดูแลสุขภาพการคุ้มครองภายใต้กฎหมาย และการกีดกันทางการเมือง

บุคคลที่เป็นโรคออทิสติกต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมกันมานานแล้ว ซึ่งยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นอีกจากการแพร่ระบาด เป็นปัญหาที่เลวร้ายยิ่งขึ้นจากแนวทางการจ้างงานที่เลือกปฏิบัติ และสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับบุคคลออทิสติก ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิดการว่างงาน หรือการทำงานที่ไม่เหมาะสมอย่างรุนแรงของผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ในความสามารถของออทิสติก

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิคนพิการยังให้การยอมรับ “สิทธิของคนพิการในการทำงานบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับผู้อื่น” และ “สภาพแวดล้อมการทำงานที่เปิดกว้างครอบคลุมและเข้าถึงได้สำหรับคนพิการ”

“กลุ่มทรู” ขอใช้เทคโนโลยีดูแลกลุ่มคนพิเศษ

ยิ่งในยุคโลกาภิวัฒน์ การพัฒนาเทคโนโลยีในการเข้าถึงสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น และมีชีวิตที่ดีขึ้น การที่ใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือกลุ่มคนพิเศษจึงเป็นภารกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของ “กลุ่มทรู” เรียกว่าเป็นการดูแลผู้คนในทุกกลุ่ม ทุกประเภทในสังคมไทยเลยทีเดียว

ในปีนี้ “กลุ่มทรู” ได้ร่วมกับ “มูลนิธิออทิสติกไทย” พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ ซึ่งเป็นครั้งแรกของกลุ่มคนเปราะบางในประเทศไทย ที่มีชื่อว่า STS (Screening Tools for Special Needs) แพลตฟอร์มการสำรวจ และคัดกรองเบื้องต้น สำหรับบุคคลที่มีความจำเป็นพิเศษเพื่อช่วยให้กลุ่มคนเปราะบางอย่างกลุ่มออทิสติก ได้มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงทีและรับสิทธิพื้นฐานที่เท่าเทียม

โดยแพลตฟอร์ม จะทำหน้าที่ใน 2 ส่วนคือ

ส่วนที่ 1 :  สำหรับผู้ไม่มีบัตรคนพิการ  ใช้สำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะเสี่ยง ผ่านแบบคัดกรอง 40 ข้อ เพื่อประเมินภาวะความเสี่ยงเบื้องต้น ได้แก่ สมาธิสั้น เรียนรู้ช้า สติปัญญา และออทิสติก ซึ่งจะเป็นข้อมูลในการช่วยตัดสินใจให้กับผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ในการนำผู้มีความเสี่ยงเข้าพบแพทย์และเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งยังช่วยให้บุคคลออทิสติกได้เข้าถึงบริการ สวัสดิการ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ดีขึ้นอย่างเท่าเทียม

ส่วนที่ 2 : สำหรับผู้มีบัตรคนพิการ ใช้สำหรับผู้ที่มีบัตรคนพิการ เพื่อสำรวจ และเก็บข้อมูลที่จำเป็นต่อการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ ให้เข้าถึงรัฐสวัสดิการได้อย่างทั่วถึง รวมถึงเป็นฐานข้อมูลสำคัญเพื่อการจ้างงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในอนาคตได้อีกด้วย

แพลตฟอร์มนี้สำคัญอย่างไร… จากสถิติพบว่า จำนวนเด็กออทิสติกทั่วโลก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงในอัตรา 1:54 ของประชากรวัยเด็ก ส่วนในประเทศไทยปัจจุบันมีเด็กออทิสติกมากกว่า 300,000 คน แต่อยู่ในระบบการรักษา และสวัสดิการของรัฐไม่ถึง 8% หรือประมาณ 15,000 คนเท่านั้น อีกกว่า 92% ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาที่มีคุณภาพ และสวัสดิการ

เพราะฉะนั้นต้นเหตุของปัญหานี้ก็คือ การขาดระบบจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ทำให้บุคคลออทิสติก ขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ และทักษะอาชีพ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการที่จะช่วยให้บุคคลออทิสติก และครอบครัวสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยืน

กลุ่มออทิสติกเข้าถึงสวัสดิการได้อย่างเท่าเทียม

กลุ่มทรูได้พัฒนาแพลตฟอร์ม STS ขึ้น เพื่อรวบรวมข้อมูล ณ ปัจจุบัน ของบุคคลออทิสติกทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้บุคคลออทิสติกได้เข้าถึงบริการ สวัสดิการ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ดีขึ้นอย่างเท่าเทียม

การดำเนินการของแพลตฟอร์มนี้ จะอยู่ในรูปแบบของเว็บไซต์ สามารถใช้งานได้ผ่านทาง โทรศัพท์มือถือทุกระบบ และคอมพิวเตอร์ มีการแสดงผล และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยระบบ Dashboard สำหรับเจ้าหน้าที่ชมรมออทิสติกแต่ละจังหวัด ภายใต้เครือข่ายของมูลนิธิออทิสติกไทย เป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บ และอัพเดทข้อมูลในเขตรับผิดชอบของตัวเอง

สามารถสำรวจข้อมูลพื้นฐาน จำนวน และตำแหน่งที่อยู่ ของบุคคลออทิสติกทั่วประเทศ ใช้ข้อมูลนี้สามารถต่อยอด ส่งเสริมอาชีพ ได้ตรงตามความสามารถ และทักษะ รวมถึงจัดสรรสวัสดิการ ได้ตรงตามความต้องการของบุคคลออทิสติก

บุคคลทั่วไป และผู้มีบัตรคนพิการ สามารถลงทะเบียนใช้ แพลตฟอร์มได้ด้วยตัวเอง ผ่าน www.autisticthsi.com โดยฐานข้อมูลจัดเก็บที่มูลนิธิออทิสติกไทย

ประเมินเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง

ในแง่การใช้งานแพลตฟอร์มนี้เป็นเสมือนทางผ่านที่จะช่วยคัดกรองบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ จะมีทั้งหมด 2 ขั้น คือ

  1. แบบทดสอบเบื้องต้น เพื่อคัดกรองผู้มีความเสี่ยงที่จะเป็น สมาธิสั้น เรียนรู้ช้า สติปัญญา และออทิสซึม
  2. แบบทดสอบเชิงลึก เพื่อคัดกรองความเสี่ยเชิงลึกเฉพาะด้านที่ผู้ทำแบบทดสอบมีความเสี่ยงที่จะเป็น พร้อมกับการเก็บข้อมูลเพื่อการติดตามผลและส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่ม

แพลตฟอร์มนี้ยังเหมาะสำหรับพ่อแม่ หรือผู้ดูแล ที่สงสัยว่าบุตรหลานของตนเองเข้าข่ายว่าเป็นบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษหรือไม่ ซึ่งอาจจะไม่สะดวกไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการที่โรงพยาบาลได้ ก็สามารถเข้าไปทำการคัดกรองออนไลน์เบื้องต้นด้วยตนเองได้

หากทำแบบทดสอบเชิงลึก แล้วได้รับผลประเมินว่าเป็นบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ  ผู้ทำแบบทดสอบจะมีข้อมูลเบื้องต้นที่สามารถนำไปปรึกษาแพทย์ พร้อมรับการวินิจฉัย และเข้าสู่กระบวนการลงทะเบียน ออกบัตรคนพิการ เพื่อเข้ารับสวัสดิการของภาครัฐ และเอกชนได้ตรงตามความสามารถ และความต้องการอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นบุคคลกลุ่มไหน ทุกคนมีคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ควรได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงสวัสดิการอย่างเท่าเทียมกันเช่นกัน ก่อนหน้านี้เราได้เห็นกลุ่มทรูพัฒนาเทคโนโลยีที่หลากหลาย ใช้เทคโนโลยี True 5G ในการช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่กลุ่มทรูก็ไม่ลืมที่จะใช้เทคโนโลยี ช่วยเหลือกลุ่มคนพิเศษที่เป็นกลุ่มเปราะบางอย่างกลุ่มออทิสติก เพื่อให้พวกเขาอยู่ร่วมกับสังคมไทยได้อย่างเท่าเทียมไปด้วยกัน