โควิดสะเทือน ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ ไตรมาส 1/64 ลูกค้า-ยอดขายต่อสาขาลดลง กำไรวูบ 75%

Photo : Shutterstock
พิษโควิด สะเทือนร้านสะดวกซื้อ ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ (7-Eleven) เเม้ไม่ได้หยุดบริการ เผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปีนี้ มีรายได้และกำไรลดลง เเต่ขอมุ่งลงทุน 1.15-1.2 หมื่นล้านบาท เปิดสาขาใหม่อีก 700 สาขาตามเเผนเดิม

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ผลประกอบการประจำไตรมาส 1 ปี 2564 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า มีรายได้รวม 133,431 ล้านบาท ลดลง 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ส่วน กำไรสุทธิอยู่ที่ 2,599 ล้านบาท หรือ 0.26 บาทต่อหุ้น ลดลง 53.95% จากไตรมาส 1 ของปี 2563 ที่มีกำไร 5,645 ล้านบาท หรือ 0.60 บาทต่อหุ้น

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้รายได้ของ CPALL ลดลงคือยอดขายเเละและบริการในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ‘เซเว่น อีเลฟเว่น ที่ลดลง จากผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบทางลบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยอีกครั้งโดยเฉพาะในเดือนม.. ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย กำลังซื้อลดลง รวมถึงการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ยังมีภาระดอกเบี้ยจ่ายจากเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้จากธุรกิจร้านสะดวกซื้อและธุรกิจอื่นๆ คิดเป็น 61% และธุรกิจค้าส่งแม็คโคร 39% ส่วนกำไรจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อและธุรกิจอื่นๆ มีสัดส่วน 40%  กำไรจากธุรกิจค้าส่งแม็คโคร สัดส่วน 60%

เมื่อเจาะลงไปในเซเว่น อีเลฟเว่นในไตรมาส 1/64 มีรายได้ราวจากการขายสินค้าและบริการ รวม 70,450 ล้านบาท ลดลง 15% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 947 ล้านบาท ลดลงถึง 75.4%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

จำนวนลูกค้าลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 845 คนต่อวัน และมียอดใช้จ่ายต่อบิลประมาณ 77 บาท ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อร้านต่อวันอยู่ที่ 65,024 บาท และยอดขายเฉลี่ยของร้านสาขาเดิมลดลง 17.1%

ที่ผ่านมาเซเว่น อีเลฟเว่น ได้ขยายไปยังช่องทางการขายใหม่ๆอย่าง 7-Eleven Delivery, All Online และ 24Shopping แต่ก็ชดเชยรายได้ได้เพียงบางส่วน โดยได้เปิดสาขาใหม่ไปทั้งหมด 155 สาขา แบ่งเป็นร้านสาขาบริษัท 131 สาขา สาขา SBP และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 24 สาขา ทำให้มีสาขารวม 12,587 สาขา

สำหรับเเผนปีนี้ CPALL ยังคงยืนยันจะเดินหน้าลงทุนตามเเผนเดิม โดยตั้งเป้าจะเปิดร้านสะดวกซื้อสาขาใหม่อีกประมาณ 700 สาขา ใช้งบลงทุนประมาณ 11,500-12,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

เปิดร้านสาขาใหม่ 3,800-4,000 ล้านบาท

ปรับปรุงร้านเดิม 2,400-2,500 ล้านบาท

โครงการใหม่ บริษัทย่อย และศูนย์กระจายสินค้า 4,000-4,100 ล้านบาท

สินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300-1,400 ล้านบาท

CPALL มองแนวโน้มธุรกิจค้าปลีกในปี 2564 ว่าสถานการณ์โควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบในเชิงลบต่อรายได้และค่าใช้จ่าย ยังมีความไม่เเน่นอนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและการดำเนินธุรกิจ จึงต้องปรับตัวตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา

อ่านรายละเอียด : SET