ส่องเทรนด์การลงทุน: ลงทุนในอนาคตกับนวัตกรรมกลุ่มสุขภาพทั่วโลกที่พร้อมมุ่งสู่การเติบโต

โดยคุณยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย

เมกะเทรนด์ (Megatrends) คือพลังการเปลี่ยนแปลงที่จะพลิกโฉมเศรษฐกิจธุรกิจสังคมวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของผู้คนบนโลกในอนาคต หากเราทราบถึงเทรนด์แห่งโลกอนาคตและสามารถลงทุนในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลเชิงบวกในการลงทุนจากเมกะเทรนด์เหล่านี้ จะทำให้นักลงทุนสามารถคว้าโอกาสการเติบโตจากการลงทุนระยะยาวได้ คุณยุทธชัยเตยะราชกุลรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย แสดงมุมมองถึงปัจจัยในการขับเคลื่อนธุรกิจกลุ่มสุขภาพทั่วโลกซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ธนาคารยูโอบีวิเคราะห์ว่าจะได้รับประโยชน์จากเมกะเทรนด์ตลอดจนการพิจารณาถึงความเสี่ยงในการลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่มสุขภาพทั่วโลก

ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่กำหนดอนาคตของกลุ่มสุขภาพทั่วโลก

การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ:การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรที่มีแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นจะเพิ่มความต้องการด้านสุขภาพโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ปี 2563มีประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีจำนวน727 ล้านคนทั่วโลกและธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่าตัวเลขประชากรสูงอายุทั่วโลกจะมีจำนวนมากขึ้นเป็นสองเท่าภายในอีกสามทศวรรษด้วยจำนวนถึง 1.5 พันล้านคนในปี 2593 ส่งผลให้ทรัพยากรด้านสุขภาพและผู้ให้บริการด้านการดูแลเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นจึงมีการคาดการณ์ถึงค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลกว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9ในอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ระหว่างปี 2563-2567 และคาดว่าแนวโน้มนี้จะเพิ่มขึ้นในอีก 30 ปีข้างหน้าเมื่อความต้องการในบริการด้านการดูแลสุขภาพยารักษาโรค และอุปกรณ์ทางการแพทย์ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ความก้าวหน้าและนวัตกรรมทางการแพทย์ช่วยกระตุ้นกระแสการดูแลสุขภาพ:ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้เกิดแนวทางการรักษาใหม่ๆ อาทิ การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immuno-oncology) คือการใช้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อรักษาโรคมะเร็ง รวมถึงอีกหนึ่งนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากคือการบำบัดโรคด้วยเซลล์ (Cell therapy)ซึ่งเป็นการปลูกถ่ายเซลล์ที่แข็งแรงให้กับผู้ป่วยที่มีเซลล์บกพร่อง และยีนบำบัด (Gene therapy) นวัตกรรมที่สามารถแก้ไขยีนที่ผิดปกติได้ และมีแนวโน้มที่ใช้รักษาโรคร้ายแรงได้กว่า 100 โรค

ประกอบกับเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และนวัตกรรมหุ่นยนต์ที่ช่วยผ่าตัด เป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในการแพทย์เพิ่มมากขึ้น อาทิ การนำ มาใช้เพื่อประมวลข้อมูลจำนวนมหาศาลในการวินิจฉัยโรค ซึ่งสามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็วกว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่มากด้วยประสบการณ์ในขณะที่นวัตกรรมหุ่นยนต์ผ่าตัด โดยใช้แขนกลในการผ่าตัดซึ่งช่วยให้ทีมแพทย์สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดของการผ่าตัดในบริเวณที่ซับซ้อนได้แม่นยำยิ่งขึ้น นวัตกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่จะช่วยให้การรักษาพยาบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

และแม้ว่าจะมีการคาดการณ์เกี่ยวกับการเติบโตของกลุ่มสุขภาพทั่วโลกในอีกสามปีข้างหน้า แต่อุตสาหกรรมนี้ก็ยังมีปัจจัยความเสี่ยงที่นักลงทุนควรระมัดระวัง

  • นโยบายและกฎระเบียบของสหรัฐอเมริกา – ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเคยกล่าวไว้ในขณะหาเสียงว่า เขาจะนำกฎหมายประกันสุขภาพ Affordable Care Act (ACA) หรือโอบามา แคร์ กลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์มุ่งเน้นไปในเรื่องของราคาที่ย่อมเยาว์ และมีการกำหนดเพดานราคาของการให้บริการทางการแพทย์ซึ่งจะเป็นการจำกัดการเติบโตของกลุ่มให้บริการด้านสุขภาพ
  • การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ – ความต้องการด้านการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะที่จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้มีจำนวนเพิ่มตามเป็นปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการคาดการณ์ไว้ว่าปัญหาการขาดแคลนนี้อาจส่งผลเสียในระยะยาวต่อการดูแลผู้ป่วยใน-ผู้ป่วยนอกการดูแลผู้สูงอายุและบริการดูแลสุขภาพทางไกล
  • ระยะเวลาในการพัฒนาที่ยาวนานและค่าใช้จ่ายสูง – ยาบางตัวที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพัฒนา อาจไม่ได้นำมาใช้จริงและการรักษาบางอย่างต้องใช้เวลานานกว่าที่คาด ซึ่งอาจกระทบต่อผลประกอบการขององค์กร

นักลงทุนควรลงทุนในกลุ่มสุขภาพทั่วโลกในระยะยาว จากปัจจัยขับเคลื่อนเชิงโครงสร้างที่สนับสนุนการเติบโตมูลค่า และอัตราการเติบโตของกลุ่มหุ้นสุขภาพยังคงน่าสนใจเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) หรือกลุ่มพลังงาน  นักลงทุนควรปรึกษาผู้จัดการลงทุนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการคัดเลือกหุ้นที่มีศักยภาพในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้

ธนาคารยูโอบี เป็นธนาคารที่มุ่งเน้นให้นักลงทุนเข้าใจความเสี่ยงในการลงทุน เราแนะนำให้นักลงทุนสร้างสมดุลของพอร์ตการลงทุน และกระจายการลงทุนไปยังหลากหลายสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือนักลงทุนควรลงทุนตามความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ ประเมินระดับความเสี่ยงที่ท่านยอมรับได้ และพิจารณาความเสี่ยงของการลงทุนก่อนผลตอบแทน

ที่มาข้อมูล: UOB Market Outlook 2021