“มาเลเซีย” แยกศูนย์ฉีด “AstraZeneca” ไม่รวมในวัคซีนโครงการหลัก แก้ปัญหาความกังวล

(Photo : Shutterstock)
“มาเลเซีย” เร่งแก้ปัญหาความวิตกกังวลของประชาชนหลังมีข่าวผลข้างเคียงลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้รัฐบาลตัดสินใจ “แยก” วัคซีนยี่ห้อนี้ออกจากโครงการหลัก มีศูนย์ฉีดให้โดยเฉพาะสำหรับประชาชนที่พิจารณาข้อดีข้อเสียแล้วและสมัครใจฉีด AstraZeneca

สำนักข่าว Channel News Asia รายงานจากเวทีแถลงข่าวของรัฐบาลมาเลเซีย ประกอบด้วย “ไครี จามาลุดดิน” รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ร่วมด้วย “อัดฮัม บาบา” รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข โดยไครีกล่าวว่า วัคซีน AstraZeneca จะไม่ถูกใช้งานในโครงการวัคซีนหลักของชาติ

ไครีระบุว่า แม้ผู้เชี่ยวชาญจะพบว่าประโยชน์ของการใช้วัคซีน AstraZeneca จะมีน้ำหนักมากกว่าความเสี่ยงของผลข้างเคียงลิ่มเลือดอุดตันก็ตาม แต่รัฐบาลก็รับฟังความกังวลและความคลางแคลงใจของสังคมที่มีต่อวัคซีนยี่ห้อนี้

“ต่อประเด็นนี้ ผมและดร.อัดฮัมได้หารือกันอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับการใช้งานวัคซีน AstraZeneca เราไม่ต้องการจะปล่อยให้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เราเข้าใจดีว่าในขณะนี้วิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริงไม่อาจเอาชนะความกลัวและข่าวปลอมที่แพร่กระจายไปทั่วแล้ว” ไครีอธิบาย

“จากการหารือของเรา เราตัดสินใจว่าจะยังคงใช้วัคซีน AstraZeneca ต่อไป แต่ในขณะเดียวกันก็รับมือกับความกลัวและความกังวลของประชาชนที่มีต่อ AstraZeneca แม้จริงๆ แล้วจะไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของวิทยาศาสตร์เลยก็ตาม”

Photo : Shutterstock

ดังนั้น รัฐบาลมาเลย์จะมีศูนย์ฉีดวัคซีนพิเศษที่ใช้วัคซีน AstraZeneca เท่านั้น และวัคซีนยี่ห้อนี้จะไม่รวมอยู่ในโครงการวัคซีนหลักของรัฐ

“เราจะเปิดศูนย์นี้สำหรับผู้ที่สมัครใจฉีด หลังจากบุคคลนั้นได้ศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ AstraZeneca แล้วและต้องการจะลงทะเบียนในศูนย์พิเศษเพื่อรับวัคซีนตัวนี้” ไครีกล่าว

ทั้งนี้ The Strait Times รายงานว่า ปัจจุบันมาเลเซียเริ่มใช้วัคซีนแล้ว 2 ชนิด ได้แก่ Pfizer-BioNTech และ Sinovac ส่วนวัคซีน AstraZeneca เพิ่งส่งมอบ ขณะที่วัคซีน CanSino จากจีนอยู่ระหว่างพิจารณารับรอง และเป็นวัคซีนความหวังสำหรับพื้นที่ชนบทห่างไกล เพราะฉีดเพียงแค่โดสเดียวก็เพียงพอ

แทนที่จะเสียวัคซีนนี้ไปโดยเปล่าประโยชน์ถึง 268,600 โดส วัคซีนชุดนี้จะถูกนำไปกระจายในรัฐสลังงอร์และเขตปกครองกัวลาลัมเปอร์แทน โดยวัคซีนชุดนี้เป็นลอตแรกที่รัฐบาลมาเลย์ได้มาจากการซื้อผ่านโครงการ COVAX และลอตต่อไปจะมาถึงในเดือนพฤษภาคมนี้

ไครียังย้ำอีกครั้งว่า อัตราการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากการฉีด AstraZeneca มีเพียง 4 เคสต่อ 1 ล้านโดสเท่านั้น เปรียบเทียบกับคนที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันเนื่องจากติดเชื้อโรค COVID-19 ที่เกิดขึ้น 165,000 คนต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ 1 ล้านคน หรือเกิดขึ้นกับคนที่สูบบุหรี่ 1,763 คนต่อผู้สูบบุหรี่ 1 ล้านคน

มาเลเซียวางเป้าจะฉีดวัคซีนให้ถึง 80% ของประชาชนภายในสิ้นปีนี้ นั่นหมายถึงจะต้องฉีดวัคซีนให้คนอย่างน้อย 26.7 ล้านคน แต่ขณะนี้รัฐบาลกำลังวิตกเพราะมีชาวมาเลย์ลงทะเบียนต่อคิวรับการฉีดเพียง 1 ใน 4 ของประชากร อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวัคซีนยังมีซัพพลายเข้ามาน้อยกว่าดีมานด์ รัฐบาลจึงยังรอดูสถานการณ์ต่อไปก่อน

Source: CNA, The Strait Times