N8+C3 ขลังพอโนเกียจะกลับมามั้ย?

Nokia N8 ถือเป็นความพยายามของโนเกีย รวมฟังก์ชันที่เป็นไฮไลต์เด็ดแห่งปีของมือถือโนเกียไว้มากที่สุดในรุ่นเดียว “กล้องความละเอียด 12 ล้านพิกเซล” และ “HDMI” รวมทั้งระบบปฏิบัติการล่าสุด “Symbian3” เป็นคาถาที่โนเกียเชื่อว่าจะสร้างความฮือฮากลับมาให้กับแบรนด์โนเกียที่กำลังถูกดิสเครดิตอย่างหนักว่า ถึงจะเป็นผู้นำแต่ก็เป็นแบรนด์ที่ลดความขลังไปแล้ว โดยเฉพาะการเสียแฟนกลุ่มสมาร์ทโฟนหรือมือถือระดับบนให้กับแบล็คเบอร์รี่ ไอโฟน และมือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ของกูเกิล อีกหลายยี่ห้อ แต่การทุ่มสุดตัวกับ Nokia N8 ทำไปทำมาดูเหมือนว่าตัวช่วยอย่าง Nokia C3 กลับเป็นนางรองที่สร้างกระแสได้ดีกว่าเสียอย่างนั้น

N8พระเอกแห่งปี

ในแต่ละปีมือถือแต่ละค่ายเปิดตัวกันไม่ต่ำกว่าหลายสิบรุ่น แต่ที่ถือเป็นรุ่น Flagship จริงๆ ก็มีกันแค่เซ็กเมนต์ละรุ่นสองรุ่น และปีนี้โนเกียก็ประกาศที่จะวางรุ่นที่เป็นสุดยอดของปีไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน ก่อนจะมาเปิดตัวกันจริงในเดือนตุลาคมนี้ ไล่ๆ กันทั่วโลก

Nokia N8 คือรุ่นที่พูดถึงนี้ รุ่นที่แม้แต่ ชูมิท คาพูร์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด ถึงกับบอกว่า “รุ่นนี้จะสร้างความฮือฮากลับมาให้กับโนเกีย” ก่อนจะย้ำอีกครั้งในวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา ว่า โนเกียทุ่มเทกับรุ่นนี้เพราะตลาดสมาร์ทโฟนกำลังเติบโตสูง เป็นรุ่นที่คนจับตาและเกิดมาในฐานะที่เป็นตัว Top End ที่โนเกียต้องทำให้ดีที่สุด

ขณะที่ คริส คาร์ ผู้จัดการทั่วไป รองประธานฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตะวันออกเฉียงใต้ของโนเกีย ที่มาช่วยให้ข้อมูลในงานเปิดตัวที่สยามพารากอน ก็ให้ข้อมูลสนับสนุนไปในทิศทางเดียวกันว่า N8 จะเป็นตัวที่เรียกแฟนโนเกียกลับมาได้ด้วยการตอบโจทย์ของมือถือยุคนี้อย่างครอบคลุมที่สุด

“ตลาดมือถือยุคนี้เข้าสู่ยุค Internet Content การซื้อสมาร์ทโฟนก็เหมือนซื้อประสบการณ์ใหม่ที่จะทำให้ผู้ใช้เชื่อมต่อ สร้างความบันเทิง อัพเดตสถานะ แชร์โลเกชั่น และเข้าสู่การใช้งานมัลติมีเดียได้ทุกที่ และระบบซิมเบียนใน N8 เป็นระบบปฏิบัติการที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก ตอนนี้รวม 310 ล้านเครื่องนับตั้งแต่โนเกียออกระบบปฏิบัติการซิมเบียนครั้งแรกในรุ่น 7650”

ถ้าถามทุกคนในโนเกียว่าเพราะอะไร แต่ละคนก็จะจาระไนคุณสมบัติต่างๆ ที่ใส่เข้ามาในรุ่นนี้อย่างเต็มที่ แม้รุ่นอื่นๆ ที่จะตามมาจะปรับแบบไปจากรุ่นนี้ อย่าง E7 ที่มีแผนจะเปิดตัวปลายปี แต่ฟังก์ชันก็จะไม่ได้รวมทุกสิ่งที่ถือเป็นที่สุดไว้มากเท่ารุ่นนี้ เช่นในส่วนของกล้อง E7 ก็ยังแค่ 8 ล้านพิกเซล ขณะที่ N8 เปิดตัวด้วยกล้องขนาด 12 ล้านพิกเซล การมีช่องต่อ HDMI ที่สามารถให้ภาพความละเอียดสูงแบบ Full HD ผ่านจอภาพได้เลยเพียงเชื่อมต่อกับมือถือ หรือการเป็นตัวแรกที่เปิดตัวพร้อมระบบปฏิบัติการซิมเบียน 3

นอกจากบอกข่าวล่วงหน้าก่อนเปิดตัวไม่ต่ำกว่าครึ่งปี N8 ยังเป็นรุ่นที่ใช้งบเปิดตัวสูงสุดของปี และมีการลอนช์เป็นขั้นเป็นตอน ทั้งกับกลุ่มแฟนคลับเดิมๆ ของโนเกีย และขยายไปยังกลุ่มใหม่ๆ ตามฟังก์ชันที่เพิ่มเติมเข้ามา

“ผมตื่นเต้นกับรุ่นนี้มาก เราเคยใช้กล้องถ่ายรูป SLR ถ่ายหนังมาบ้าง แต่พอมาลองกับกล้องที่อยู่ในมือถือ มันจะเป็นไปได้หรือเปล่า แต่รุ่นนี้ใช้ถ่ายหนังได้คุณภาพไม่ต่างกันเลย” ปวีณ ภูริจิตปัญญา ผู้กำกับเรื่อง 5 แพร่ง จากค่าย GTH กล่าว

ปวีณถือเป็นตัวแทนที่โนเกียเลือกมาเพื่อเป็นผู้ไฮไลต์คุณสมบัติของกล้องและ HDMI ของ N8 พร้อมกับเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Clip Marketing บนเฟซบุ๊ก ซึ่งจะเป็นกิจกรรมให้คนหันมารู้จักกับฟังก์ชันเหล่านี้บนมือถือโนเกียมากขึ้น ภายใต้แคมเปญแบบ Interactive Action Movie เป็นโปรโมชั่นที่ชวนผู้สนใจมาอัพคลิปที่ตัวเองถ่ายทำไว้เองมาประชันกันบนเฟซบุ๊ก

N8 Strategic Launch

ก่อนหน้าวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ N8 เป็นกระแสมาอย่างต่อเนื่อง เทียบแล้วอาจจะไม่ดังเท่า iPhone 4 ไม่ถึงกับตั้งตาคอย แต่การเปิดให้จองเครื่องก่อนเปิดตัวราว 2-3 สัปดาห์จำนวน 800 เครื่อง พร้อมกับของแถมเป็นพรินเตอร์แคนนอนมูลค่า 4 พันบาท ก็สามารถทำให้ยอดจองหมดลงภายใน 3 ชั่วโมง ซึ่งชาวโนเกียถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว และถือว่านี่คืออัตราการจองที่ “เร็วมาก” แม้ถ้าเทียบกับ iPhone 4 ซึ่งมียอดจองของโอเปอเรเตอร์ 3 ค่ายรวมกัน ทั้งเอไอเอ ดีแทค และทรู วันเดียว 8,000 เครื่อง ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนถึงช่วงบ่าย ประมาณเวลารวมกันสัก 12-15 ชั่วโมง ก็มียอดจองเฉลี่ยชั่วโมงละ 500-600 เครื่อง

ฉะนั้นต้องถือว่าโนเกียทำสถิติการจองได้ไม่น้อยหน้าสมาร์ทโฟนคู่แข่งสักเท่าไร แม้ว่าช่วงเปิดจองจะมีเสียงลอยลมเข้าหูโนเกียให้สะเทือนใจเล่นว่า Nokia N8 ราคาจอง 16,500 ไม่เอาของแถมแต่ยอมเพิ่มอีก 4 พัน ไปซื้อไอโฟน 4 ดีกว่าก็ตามที

สำหรับการเปิดตัว ขั้นตอนการ Launch ว่าไปแล้วไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก คือแบ่งหลักๆ เป็น 3 เรื่อง ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ การตลาด และเรื่องโฆษณา แต่พิถีพิถันกว่าเพราะเป็นรุ่นที่คาดหวังสูง
ส่วนของการประชาสัมพันธ์ เริ่มต้นตั้งแต่หนึ่งเดือนล่วงหน้าก่อนเปิดตัว โนเกียเริ่มทำ Soft Launch ด้วยการจัดเวิร์คช็อป ให้กับกลุ่มบล็อกเกอร์และสื่อมวลชนสายไอที

“เรามีบล็อกเกอร์เวิร์คช็อป ต่อจากนั้นสักพักก็ตามด้วยบิลล์บอร์ด เริ่มแมสขึ้น แล้วก็มาถึงการจัดงานแถลงข่าวเปิดตัว พอสักอาทิตย์หนึ่งข่าวออก ก็จะตามด้วย TVC ในช่วงที่เปิดขาย”

เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของโนเกียเปิดเผยขั้นตอนการวางตลาด N8 ซึ่งต้องนับจังหวะให้แต่ละกิจกรรมทำงานร่วมกันหรือส่งต่อกันอย่างให้ได้ผล ช่วงของการตลาดในส่วนของการเปิดจองเครื่องก็แทรกเข้ามาหลังบล็อกเกอร์เวิร์คช็อปไม่นาน ประมาณว่าข้อมูลเดินทางถึงผู้บริโภค มีการบอกต่อ ก็จะเริ่มเห็นหน้าตาบนบิลล์บอร์ด แล้วก็เปิดจองได้เลย

“กลุ่มคนที่เข้ามาจองมีหลายกลุ่ม เพราะทุกคนรู้ว่าจะเปิดตัวช่วงนี้ หลังจากบริษัทแม่ประกาศไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน มีทั้งบล็อกเกอร์ แฟนโนเกีย แล้วตัวนี้เราเน้นเรื่องกล้อง เพราะฉะนั้นก็ได้พวกผู้กำกับ คนที่ชอบถ่ายภาพเข้ามาด้วย อย่างคุณปวีณ ซึ่งเราเชิญมาทำแคมเปญก็อินกับตัวนี้จริงๆ แล้วอย่างที่รู้ความพิเศษของตัวนี้เป็นรุ่นแฟลกชิปเป็นตัวแรกที่มีกล้อง 12 เมกะพิกเซล แล้วเป็น Full HD ช่องต่อHDMI ให้เสีย Dolby Digital Surround 5.1 ซึ่งไม่มีมือถือที่ไหนมีมาก่อน”

เรียกว่าภาพและเสียงระบบ Full HD ซึ่งตอบโจทย์เรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์เต็มรูปแบบ ทำให้หลายคนลืมไปเลยล่ะกันว่า รุ่นนี้เป็นรุ่นแรกที่ใช้ซิมเบียน 3 ซึ่งมีอะไรต่างจากเดิมหรือทำอะไรได้บ้างนอกเหนือจากการประมวลผลได้เร็วขึ้น

งบทั้งหมดนั้น โนเกียไม่ได้แยกว่าจะใช้เฉพาะรุ่นนี้เท่าไร แต่เฉพาะวันเปิดตัวซึ่งจ้างบริษัท ตือ จำกัด ของ สมบัษร ถิระสาโรช ออแกไนเซอร์ชื่อดังมาจัดงานทั้งวันใช้งบรวมทั้งค่าสถานที่และค่าจ้างไปมากกว่า 5 ล้านบาท

“ใช้พี่ตือ เพราะเราวางใจได้ ไม่ต้องกังวลกับงาน ไปโฟกัสเรื่องอื่นได้เลย เช้าก็สวยพร้อมมางาน” เหตุผลที่ฝ่ายการตลาดโนเกียยอมจ่ายแพง

รอบบ่ายเป็นการแถลงข่าวกับสื่อธุรกิจ ส่วนรอบเย็นเป็นสื่อไลฟ์สไตล์กว่า 80 หัว พร้อมแขกผู้มีชื่อเสียง แต่เนื้อหาของข้อมูลที่นำเสนอไม่แตกต่างกัน เพียงแต่รอบสื่อไลฟ์สไตล์จะไม่เน้นหนักที่ข้อมูลมากเท่ารอบแถลงข่าวเท่านั้น

การแถลงข่าวของโนเกียมาพร้อมกับ Strategic Partner อย่างโนเกีย ซึ่ง ฐิติพงศ์ เขียวไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด เอไอเอส ถึงกับบอกว่ารอบนี้เป็นการจัดแพ็กบริการที่ดีที่สุดมาพ่วงกันอย่าสมน้ำสมเนื้อ เพื่อที่จะทำให้ N8 เป็น One device foe all ตามคอนเซ็ปต์ที่เตรียมกันมา

“แพ็กเกจที่เอไอเอสให้มาสำหรับ N8 คือการใช้งาน GPRS เดือนละ 500 MB นาน 12 เดือน รวมมูลค่า 6 พันบาท เราก็ค่อนข้างแฮปปี้” ผู้บริหารโนเกียกล่าว

การเลือกแพ็กเกจสำหรับการใช้งานที่เหมาะสม ถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นยอดขายโดยตรง ซึ่งกว่าจะลงตัวว่าเป็นแพ็กเกจอะไรนั้น โนเกียต้องศึกษาทั้งเทรนด์และพฤติกรรมของผู้ใช้สมาร์ทโฟนอย่างรอบด้าน

“คนซื้อสมาร์ทโฟน สิ่งที่เขาอยากได้คือเรื่องการใช้แอพพลิเคชั่น ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นใหม่ ดูหนังฟังเพลง การเชื่อมต่อ เราต้องศึกษาทั้งจากประวัติการใช้งาน ดูเทรนด์ของสมาร์ทโฟน ซึ่งคนใช้สมาร์ทโฟนจะมีการใช้งานปริมาณดาต้าที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับกลุ่มฟีเจอร์โฟนและเบสิกโฟน”

สำหรับบล็อกเกอร์ที่โนเกียเลือกใช้ในรอบนี้ มีประมาณ 30 ราย ไม่มีการแจกเครื่องไปให้ทดสอบ แต่เชิญมาเวิร์คช็อปที่โนเกีย เพื่อให้ทุกคนได้ทดลองใช้สดๆ โดยมีทีมงานโนเกียประกบให้คำแนะนำตัวต่อตัว อยากรู้อะไร ถาม แล้วตอบ

“เราอยากให้พวกเขาได้ประสบการณ์จริง ทุกคนจับจริง ให้ทดลองใช้กันเลยเพื่อดูว่าประสบการณ์ที่ได้ใช้เป็นอย่างไร ลองถ่ายรูปจริง ตัดต่อกันจริงๆ เล่นเกมกันแฮปปี้กันทุกคน” หนึ่งในผู้ควบคุมการเทรนบล็อกเกอร์ของโนเกียเล่าบรรยากาศ และเล่าด้วยว่า

ก่อนหน้าบล็อกเกอร์กลุ่มนี้จะสื่อสารไปยังกลุ่มแฟนของแต่ละคน ผู้บริโภคบางส่วนก็อ่านข้อมูลจากบล็อกเกอร์ต่างประเทศมาบ้างแล้ว หลังจากบล็อกเกอร์กลุ่มแรกในไทยเขียนถึง ก็เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ ที่ทำให้ข้อมูลของ N8 เป็นที่พูดถึงต่อๆ ไปอีก ซึ่งรอบนี้กลุ่มบล็อกเกอร์นอกจากเป็นขาประจำที่โนเกียเลือกใช้แล้ว ยังแบ่งครึ่งๆ ไปยังกลุ่มใหม่เพื่อตอบสนองความพิเศษที่มีอยู่ใน N8 ในเรื่องภาพและเสียงด้วย

จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นบล็อกเกอร์บางราย ลงทุนทำเทสต์ถ่ายภาพด้วยกล้อง Nokia N8 กับกล้องถ่ายรูปดิจิตอล SLR มาโพสต์เปรียบเทียบให้ดูกันภาพต่อภาพ ซึ่งเป็นรูปแบบที่เริ่มทำในกลุ่มบล็อกเกอร์ต่างประเทศมาก่อนในช่วงแรก

เมื่อการเปิดตัวทุกขั้นตอนแล้วเสร็จ ภาคต่อไปก็เป็นเรื่องของการขายเครื่องเต็มตัว แต่รอบนี้มีแคมเปญการตลาดพ่วงมาด้วย เป็นกิจกรรมที่เน้นให้เข้ากับไฮไลต์เรื่องภาพและเสียง ชื่อแคมเปญว่า Make the Scene ให้ผู้สนใจส่งภาพยนตร์ที่ถ่ายทำเองความยาวไม่เกิน 3 นาทีส่งผ่านช่องทางออนไลน์ หรืออัพโหลดลงในหน้าแฟนเพจของโนเกียไทยแลนด์ เพื่อลุ้น N8 และและรางวัลสูงสุด 7 หมื่นบาท

แคมเปญนี้มี GTH เป็นพันธมิตร โดย ปวีน ในฐานะตัวแทน GTH ทำคลิปภาพยนตร์เรื่อง The Top Secret by Nokia N8 ขึ้นมาเป็นตัวนำ โดยมีเต๋า สมชาย เข็มกลัด เป็นนักแสดง เป็นคลิปที่ใช้ N8 ในการถ่ายทำและตัดต่อ และเปิดให้คนคลิกเข้าไปชมได้ที่ เฟซบุ๊กของโนเกียไทยแลนด์เพื่อร่วมสนุกได้จนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

“ในภาพยนตร์ เต๋าจะถูกเค้นถามว่าคลิปอยู่ไหน เป็นการทิ้งคำถามไว้ให้คนดูนำคลิปที่ตัวเองถ่ายมาอัพโหลดไว้ เป็นการร่วมสนุกกัน ประมาณว่านี่ไงคลิป” ปวีณเล่าเทคนิคของเรื่องที่เขาผูกไว้เป็นโจทย์การตลาดที่โนเกียนำมาเล่นในเฟซบุ๊ก

“จำนวนแฟนในโนเกียไทยแลนด์เฟซบุ๊กขึ้นไปเป็นหมื่นจากไม่กี่พัน ตอนนี้เป็นช่วงที่เราเล่นกับคลิป ซึ่งไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้แฟนเพิ่มขนาดนี้ แต่ส่วนสำคัญมาจากตัวเครื่องเองด้วย ที่เป็นสเปคที่ลูกค้ารอกันมาหลายเดือน ทุกคนจับตาว่าโนเกียจะทำออกมาแล้วเป็นอย่างไร พอกระแสที่คนพูดถึงกันดีขึ้นเรื่อยๆ คนก็ยิ่งอยากเห็นอยากดูเพิ่มขึ้น”

คำพูดนี้คงจะเป็นการสรุปได้ว่า การจะเรียกส่วนแบ่งในตลาดมือถือนั้น ต่อให้เป็นผู้นำก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำอะไรแบบง่ายๆ แต่ทุกขั้นตอนต้องวางกลยุทธ์กันมาอย่างสอดคล้อง รอบคอบ และละเอียดทุกจังหวะจริงๆ

Nokia C3 นางรองบทเด่น

ขณะที่ Nokia N8 เป็นตัวนำของกลุ่มสมาร์ทโฟนที่ตลาดมีการแข่งขันกันอย่างหนัก ทั้งแบล็คเบอร์รี่ ไอโฟน 4 เครื่องที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ทั้งหลาย ในรุ่นมวยรอง กลุ่มที่ไม่ต้องถึงกับสมาร์ทโฟนจ๋า แต่เล่นแอพพลิเคชั่นฮิตอย่างแชต เฟซบุ๊ก อีเมล หรือตลาดระดับกลางที่เรียกว่า “ฟีเจอร์โฟน” ราคาไม่เกิน 5 พันบาท ซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตสูง โนเกียใช้ Nokia C3 เข้ามาเติมช่องว่างระหว่างกลางก่อนจะโตเป็นสมาร์ทโฟน ก่อนหน้าNokia N8 เพียงเล็กน้อย

เทียบกับมือถือไว้แชต เข้าสังคมออนไลน์ เช็กอีเมลได้ตลอดเวลาอย่างแบล็คเบอร์รี่หรือบีบี แล้วโนเกีย C3 ถูกกว่าเกือบครึ่ง เป็นการเจาะช่องว่างของคู่แข่งด้วยราคาที่ถูกกว่า เพราะอย่างน้อยเทียบกันแล้วระหว่างบีบีปลอมที่ขายดิบขายดีแต่แชตไม่ได้ กับแบรนด์โนเกียที่มีศักดิ์ศรีดีกว่า แถมออกมาให้แชตโดยเฉพาะ พร้อมซิมจากพันธมิตรอย่างเอไอเอสที่ออกซิมเพื่อแชตและเฟซบุ๊กโดยเฉพาะมาคู่กัน ทำให้โนเกีย C3 สร้างกระแสได้ดีตัดหน้าแฟลกชิฟอย่าง Nokia N8 ไปเลย

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โนเกียเจอศึกหนักและรับรู้มาโดยตลอดว่าในตลาดระดับกลาง โนเกียถูกทั้งเฮาส์แบรนด์ และแบรนด์รองๆ ที่แข็งแรงโดยเฉพาะซัมซุงแย่งตลาดไปแล้ว เพราะวัยรุ่นหันไปสนใจมือถือที่มีดีไซน์ ถือแล้วดูดี ฟังก์ชันครบมากกว่าการสนใจความเป็นแบรนด์ที่เก่าแก่ หรือเป็นเบอร์ 1ในตลาด โดยเฉพาะวัยรุ่นที่รู้สึกว่าแบรนด์โนเกียแก่เกินไปสำหรับพวกเขา

ขณะเดียวกันอีกกลุ่มหนึ่งที่ตามเทรนด์แรงคือพฤติกรรมแชตตลอดเวลา โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ให้ความสำคัญกับเพื่อน และมีกำลังซื้อสูงก็เทใจไปให้บีบีที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการนี้ ด้วยการกดแชตกันได้มันส์ยิ่งขึ้นด้วยความง่ายของระบบ และแป้นกดอย่าง QWERTY ที่เร็วและแน่นอนกว่าทัชสกรีน จนพิสูจน์ให้เห็นว่าคนยังแชตกันไม่หยุด และตลาดนี้เติบโตแรง จากไม่กี่หมื่นเครื่องในปีแรกๆ กระโดดขึ้นมาเป็นมากกว่า 3 แสนเครื่องภายใน 1 ปี

Ilari Nurmi Vice President ของโนเกีย Business Phone กล่าวใน www.tbnews.info ซึ่งยอมรับโดยตรงถึงทิศทางของC3 ว่า ราคาและฟีเจอร์ของC3 ออกมาเพื่ออุดช่องว่างที่เหลืออยู่ของคนชอบแชตที่กำลังซื้อเอื้อมถึงบีบี

“ราคาของ C3 ที่โนเกียส่งมานั้น มาในจุดที่ RIM (ผู้ผลิตบีบี) ไม่ได้เล่นในระดับราคานี้”

ไม่ต่างจากตลาดในไทยที่ สมชัย สิทธิชัยศรีชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้แทนจำหน่ายบีบีในไทย บอกว่า สภาพตลาดในเวลานี้ ตลาดวัยรุ่นที่ชอบแชตเติบโตอย่างต่อเนื่อง และบีบีทำตลาดในต่างจังหวัดได้มากขึ้นเรื่อยๆ ใครก็ตามที่จะเข้ามาตลาดนี้และแข่งกับบีบีได้ต้องเล่นด้วย ”ราคา” เท่านั้น

สภาพของตลาดบีบีตอนนี้ ถ้าซื้อเครื่องตามเกรย์มาร์เก็ตก็จะมีราคาถูกกว่าเพียง 500-1,000 บาท และถ้าจะเล่นกลุ่มรองจากบีบีราคาเครื่องก็ยังอยู่ในระดับ 8,000 บาทขึ้นไป คนซื้อบีบีส่วนใหญ่ซื้อกันเป็นกลุ่ม ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคของคู่แข่งของบีบี แต่ถ้าเข้าถึงความต้องการได้ ไม่ว่าจะด้วยราคาหรือดีไซน์ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะดึงลูกค้าไปได้เป็นกลุ่มด้วยเช่นกัน

ตัวช่วยของโนเกีย C3 ไม่ใช่แค่ราคาเครื่องที่จูงใจในระดับไม่เกิน 5 พันบาท และความเป็น QWERTY เพื่อให้แชตมันยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่โนเกียยังต้องเกาะติดกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเพื่อใช้กลยุทธ์ Operator Model Marketing และแน่นอนต้องเป็นเบอร์ 1 ในตลาดอย่างเอไอเอส เหมือนที่บีบีเคยสำเร็จมาแล้ว

“ในตลาดรวมโนเกียยังมีสัดส่วนมากอยู่เพราะมีโปรดักต์หลากหลาย รุ่นตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับบน แต่ด้วย Positioning แบบนี้จึงไม่มีรุ่นไหนโดดเด่นออกมาเหมือนรายอื่น โนเกียจึงต้องอาศัยการทำตลาดที่มากขึ้นเพื่อตอบรับกับฟังก์ชันที่ดีอยู่แล้ว” สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นในมุมมองของผู้ให้บริการ โดยการทำตลาดร่วมกันในรุ่นนี้นั้น เพราะเอไอเอสมองเห็น “โอกาส” ที่ C3 สามารถตอบโจทย์ลูกค้าวัยรุ่นที่ยังขาดเรื่องบริการแชตในราคาระดับกลางอยู่

“คู่แข่งของ C3 จะอยู่ในกลุ่ม QWERTY ซึ่งมีทั้งโกลบอลแบรนด์และแบรนด์จีน แต่ยังมีช่องว่างในส่วนที่เป็นระดับกลางอยู่ เราจึงเห็นโอกาสในส่วนนี้” นนทวัน สินธวานนท์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด เผยและว่าวัยรุ่นเป็นตลาดหลักที่ตอบรับเรื่องบริการบนมือถือเป็นอย่างดีประกอบกับการเติบโตของเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว โนเกียจึงชูจุดเด่นของรุ่นนี้มาทำตลาด

เอไอเอสออกซิมวันทูคอลใหม่เพื่อ C3 โดยเฉพาะ จากเดิมที่จะเห็นโนเกียทำกับเอไอเอสในรุ่นระดับบนอย่าง N8 และ N900 และ E Seriese เท่านั้น โดย C3 กับซิมวันทูคอลชุดนี้สามารถใช้งานแชต MSN Yahoo Messenger Google Talk เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ไม่จำกัด แน่นอนโนเกียไม่ลืมการพ่วง Ovi Chat ให้ลูกค้า ด้วยราคาแน่นอนเดือนละ 249 บาท ไม่มีอาการจีพีอาร์เอส ”รั่ว” จนเจอ Shock Bill

249 บาท ถือว่าเป็นกลยุทธ์ราคาอีกจุดหนึ่งของโนเกีย ที่ทำได้ถูกกว่าแพ็กเกจของบีบีที่มีแพ็กเกจขั้นต่ำ 300 บาทต่อเดือน

ความลงตัวของกล่มุเป้าหมาย C3 กับฐานวันทูคอล คือ C3 เน้นวัยรุ่นแมสที่ชอบแชตและอยู่ในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค กับวันทูคอลที่ก่อนหน้านี้ก็จับตลาดแชตได้ถูกทางด้วยการออก แชตซิม” ที่สามารถใช้กับมือถือทุกรุ่น ในระดับราคาพันบาทต้น ๆ สำหรับลูกค้าวัยรุ่นทั้งใน กทม.และหัวเมืองต่างจังหวัดมาแล้ว สำหรับ C3 คืออีกซิมหนึ่งที่ฟังก์ชั่นคล้ายกัน เพียงแต่ทำมาเพื่อคนถือโนเกีย และวัยรุ่นที่มีกำลังซื้อระดับกลาง

ความพยายามของโนเกียรอบนี้นับเป็นการปรับตัวที่น่าจับตา หาก C3 เกิด ดึงวัยรุ่นให้เริ่มหันมาสนใจแบรนด์โนเกีย จากเดิมที่วัยรุ่นมองว่า ”แก่เกินไป” สำหรับพวกเขา ก็อาจถึงเวลาที่โนเกียควรหันมาโฟกัสลูกค้าตัวจริงของตัวเองที่ยังเหลืออยู่ในตลาดเสียที

  Nokia N8 Nokia C3
Launch 18 ตุลาคม 2553 แฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน แบ่งงานเป็น 2 ช่วง ช่วงเช้าสำหรับนักข่าวสายเศรษฐกิจ และเย็นสำหรับสื่อไลฟ์สไตล์ 80 หัวและเซเลบริตี้ 4 ตุลาคม 2553 ลานอินฟินิซิตี้ฮอลล์ ชั้น 5 พารากอนซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน นักข่าวสายการตลาด บันเทิง พร้อมดารา และเซเล็บวัยรุ่น
Positioning สมาร์ทโฟน สำหรับกลุ่มผู้ใช้ที่ต้องการมือถือที่มีครบทุกฟังก์ชัน ฟีเจอร์โฟน ราคาไม่เกิน 5 พันบาท
Detail ดีไซน์เรียบ มี 5 สี ได้แก่ ดำ เงิน เขียว ฟ้า และส้ม เน้นการใช้งานครบทุกด้านทั้งโทรศัพท์และการสื่อสารผ่านออนไลน์ ทั้งการเข้าเครือข่ายสังคมออนไลน์และบันเทิง ราคา 16,500 บาท ดีไซน์ปุ่มกด QWERTY สีสันหลากหลาย มีฟังก์ชั่นแชตและต่อโซเชี่ยลเนทเวิร์กได้ในราคา 4,730 บาท
Target ผู้ชื่อชอบสมาร์ทโฟน แฟนพันธุ์แท้โนเกีย กลุ่มคนชอบดูภาพยนตร์ และชอบการถ่ายภาพ วัยรุ่นในเมือง มีกำลังซื้อระดับกลางที่ชอบแชต ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ค
Market Analysis การเป็นแค่สมาร์ทโฟนไม่เพียงพอที่จะแข่งขันในตลาด แต่ต้องมีฟีเจอร์ที่แปลกแตกต่าง เพราะฉะนั้นอะไรที่สมาร์ทโฟนแบรนด์อื่นทำได้ Nokia N8 ต้องมี แต่จะดีกว่าหรือไม่ค่อยว่ากัน ที่สำคัญต้องมีฟีเจอร์ที่มากกว่าเพื่อสร้างความแตกต่าง สำหรับ N8 นอกจากจะเป็นซิมเบียน 3 ตัวแรก ยังมีจุดขายตรงกล้องขนาด 12 ล้านพิกเซลและช่องต่อ HDMI ที่ไม่มีเครื่องรุ่นไหนในตลาดมีเหมือน ตลาดคนชอบแชตและโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คเติบโตต่อเนื่องหลังจากบีบีทำตลาดจนปลุกกระแสกลุ่มคนแช้ตได้ในวงกว้าง แต่ราคาเครื่องบีบียังสูง ทำให้ลูกค้าระดับกลางเอื้อมไม่ถึง C3 ที่ถูกกว่าบีบีอยู่ประมาณ 3 พันบาทในรุ่นต่ำสุดจึงมีโอกาสเป็นตัวเลือกให้ลูกค้าในตลาดนี้
ส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟน (แบ่งตาม OS) ครึ่งปีแรก 2552
Symbian 50.3%
RIM Blackberry 20.9%
Apple iPhone 13.7%
Windows Mobile 9%
Google Android 2.8%
Other (Plam,Linux) 3.3%