ความธรรมดาสามัญร่วมสมัย

พิธีเปิดคอลเล็คชันผลงานศิลปะของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (Office of Contemporary Art and Culture หรือ OCAC) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน (Ratchadamnoen Contemporary Art Centre หรือ RCAC) ถนนราชดำเนิน;


ในงานตัดริบบิ้นเปิดตัวคอลเล็คชันผลงานศิลปะของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร. หรือ OCAC) ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนินเมื่อเดือนมีนาคม กลุ่มศิลปินชายสูงวัยสวมหน้ากากอนามัยล้อมรอบ ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ขณะกำลังกล่าวสุนทรพจน์ ประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า สาธารณชนจะได้รับชมคอลเล็คชันผลงานศิลปะไทยร่วมสมัยระดับชาติของกระทรวงวัฒนธรรมเป็นครั้งแรก ข้างกลุ่มศิลปินชายสูงวัยเหล่านี้ยังมีผลงานประติมากรรมไฟเบอร์กลาสสีขาวขนาดยักษ์ใส่ชุดทหารไทยสวมหมวกเกราะถือปืนไรเฟิล โดย สุธี คุณาวิชยานนท์ ภายใต้ชื่อ เสมอภาค: ทหารไทย (พ.ศ. 2559) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากข้อกำหนดทางวัฒนธรรมระหว่างปี พ.ศ. 2482 ถึง พ.ศ. 2485 ในสมัยนายกรัฐมนตรีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับจิตวิญญาณและศีลธรรมอันดีของชาติ รวมถึงปลูกฝังความก้าวหน้าและความเป็นสมัยใหม่ในชีวิตของชาวไทย

ผลงานประติมากรรมรูปทหารและศิลปินชายชรากลุ่มดังกล่าวรวมกันเป็นสัญญะ สื่อถึงอำนาจ การเชื่อฟังและการโฆษณาชวนเชื่อที่สามารถเชื่อมโยงถึงได้ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จวบจนถึงปัจจุบัน ในช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีโครงการทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่นำโดย หลวงวิจิตรวาทการ ได้ใช้ศิลปะที่รับแรงบันดาลใจจากอดอล์ฟ ฮิตเลอร์, โจเซฟ เกิบเบลส์, และเบนิโต มุสโลลินี ในการสร้างสรรค์ศิลปะไทย เพื่อให้ศิลปะไทยรับใช้นโยบายโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงครามและหลวงวิจิตรวาทการคงจะรู้สึกภาคภูมิใจกับศิลปินข้าราชการเหล่านี้ที่ยังคงรักษาธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวไว้เป็นเครื่องมือในการควบคุมและจูงใจจวบจนถึงปัจจุบัน

ในวันรุ่งขึ้นหลังจากการเปิดตัวคอลเล็คชันผลงานศิลปะของ สศร. ได้เกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยขึ้นบนถนนราชดำเนิน มีการใช้แก๊สน้ำตาสลายกลุ่มผู้ชุมนุมและการเผาทำลายสิ่งของบริเวณสี่แยกคอกวัว สืบเนื่องจากการมีกิจกรรมทางการเมืองจัดขึ้นเป็นประจำใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การจัดแสดงคอลเล็คชันผลงานศิลปะของ สศร. จึงดูเหมือนจะไม่เชื่อมโยงกับความเป็นจริง และไม่ค่อยสะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณแห่งศิลปะไทยร่วมสมัยในปัจจุบัน

แล้วเราสามารถเรียนรู้จากคอลเล็คชันผลงานศิลปะของ สศร. ได้มากน้อยแค่ไหน? คอลเล็คชันประกอบด้วยผลงานศิลปะมากกว่า 100 ชิ้นที่เก็บรวบรวมมาตลอดระยะเวลา 17 ปี ด้วยงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท โดยมีผลงานของศิลปินแห่งชาติ ศิลปินกลางวัย ตลอดจนศิลปินหญิงจำนวนหนึ่ง จัดแสดงครอบคลุมพื้นที่สองชั้นของอาคารเพดานสูงสไตล์โมเดิร์นตอนต้นที่สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2482 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

เขียน ยิ้มศิริ, เสียงขลุ่ยทิพย์ (พ.ศ. 2492), บรอนซ์, และ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์, ไอ้จุด (พ.ศ. 2554), สีอะคริลิก;

ผลงานภาพเขียนอันโดดเด่นโดยพิชัย นิรันดร์, ทวี นันทขว้าง, ถวัลย์ ดัชนี, ทวี รัชนีกร, ประเทือง เอมเจริญ, จ่าง แซ่ตั้ง, ดำรง วงศ์อุปราช, ช่วง มูลพินิจ, ปรีชา เถาทอง, ชวลิต เสริมปรุงสุข, ธงชัย รักปทุม, สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์, เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ, ปรีชา อรชุนกะ, สมบูรณ์ หอมเทียนทอง, และชาติชาย ปุยเปีย จัดแสดงควบคู่กับผลงานภาพพิมพ์โดยชลูด นิ่มเสมอ, ประหยัด พงษ์ดำ, เดชา วราชุน, อิทธิพล ตั้งโฉลก และ ถาวร โกอุดมวิทย์ ผลงานประติมากรรมโดยเขียน ยิ้มศิริ, อินสนธิ์ วงศ์สาม, นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน, วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์, คามิน เลิศชัยประเสริฐ, และมานพ สุวรรณปินฑะ และผลงานศิลปะสื่อผสมและศิลปะจัดวางโดยวิโชค มุกดามณี, มณเฑียร บุญมา, ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, ปรัชญา พิณทอง, และชูศักดิ์ ศรีขวัญ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงผลงานภาพถ่ายโดยดาว วาสิกศิริ, มานิต ศรีวานิชภูมิและ ไมตรี ศิริบูรณ์ โดยให้ความสำคัญน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลงานภาพเขียนและภาพพิมพ์ ส่วนผลงานวิดีโอ ภาพยนตร์ ศิลปะการแสดงสด และผลงานศิลปะดิจิทัลไม่ได้จัดแสดงภายในงาน

การจัดซื้อผลงานนั้นให้ความสำคัญมากเกินไปกับศิลปินแห่งชาติที่ส่วนใหญ่เป็นศิลปินชาย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลงานอยู่แล้วในคอลเล็คชันของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ และหออัครศิลปินของกระทรวงวัฒนธรรม เห็นได้ชัดว่า หลักการการจัดซื้อผลงานนั้นขึ้นอยู่กับความอาวุโสของศิลปิน ซึ่งหลายคนเป็นศิษย์เก่าหรือกำลังสอนอยู่ที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อารมณ์และความรู้สึกของคอลเล็คชันผลงานศิลปะของ สศร. นั้นเป็นอารมณ์และความรู้สึกของผลงานศิลปะที่มีความสวยงามตามหลักสุนทรียศาสตร์ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในแง่การยกย่องความเป็นไทยในรูปแบบและหัวข้อต่างๆ

ตามคำแถลงของ สศร. ว่าการจัดแสดงคอลเล็คชันผลงานศิลปะของสำนักงานฯ ไม่ได้มีเจตนาจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยของไทยตามลำดับเหตุการณ์ หากแต่จัดแสดงตามคุณค่าด้านสุนทรียศาสตร์ของผลงานศิลปะ จึงน่าเสียดายที่การไม่มีบริบททางสังคมและการเมืองทำให้นิทรรศการไม่สามารถทำให้เห็นทิศทางและกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนไปในประวัติศาสตร์ศิลปะไทยร่วมสมัยได้ สำหรับ สศร. ศิลปะไทยถูกมองว่ามีพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่เป็นเส้นตรงผ่านพื้นที่ปลอดภัยอันเกิดจากช่วงเวลาที่ศิลปะมีบทบาทสำคัญในการรับใช้รัฐบาลคณะรัฐประหารในช่วงหลัง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบันในสมัยรัฐบาลหลังรัฐประหารภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ่งที่ขาดหายไปคือผลงานศิลปะที่บ่งบอกถึงช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายในช่วงการลุกฮือของนักศึกษาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 และ พ.ศ. 2519 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ วิกฤตต้มยำกุ้ง การปะทะกันระหว่างคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดง เหตุการณ์การเผากรุงเทพฯ และการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557

จากคอลเล็คชันผลงานศิลปะของ สศร. ที่กำลังจัดแสดงอยู่ในขณะนี้ไปจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม เห็นได้ชัดว่ามีปัญหาด้านการขาดแคลนงานวิจัยและงานภัณฑารักษ์ที่จะทำให้ผู้ชมเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของศิลปะไทยร่วมสมัย แคตตาล็อกหรูหราที่เน้นไปที่ผลงานภาพเขียนและภาพพิมพ์นั้นให้มุมมองที่เอนเอียงไปทางบอกเล่าความงามแบบไทยๆ และขาดซึ่งลำดับเหตุการณ์สำคัญๆ ในวงการศิลปะ ตลอดจนจุดเปลี่ยนในอิทธิพลทางสังคมการเมืองและภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อศิลปะไทยร่วมสมัย

น่าแปลกที่ไม่มีความพยายามที่จะเปรียบเทียบศิลปะร่วมสมัยของไทยกับศิลปะร่วมสมัยของประเทศเพื่อนบ้าน เช่นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสิงคโปร์ ในแง่ของศิลปะระดับภูมิภาค การค้นหาชาตินิยมและศิลปะพื้นเมือง ศิลปะการร่วมมือที่หลากหลาย ศิลปะการแสดงสดสะท้อนการเคลื่อนไหวทางสังคม ในความเป็นจริงคอลเล็คชันผลงานศิลปะของ สศร. ออกแบบมาให้รับใช้วาทกรรมความเป็นไทยเป็นศูนย์กลางภายใต้ความเป็นชาติ ศาสนาพุทธและสถาบันพระมหากษัตริย์ ศิลปินและการทำงานศิลปะที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและข้อกำหนดทางวัฒนธรรมที่ออกโดยรัฐบาล จะไม่ได้รับความสำคัญและถูกกีดกัน ความเป็นไทยสุดกู่มาถึงจุดที่ข้อมูลและข้อความบนผนัง ในแคตตาล็อก และตามป้ายในงานนิทรรศการเป็นภาษาไทยทั้งหมด ไม่มีความพยายามที่จะแปลเนื้อหาภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ส่งผลให้ผู้ชมชาวต่างชาติสับสนกับผลงานศิลปะของ สศร. ความไร้เดียงสาดังกล่าวของภัณฑารักษ์ของ สศร. ควรได้รับการปรับปรุงอย่างจริงจัง

 วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร, วันทาน็อกคิโอบ็อท’09 (พ.ศ. 2552), ไฟเบอร์กลาส, เสื้อผ้า, หมอนพิงหลังสามเหลี่ยม, โต๊ะ, เซ็นเซอร์, และมอเตอร์;

ในนิทรรศการ ภาพแทนความเป็นไทยในหมวดหมู่ประเพณี ท้องถิ่น ศาสนาและความเป็นชาตินิยมของไทยนั้นแสดงให้เห็นถึงคุณค่าเชิงบวกของวิถีชีวิตไทย ยกตัวอย่างเช่น ผลงาน สดุดีมหาราชา (พ.ศ. 2559) โดยกมล ทัศนาญชลี ซึ่งเป็นผลงานประติมากรรมสเตนเลสสตีลลอยตัวพร้อมจารึกเพลงชาติที่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างสูง ผลงาน ด้วยไทยล้วนหมาย (พ.ศ. 2553) โดยนิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ แสดงเนื้อเพลงเพลงชาติซ้ำไปมาแบบบรรทัดต่อบรรทัดบนกระดาษปรุ อย่างไรก็ตามผลงานบางชิ้นก็สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไทยในกลียุคและความวุ่นวาย ในผลงาน ธง: ศานา-อำนาจ (พ.ศ. 2535) โดยกัญญา เจริญทรัพย์กุล ที่สีน้ำเงิน สีแดงและสีขาวที่ถูกละเลงและขูดขีดเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความรุนแรงระหว่างการปะทะทางการเมือง ผลงาน Untitled (Camouflaged Legs) (พ.ศ. 2561) โดยฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ซึ่งเป็นผลงานภาพตัดปะจากหัวข่าวเกี่ยวกับการเมืองในหนังสือพิมพ์ที่มีรอยประทับของรองเท้าบู๊ตทหาร ผลงาน We Eat Their Shit (พ.ศ. 2545) โดยวสันต์ สิทธิเขตต์ ผลงานหายากในบรรดาผลงานในคอลเล็คชันของ สศร. ที่สะท้อนให้เห็นปฏิกิริยาต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมของไทยออกมาในรูปแบบผู้ชายคนหนึ่งที่ถูกเห็นว่ากำลังกินสิ่งปฏิกูลของผู้รุกรานยุคนีโอโคโลเนียลอยู่ ผลงาน วันทาน็อกคีโอบ็อท’09 (พ.ศ. 2552) โดยวันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร ซึ่งเป็นผลงานเชิงโต้ตอบเสียดสีเกี่ยวกับความหลงใหลในความเป็นไทย หุ่นไฟเบอร์กลาสของศิลปินที่ยิ้มนั้นกำลังนั่งพับเพียบเรียบร้อย สวมชฎาพร้อมเครื่องประดับปิดทองและกำไลทอง โดยมีเซนเซอร์ควบคุมให้จมูกของเธอยื่นออกมาเหมือนพินอคคิโอ สำหรับวันทนีย์ ยิ้มไทยจอมปลอมอาจเป็นการโกหกและเสแสร้งหลอกหลวง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมทางวัฒนธรรมและการควบคุมความเป็นไทย

ความรู้สึกว่าผลงานศิลปะนั้นแยกออกเป็นส่วนๆ ขาดความเชื่อมโยงและพลวัตสามารถสัมผัสได้ตลอดนิทรรศการ ซึ่งเป็นผลมาจากผลงานถูกจัดวางโดยไม่มีการร้อยเรียงผลงานเหล่านั้นเข้าไว้ด้วยกัน น่ากระอักกระอ่วนใจเป็นอย่างมากที่ผลงานของมณเฑียร บุญมาและฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช สองศิลปินร่วมสมัยที่โดดเด่นและทรงอิทธิพลมากที่สุดกลับถูกผลักไสให้ไปจัดแสดงตามทางเดินที่มีแสงสลัว ภาพสเก็ตช์ของผลงานศิลปะจัดวางรูปปอดอันมีชื่อเสียงโดยมณเฑียรซ่อนอยู่ในมุมมืด ในขณะที่ผลงานชุดลายพรางและรองเท้าบู๊ตทหารของฤกษ์ฤทธิ์วางอยู่ข้างทางเข้าห้องสุขา เป็นไปได้ว่าภัณฑารักษ์ที่จัดวางผลงานสื่อผสมชิ้นนี้อาจจะกลัวว่าผลงานดังกล่าวอาจทำให้กองทัพไม่พอใจ ผลงาน Golden Teardrop (พ.ศ. 2556) โดยอริญชย์ รุ่งแจ้ง เป็นผลงานศิลปะจัดวางที่ต้องจัดแสดงในพื้นที่ปิดที่มีแสงสว่างเฉพาะตัว แต่ผลงานกลับถูกจัดวางกลางห้องแสดง ทำให้มีแสงและเสียงจากภายนอกเข้ามารบกวน ส่งผลให้ผลงานสื่อสารออกมาได้ไม่ดี

น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่มีผู้ชมพบว่าผลงานศิลปะที่ดีที่สุดจำนวนมากในคอลเล็คชันของ สศร. ไม่ได้จัดแสดงในนิทรรศการ เช่น ผลงาน ค่ายกักกันของญี่ปุ่นในป้อมโบราณ (พ.ศ. 2486-88) โดยเฟื้อ หริพิทักษ์ ซึ่งเป็นผลงานภาพวาดสีฝุ่นเทมเพอราอันล้ำค่าและหายากมากที่วาดขึ้นระหว่างที่เขาถูกคุมขังในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในอินเดีย

ผลงาน 246247596248914102516 And Then There Were None (พ.ศ.2560) โดยอริญชย์ รุ่งแจ้ง ซึ่งเคยจัดแสดงที่งานนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย Documenta 14 ที่เมือง Kassel ประเทศเยอรมนีมาแล้ว เป็นผลงานจำลองมาจากประติมากรรมนูนต่ำรูปทหารปฏิวัติที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมกับวิดีโอที่ย้อนรอยเหตุการณ์ที่ประศาสน์ ชูถิ่น เอกอัครราชทูตไทยประจำเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลสุดท้ายที่ได้เข้าเยี่ยมฮิตเลอร์ก่อนเสียชีวิต ที่น่าสังเกตคือประศาสน์เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรที่โค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี พ.ศ. 2475 ผลงานศิลปะจัดวางของอริญชย์นำเสนอการเปรียบเทียบอันน่าสนใจกับผลงานประติมากรรมต้นฉบับที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะฟาสซิสต์ ออกแบบโดย คอร์ราโด เฟโรชี (ศิลป์ พีระศรี) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่อยู่ใกล้ๆ เมื่อถามว่าเหตุใดผลงานชิ้นสำคัญดังกล่าวถึงไม่ได้ร่วมจัดแสดงในนิทรรศการ คำตอบที่ได้จากเจ้าหน้าที่ สศร. คือ “ผลงานหนักเกินไปที่จะติดตั้ง” ในทำนองเดียวกัน ผลงานวิดีโอชิ้นสำคัญโดยอารยา ราษฎร์จำเริญสุข, กมล เผ่าสวัสดิ์, กรกฤต อรุณานนท์ชัย, และกวิตา วัฒนะชยังกูร ที่ได้รับการจัดซื้อก็ไม่ได้ร่วมจัดแสดงในนิทรรศการเนื่องจากสถานที่ไม่เพียงพอ

เห็นได้ชัดว่า หลักการการจัดซื้อผลงานของ สศร. ซึ่งต้องอาศัยคณะกรรมการการจัดซื้อผลงานที่สมาชิกเป็นอภิสิทธิชนและส่วนใหญ่เป็นชายสูงอายุที่มีผลงานอยู่ในคอลเล็คชันผลงานศิลปะของ สศร. ด้วยนั้นไม่เหมาะสม เมื่อพิจารณาจากเสียงไม่พอใจและข้อกล่าวหาจากภาคส่วนต่างๆ ในแวดวงศิลปะเกี่ยวกับกระบวนการการจัดซื้อผลงานและการขาดความโปร่งใสในกระบวนการดังกล่าวที่ผ่านมาไม่นานนี้แล้วนั้น สศร.มีปัญหามากมายที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เมื่อ สศร. ประกาศรายชื่อศิลปินและผลงานที่ได้รับการจัดซื้อ ตลอดจนค่าธรรมเนียมของปีนี้ในเว็บไซต์ของสำนักงานฯ ได้เกิดการประท้วงและการแสดงความไม่พอใจขึ้นในวงกว้างเกี่ยวกับผลงานที่ได้รับการคัดเลือกและราคาที่สูงเกินไปสำหรับผลงานบางชิ้น รายชื่อดังกล่าวถูกถอดออกจากเว็บไซต์ทันที ในขณะที่ผู้อำนวยการของ สศร. ให้การรับรองกับสาธารณชนว่ากระบวนการจัดซื้อผลงานนั้นเป็นไปอย่างยุติธรรมและโปร่งใส

ธวัชชัย สมคง, Never Forget the Miracle Story (พ.ศ. 2543) สีอะคริลิกบนผ้าใบ;

วงการศิลปะไทยยังคงผิดหวังกับการสื่อสารอันนำมาซึ่งความไม่เข้าใจกันระหว่างเจ้าหน้าที่ สศร. กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอลงกรณ์ หล่อวัฒนาและธวัชชัย สมคง ซึ่ง สศร. ได้ซื้อผลงานศิลปะของพวกเขาทั้งสี่ชิ้นในราคาที่สูงเกินไป โดยมีมูลค่ารวมกันกว่า 7 ล้านบาท ทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นว่า อลงกรณ์และธวัชชัยนั้นมีความสำคัญมากพอที่จะมีภาพวาดของพวกเขาในคอลเล็คชันของ สศร. หรือไม่ แล้วเหตุใดจึงไม่มีผลงานของจิตรกรที่ได้รับการยอมรับ อย่างเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, จักรพันธุ์ โปษยกฤต, สมยศ หาญอนันทสุข, และไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ ในกรณีของ ธวัชชัย สมคง ซึ่งได้รับการว่าจ้างโดย สศร. ให้เป็นภัณฑารักษ์และผู้จัดพิมพ์งานของสำนักฯ เขาเคยทำหน้าที่ในคณะกรรมการการจัดซื้อผลงานและภัณฑารักษ์ของพาวิเลียนของประเทศไทยในงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Venice Biennale ในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงและความสับสนวุ่นวายในหมู่ศิลปินไทย การคัดเลือกผลงานการแสดงระดับนานาชาติที่ต่ำกว่ามาตรฐานโดยปัญญา วิจินธนสาร, สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ และกฤช งามสม ที่คัดเลือกโดยธวัชชัยนั้นนับเป็นความน่ากังวลและแสดงถึงการเลือกปฏิบัติของ สศร. นอกจากนี้ธวัชชัยยังเป็นหนึ่งในทีมภัณฑารักษ์ของไทยแลนด์ เบียนนาเล่ โคราชในปีนี้ของ สศร. อีกด้วย ในแวดวงศิลปะไทย ธวัชชัยเป็นที่รู้จักในฐานะนักธุรกิจศิลป์และผู้จัดพิมพ์งานศิลปะมากกว่าในฐานะศิลปินและภัณฑารักษ์ ประสบการณ์ของเขาในระดับนานาชาตินั้นมีจำกัด ซึ่งเป็นผลให้ผู้อำนวยการและที่ปรึกษาของ สศร. ต้องเผชิญกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการเรียกร้องให้มีการชี้แจงจากสาธารณชนเกี่ยวกับการเล่นพรรคเล่นพวก ขาดจรรยาบรรณและผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างต่อเนื่อง

การขาดความเป็นมืออาชีพและจรรยาบรรณร่วมกับนโยบายการจัดซื้อผลงานศิลปะที่ไม่ชัดเจนทำให้ สศร. มาถึงทางแยกที่สำคัญ สศร. ดำเนินงานอย่างไร้ทิศทางและจุดหมาย ซึ่งขัดกับแผนยุทธศาสตร์ระหว่างปี พ.ศ. 2563 ถึงปี พ.ศ. 2565 อันสวยหรูที่ประกาศโดยนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อยกระดับงานศิลปะไทยร่วมสมัยในเวทีสากล ให้พร้อมด้วยบิ๊กดาต้า เศรษฐกิจสร้างสรรค์และพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยที่ดีที่สุดในภูมิภาค

 สาครินทร์ เครืออ่อน, สมันตัวสุดท้าย (พ.ศ. 2560), สื่อผสมและเฟอร์นิเจอร์

สมันตัวสุดท้าย (พ.ศ. 2560) ผลงานศิลปะจัดวางอันยอดเยี่ยมโดย สาครินทร์ เครืออ่อน จัดแสดงอย่างวิจิตรบนโต๊ะสไตล์พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 กวางหัวขาด (สายพันธุ์ Cervus Schomburgki ที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว) ถูกตีความโดยสาครินทร์ว่าเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงลัทธิอำนาจนิยมและความเป็นเจ้าโลก ดวงตาอันไร้ชีวิตของสัตว์มีเขาจ้องมองไปที่ผู้ชมอย่างว่างเปล่า สมันที่ไร้ชีวิตและอนาคตสามารถเปรียบเทียบได้กับท่อนไม้ที่ตายแล้ว สศร.กำลังต้องการการฟื้นฟูและการช่วยชีวิตอย่างเร่งด่วน เนื่องจากโครงการการสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยของกระทรวงวัฒนธรรม บนถนนรัชดาภิเษก สำหรับจัดแสดงผลงานศิลปะเหล่านี้ที่ยังไม่เสร็จสิ้น กระทรวงวัฒนธรรมได้ใช้เงินภาษีไปแล้วหลายร้อยล้านบาท แต่พิพิธภัณฑ์ศิลปะดังกล่าวยังไม่เปิดให้บริการเสียที แม้จะก่อสร้างมานานกว่าทศวรรษแล้วก็ตาม

อภินันท์ โปษยานนท์ *

ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ เป็นสมาชิกคณะกรรมการของพิพิธภัณฑ์โซโลมอน กุกเกนไฮม์ นครนิวยอร์กและหอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์

เครดิตภาพ: สศร. และอภินันท์ โปษยานนท์