ไขข้อสงสัย… สาวๆ ที่รับวัคซีน COVID-19 แล้ว ทำให้มีบุตรยากจริงหรือ?

Photo : Shutterstock
การระบาดของโรค COVID-19 ที่ยาวนาน และมีการทวีความรุนแรงของเชื้อโรคมากขึ้นในปัจจุบัน อาจส่งผลต่อการตัดสินใจเรื่องการวางแผนมีบุตรของหลายคู่แต่งงาน ที่กังวลในเรื่องความปลอดภัยของทารกในครรภ์ รวมถึงความพร้อมด้านสุขภาพของคุณแม่ และในอีกหลายปัจจัย ทำให้หลายครอบครัวจึงเลือกที่จะเลื่อนโปรแกรมการรักษาภาวะมีบุตรยากเพื่อรอจนกว่าจะมีความมั่นใจในการรับวัคซีน

แพทย์หญิงสิริสุข อุ่ยตระกูล สูตินรีแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลเจตนิน กล่าวว่า

“ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกัน COVID-19 หลากหลายยี่ห้อที่ได้ทำการทดลองในสัตว์ที่ตั้งครรภ์ ซึ่งยังไม่พบผลข้างเคียงที่ผิดปกติ เช่น วัคซีนจากโมเดอร์นา (Moderna), ไฟเซอร์ (Pfizer) และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาผลข้างเคียงของวัคซีนในผู้ที่ตั้งครรภ์ค่อนข้างมีข้อจำกัด และยังมีจำนวนไม่มากนัก”

ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) ระบุว่า แม้ว่าความเสี่ยงโดยรวมของการเจ็บป่วยรุนแรงจาก COVID-19 ของคุณแม่ตั้งครรภ์จะอยู่ในระดับต่ำ แต่คนที่ตั้งครรภ์ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสำหรับการเจ็บป่วยเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์

อีกทั้งยังมีรายงานว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยด้วย COVID-19 อาจมีการรุนแรงได้หากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีน้ำหนักเกิน มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน รวมทั้งมีภาวะครรภ์เป็นพิษ ทำให้มีโอกาสต้องการรักษาในห้อง ICU หรือใช้เครื่องช่วยหายใจมากกว่า รวมทั้งอาจพบอัตราการเสียชีวิตมากกว่าคนปกติ

นอกจากนี้ การติดเชื้อมีผลต่อการตั้งครรภ์ คือมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดมากกว่าคนตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อ แต่ยังไม่พบความพิการของเด็กเพิ่มสูงขึ้น

วัคซีนส่งผลข้างเคียงหรือไม่?

คำถามสำคัญ หรือข้อกังวลของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตร และกำลังพยายามตั้งครรภ์ช่วงนี้ หรือมีแผนในอนาคตอันใกล้ ก็คือ หลังจากการรับวัคซีน COVID-19 แล้ว จะมีผลข้างเคียงหรือส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ เช่น ทำให้มีบุตรยาก เสี่ยงต่อการสูญเสียทารกในครรภ์ หรือทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการไม่เต็มที่หรือไม่?

พ.ญ. สิริสุข อธิบายเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการศึกษาหลักการทำงาน และประสิทธิภาพความปลอดภัยของวัคซีนในกลุ่มผู้ที่ต้องการมีบุตร ยังไม่พบว่าการรับวัคซีนส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ หรือทำให้มีบุตรยากขึ้น

“สำหรับความปลอดภัยของวัคซีน COVID-19 กับการตั้งครรภ์ อยากแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจ เพื่อประเมินความเสี่ยง หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นหากติดเชื้อ รวมถึงประเมินผลดี ผลเสีย เปรียบเทียบกับอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรับฉีดวัคซีน หากพิจารณาแล้วว่าพบว่ามีความเสี่ยงต่อการติดโควิดมากกว่า แพทย์อาจลงความเห็นว่าให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไว้ก่อน”

ฉีดแล้ว ยังตั้งครรภ์ได้

ส่วนคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว สามารถวางแผนตั้งครรภ์ได้หรือไม่นั้น ตามคำแนะนำของ CDC ระบุว่าไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์หลังได้รับวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA เนื่องจากตามทฤษฎีแล้ว วัคซีนจะไม่ได้เข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์ จึงไม่น่าจะมีการกลายพันธุ์ทั้งในตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ หากเกิดการตั้งครรภ์ภายหลังได้รับวัคซีน สำหรับคู่สมรสที่มีแผนตั้งครรภ์หลังจากได้รับวัคซีน ควรเข้ามาพบสูติแพทย์เพื่อปรึกษาและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

Photo : Shutterstock

ยังมีประเด็นข้อสงสัยอื่นๆ เกี่ยวกับวัคซีน COVID-19 กับการมีบุตร เช่น คุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่ โดยการศึกษาของ CDC ให้ข้อมูลว่า ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดในกลุ่มคุณแม่ที่ให้นมบุตร รวมถึงทารกที่ได้รับนมจากมารดาที่ฉีดวัคซีน หรือลักษณะของน้ำนมของผู้ที่รับการฉีดวัคซีน

แต่เนื่องจากลักษณะของวัคซีนเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย จึงไม่น่าจะเกิดความเสี่ยงจากการฉีดวัคซีน ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำแนะนำว่า เพื่อรอผลศึกษาจากงานวิจัยที่แน่ชัด มารดาที่ให้นมบุตร และไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 ควรชะลอการฉีดวัคซีนออกไปก่อนจนกว่าจะพ้นช่วงให้นมบุตร ส่วนผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร และมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ COVID-19 ให้คำนึงถึงประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนกับความเสี่ยงของวัคซีน โดยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้โดยปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนตัดสินใจ