‘ยูนิโคล่’ งานเข้าหลัง ‘สหรัฐฯ’ เบรกนำเข้าสินค้า เหตุหวั่นใช้แรงงานชาวอุยกูร์

ในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา สินค้าของ ‘UNIQLO’ (ยูนิโคล่) ของ Fast Retailing Co. Ltd. ได้ถูกกรมศุลกากรและป้องกันชายแดนของสหรัฐฯ (CBP) ที่ท่าเรือลอสแอนเจลิสระงับการขนส่งเสื้อเชิ้ตผ้าฝ้าย เนื่องจากมีข้อสงสัยว่าผลิตจาก ‘ฝ้ายซินเจียง’ ซึ่งมีข้อกังวลว่าเป็นการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ในซินเจียง

ย้อนกลับไปในเดือนธันวาคมปี 2020 กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐอเมริกา (DHS) ได้ออกแถลงข่าวเกี่ยวกับ “คำสั่งระงับ” ฉบับใหม่ที่เกี่ยวข้องกับซินเจียงโดยระบุว่าคำสั่ง “Withhold Release Order” (WRO) นี้จะกำหนดให้มีการควบคุมผลิตภัณฑ์ฝ้ายทั้งหมดที่ผลิตโดย XPCC (Xinjiang Production and Construction Corps) และผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันที่ XPCC ผลิตขึ้น เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ มองว่า XPCC คือพวกเขาเป็นกลุ่มเศรษฐกิจและกึ่งทหารที่ควบคุมธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจในภูมิภาคซินเจียงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับสินค้าที่ถูกทางการสหรัฐฯ สั่งระงับไว้นั้น ผู้นำเข้าสินค้าจะต้องนำสินค้าออกนอกประเทศหรือไม่ก็ถูกทำลาย หากไม่สามารถยืนยันได้ว่าสินค้าดังกล่าวไม่ได้ละเมิดกับกฎหมายของสหรัฐฯ ซึ่งกระบวนการตรวจสอบนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงและกินเวลานาน เพราะเป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้วที่ยังหาข้อสรุปให้กับ Uniqlo ไม่ได้

แม้ตามเอกสารศุลกากรของ Uniqlo ระบุว่า ผ้าฝ้ายดิบที่ใช้ในเสื้อเชิ้ตผลิตในออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกาและบราซิลโดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับแรงงานชาวอุยกูร์ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของสหรัฐฯ กล่าวว่า Uniqlo ไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าผลิตภัณฑ์ของตนไม่ได้ผลิตจากแรงงานชาวอุยกูร์ โดยอ้างว่าไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิตที่เพียงพอ

Tadashi Yanai CEO ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำถามเกี่ยวกับผ้าฝ้ายในภูมิภาคซินเจียงในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อเดือนเมษายน แต่บริษัทได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในแถลงการณ์เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2020 ว่า

“ไม่มีผลิตภัณฑ์ Uniqlo ที่ผลิตในภูมิภาคซินเจียง นอกจากนี้ยังไม่มีพันธมิตรด้านการผลิตของ Uniqlo ที่รับเหมาช่วงให้กับโรงงานผลิตผ้าหรือโรงปั่นด้ายในภูมิภาค”

อย่างไรก็ตาม ยอดขายในอเมริกาเหนือคิดเป็นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของยอดรวมของ Fast Retailing ดังนั้น การจัดส่งที่ถูกบล็อกจึงคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่แม้ว่าผลกระทบกับ Uniqlo อาจไม่ได้มากมาย แต่ทั้งหมดนี้ถือเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยเฉพาะเมื่อเครื่องแต่งกาย, รองเท้าและเครื่องประดับส่วนใหญ่ยังคงมาจากประเทศจีน

forbes / nikkeiasia