ภูมิคุ้มกันหมู่เป็นไปได้แค่ไหน ในวันที่เชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์?

เมื่อการระบาดของไวรัส COVID-19 เริ่มระบาดไปทั่วโลกตั้งแต่ปี 2020 รัฐบาลและหน่วยงานด้านสุขภาพหลายแห่งดูเหมือนจะตั้งความหวังไว้ที่ ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ (Herd Immunity) ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชากรมีภูมิคุ้มกันจำนวน ‘มากพอ’ จนช่วยป้องกันการกระจายเชื้อระหว่างคนสู่คน โดยมีทฤษฎีคือ 60-70% ของประชากร จากนั้นการแพร่กระจายของไวรัสจะค่อย ๆ ลดลงและผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อจะได้รับการป้องกัน เนื่องจากจากโอกาสที่ไวรัสจะแพร่กระจายนั้นน้อยลง

ปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลกรวมกว่า 164 ล้านคนและเสียชีวิต 3.4 ล้านคน แม้ว่าขณะนี้โลกจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงและโครงการสร้างภูมิคุ้มกันกำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก ทำให้เกิดความหวังว่าเมื่อประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนเพียงพอแล้วก็จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่า COVID-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนกับ ‘ไข้หวัดใหญ่’ ซึ่งหมายความว่าจะยังคงแพร่ระบาดได้ในบางส่วนของประชากรซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามตามฤดูกาล และหวังว่ามันจะมีอันตรายน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่มันก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะเกิด การกลายพันธุ์ ที่ทราบแน่ชัดว่าภูมิคุ้มกันหมู่จะสามารถป้องกันได้หรือไม่

Photo : Shutterstock

นักระบาดวิทยา ลอเรน แอนเซล เมเยอร์ส ผู้อำนวยการ University of Texas Covid-19 Modeling Consortium อธิบายว่า ภูมิคุ้มกันหมู่เป็นแนวคิดที่ว่าถ้าฉีดวัคซีนให้คนทั่วโลกเพียงพอ ไวรัสจะไม่มีที่ใดแพร่กระจายได้และการแพร่ระบาดจะหายไปอย่างสมบูรณ์

“น่าเสียดายที่เราอยู่ห่างไกลจากความเป็นจริง เพราะไวรัสยังคงแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหลายทวีป สายพันธุ์ใหม่ที่สามารถแพร่กระจายผ่านภูมิคุ้มกันได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหลายประเทศล้าหลังกว่าสหรัฐอเมริกาในการฉีดวัคซีน” 

แม้แต่ในเมืองของสหรัฐอเมริกาภูมิคุ้มกันก็ยังอยู่ในระดับวิกฤต โดยมีการประเมินว่าความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนมีตั้งแต่ต่ำกว่า 40% ไปจนถึงมากกว่า 80% ขึ้นอยู่กับว่าละแวกที่อยู่อาศัย ขณะที่ประชากรอายุต่ำกว่า 12 ปี ยังไม่สามารถรับวัคซีนได้ ตราบใดที่ยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ ไวรัสที่ซ่อนตัวอยู่นี้จะยังคงแพร่กระจายและสร้างสายพันธุ์ใหม่ต่อไป

Photo : Shutterstock

ดร. วิลเลียม เพทรี ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ซึ่งช่วยเป็นผู้นำโครงการระดับโลกเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคโปลิโอในฐานะประธานคณะกรรมการวิจัยโปลิโอขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า สำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ระดับโลกเคยสำเร็จเพียง ‘ครั้งเดียว’ ก็คือการกำจัด ‘ไข้ทรพิษ’ ในปี 1980 หลังจากการรณรงค์การฉีดวัคซีนอย่างเข้มข้นทั่วโลก นอกจากนี้เรายังเข้าใกล้ภูมิคุ้มกันหมู่ทั่วโลกสำหรับ ‘โรคโปลิโอ’

ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่สามารถทำได้ทั่วโลก แต่ต้องอาศัยความพยายามพิเศษร่วมกับความร่วมมือระดับโลกเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่ฉีดวัคซีนเนื่องจากยังลังเล อีกทั้งหลายประเทศยังเข้าถึงวัคซีนไม่เท่ากัน ไม่เหมือนในสหรัฐอเมริกา และแม้อเมริกาจะได้รับการฉีดวัคซีนเยอะ แต่อาจต้องรอถึงปี 2022 หรือนานกว่านั้นจึงจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่

ซามูเอล สคาร์ปิโน นักวิจัยด้านโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น สหรัฐอเมริกา มองว่า ตราบใดที่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าวัคซีนแต่ละยี่ห้อสามารถ ‘หยุดยั้งการแพร่เชื้อ’ ได้แค่ไหน เราก็คงยังไม่สามารถบอกได้ว่า ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และ ‘ค่าร้อยละ’ ที่น้อยที่สุดของจำนวนประชากรที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรค (Herd Immunity Threshold) ควรเป็นเท่าใด จึงจะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

Photo : Shutterstock

เช่นเดียวกับ สเตฟาน ฟลาสช์ นักระบาดวิทยาแห่ง London School of Hygiene & Tropical Medicine มองว่า การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่สามารถเกิดจากการฉีดวัคซีนเพียงอย่างเดียว เพราะวัคซีนที่มีอยู่ยังไม่สามารถหยุดการแพร่กระจายเชื้อได้ โลกจึงต้องคิดหาวิธีว่าจะอยู่ร่วมกับไวรัสชนิดนี้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม เมเยอร์สตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าจะไม่ได้รับภูมิคุ้มกันหมู่ แต่วัคซีนอาจช่วยให้ COVID-19 กลายเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงน้อยกว่าเดิม ดังนั้น ถึงจะไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่หรือกำจัดเชื้อไวรัสให้หายไป แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่กลับสู่สภาวะปกติไม่ได้ เพราะปัจจุบัน เริ่มเห็นจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเริ่มลดลงแล้ว

“ด้วยรูปแบบที่เกิดขึ้นใหม่และจำนวนการฉีดวัคซีนที่ต่ำ จึงไม่มีการรับประกันว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้ แต่ยิ่งมีคนฉีดวัคซีนมากเท่าไหร่ภัยคุกคามก็จะยิ่งลดลงเร็วขึ้นเท่านั้น”

CNBC / theconversation