คอนโดมิเนียม มีเงินล้านกว่าเลือกได้ทุกแบรนด์

กลายเป็นเทรนด์ร้อนตั้งแต่ปลายปี 2553 นี้ เมื่อตลาดคอนโดมิเนียมระดับราคาล้านต้นๆ หรือล้าน กระหึ่มครองส่วนแบ่งตลาดคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ผ่านสื่อต่างๆ จำนวนประมาณ 156 โครงการในจำนวนนี้เป็นโครงการที่จัดอยู่ในระดับล้านต้นๆ หรือเริ่มต้นใกล้ล้านถึง 93 โครงการ

กระแสนี้ไม่ได้จบแค่สิ้นปี เพราะหลายโครงการประกาศชัดว่าปีหน้าจะยังคงหาทำเลเพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมสำหรับกลุ่มราคานี้อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นราคาที่มีกลุ่มผู้ซื้อสูงสุด เพราะเชื่อว่าเป็นที่อยู่อาศัยที่สามารถนำค่าเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองบวกค่าเสียเวลามาปรับเป็นค่าผ่อนชำระแล้วคุ้มค่ากว่า

ดังนั้นนอกจากเป้าหมายที่กลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ในเมืองแล้ว เจ้าของโครงการส่วนใหญ่เริ่มมองเทรนด์ใหม่สำหรับสินค้านี้ โดยนำเสนอไปยังกลุ่มผู้ปกครองของนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องจ่ายค่าหอพักในราคาใกล้ๆ หมื่นสำหรับอัตราเฉลี่ยของหอพักที่อยู่ในทำเลใกล้สถานศึกษาที่ไปมาสะดวกและอยู่ในย่านชุมชน ถ้าปรับงบก้อนนี้มาผ่อนที่อยู่อาศัยให้ลูกๆ เสียเลย เรียนจบก็ยังใช้ต่อได้ จึงกลายเป็นเป้าหมายใหม่ที่ต่อยอดมาจากกลุ่มคนเริ่มทำงาน

รายที่ประกาศเปิดตัวชัดเจนแล้วว่าจะหันมาจับกลุ่มนี้แน่นอน และเป็นตัวจุดความสนใจของตลาดได้ดีที่สุด ก็คือพี่เบิ้มของวงการอสังหาริมทรัพย์แบรนด์ดังอย่างแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ซึ่งออกมาประกาศว่านอกจากจะเปิดคอนโดภายใต้แบรนด์ The Key ในระดับราคาเริ่มต้นที่ 1.75 ล้านบาทต่อยูนิตถึง 3 ทำเลในปีนี้แล้ว ปีหน้าแลนด์ฯ เตรียมจะคัสโตไมซ์คอนโดฯ กลุ่มนี้ให้ถูกลงอีกเพื่อหันไปจับกลุ่มนักศึกษาชัดๆ ไปเลย

อย่างนี้คงต้องบอกว่า ถ้าตลาดบนอิ่มตัวทำเลก็หายาก หันมาเล่นตลาดนี้ การร่วมวงของแลนด์ฯ นอกจากสร้างความคึกคักให้ตลาด จึงเป็นการตอกย้ำเทรนด์ที่ผู้ประกอบการรายอื่นไม่ควรละเลย

ขณะที่แบรนด์ระดับใกล้ๆ กัน อย่าง Property Perfect นอกจากจะมีแบรนด์ iCondo สำหรับที่ตั้งราคาเริ่มต้นไว้ 9.9 แสน ใน 3 ทำเลเหมือนกัน ก็ประกาศชัดเจนเช่นกันว่าจะเปิดคอนโดฯ เพื่อเจาะกลุ่มนักศกษาในทำเลใกล้มหาวิทยาลัยทั้งกรุงเทพฯและที่เชียงใหม่ โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า ยูนิลอฟท์ อีกเซ็กเมนต์หนึ่งด้วย ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงแม้จะเพื่อให้นักศึกษาอยู่ แต่พ่อแม่ต่างหากคือคนจ่ายและเป็นผู้มีประสบการณ์ที่ช่วยคิด มีกำลังและมีอำนาจการตัดสินใจซื้อที่แท้จริง

ถ้าตลาดกลุ่มนี้ไม่เปิดกว้างจริง บริษัทพัฒนาที่ดินทั้งหลายคงไม่ฝ่าด่านเหล็กเพื่อพัฒนาโครงการเหล่านี้เป็นแน่ ด่านเหล็กที่ว่า มีทั้งกฎเกณฑ์ด้านสินเชื่อที่ออกมาตรการรัดกุมขึ้นในการชำระเงินเพื่อป้องกันปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้ โดยต้องควานหากำลังซื้อที่แท้จริงมากกว่ากลุ่มนักเกร็งกำไร และกลุ่มนักศึกษานี่แหละที่อย่างไรก็จำเป็นต้องมีที่อยู่อาศัยไม่ต่างจากคนที่ต้องทำงานในเมือง

ที่หินที่สุด คงหนีไม่พ้นจะทำอย่างไรที่หาจะแลนด์แบงก์ที่เป็นทำเลทองแต่ต้องพัฒนาให้ได้ราคาถูกใจตลาดแบบนี้ให้ได้

ยิ่งทำเลที่เข้าถึงง่าย มีรถไฟฟ้าผ่าน ก็ถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีราคาที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสูงสุดถึง 1.2 ล้านบาทต่อตารางวา ได้แก่ย่านสยามสแควร์ เพลินจิต ชิดลม และที่ดินที่ในแนวรถไฟฟ้าอีก 112 สถานีที่มีอยู่และกำลังจะเกิดขึ้นก็มีราคาสูงและแพงขึ้นทุกปี ไม่ต่างกัน แต่กระแสความแรงของกำลังซื้อคงทำไม่ยากเกินมือบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ ใครที่สนใจห้องใหม่สักห้องในราคาล้านต้นๆ รับรองว่าอยากได้ทำเลที่จะเดินทางเข้าศูนย์กลางเมืองจากมุมไหนก็คงมีให้เลือกแน่ๆ