คุยกับนักสร้าง “พิพิธภัณฑ์” ยุคใหม่ “เพทาย พันธุ์มณี” แห่ง GKE

เพทาย พันธุ์มณี จีเคอี
ใครที่เคยไป “มิวเซียมสยาม” ในปีที่เปิดบริการเป็นครั้งแรก น่าจะยังพอจะจำความรู้สึกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ในยุคนั้น เพราะวิธีการนำเสนอและมุมมองน่าตื่นตาตื่นใจ ไม่ได้มีเพียงแผ่นภาพกับตัวหนังสือที่เรียงรายชวนง่วง บริษัทที่อยู่เบื้องหลังมิวเซียมสยามในยุคบุกเบิกนั้นก็คือ “GKE” ผู้เชื่อในพลังของ “Storytelling” ว่าสามารถบอกเล่าทุกเรื่องไม่ว่าจะยากง่ายแค่ไหนให้ทรงพลังได้

ในวันนั้น GKE ยังเป็นแผนกหนึ่งใน เครือปิโก (ไทยแลนด์) ซึ่งขยายสาขามาจากสิงคโปร์ ปิโกนั้นมีความเชี่ยวชาญด้านการจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ แต่ส่วนย่อยอย่าง GKE จะมีความเชี่ยวชาญลงลึกลงไปอีก คือการจัดงานที่มีลักษณะเป็น ‘Permanent Exhibit’ ซึ่งก็คือ พิพิธภัณฑ์, Visitor Center และ การออกแบบออฟฟิศบริษัท จนในที่สุด GKE ได้ ‘spin-off’ ออกมาเป็นบริษัทย่อยของตนเอง

จากยุคมิวเซียมสยามเมื่อปี 2550 GKE ได้รับงานต่ออีกหลายแห่ง โดยมีโปรเจกต์ใหญ่ที่เสร็จสิ้นและเปิดบริการเมื่อเดือนธันวาคม 2562 คือ “พิพิธภัณฑ์พระราม 9” เป็นพิพิธภัณฑ์ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ที่รังสิต-คลอง 5 จ.ปทุมธานี (ติดกับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ ‘ตึกลูกเต๋า’)

“เพทาย พันธุ์มณี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเคอี จำกัด

แม้หลายคนอาจยังไม่ได้ไปเยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่เพราะสถานการณ์ระบาด มาลองอ่านเบื้องหลังจากทีมผู้สร้างสรรค์ก่อนได้ โดย Positioning มีโอกาสได้คุยกับ “เพทาย พันธุ์มณี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเคอี จำกัด หัวเรือของงานเล่าเรื่องผ่านพิพิธภัณฑ์ในไทย

“มิวเซียมสยามนี้เป็นผลงานที่ปฏิวัติวงการของไทยเลย เพราะเราเอาวิธีแบบ directive มาใช้แทบจะ 100% คือเราไม่ได้เดินไปดูโมเดลแล้วมีแผ่นป้ายแปะ แต่ต้องเดินเข้าไปแล้วมี interactive กับสิ่งต่างๆ” เพทายกล่าวถึงงานที่นับได้ว่าเป็นตัวบุกเบิกวงการพิพิธภัณฑ์ไทยสมัยใหม่

เกมปืนใหญ่จำลองแบบ interactive มิติใหม่ในการนำเสนอจากมิวเซียมสยาม

มิวเซียมสยามเปิดตัวมาด้วยลูกเล่นมากมายภายใน เช่น การจำลองขบวนเรือพยุหยาตราออกมาให้ได้เห็นจริง หรือเกมทดลองยิงปืนใหญ่สมัยอยุธยาที่ทำให้คนได้ลองจับสัมผัสน้ำหนักของลูกปืนใหญ่จำลอง สร้างความตื่นตาและแตกต่าง ทำให้ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ

จนถึงปัจจุบัน เพทายมองว่าการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ไทยก้าวหน้าไปมาก โดย 30-40% ของพิพิธภัณฑ์ยุคนี้ปรับตัวมานำเสนอโดยใช้มัลติมีเดียผสมผสานหมดแล้ว เพราะผู้พัฒนาต่างเข้าใจวิธีสื่อสารถึงคนยุคใหม่ และที่สำคัญคือ ‘ผู้ว่าจ้าง’ เห็นตัวอย่างอย่างชัดเจนว่าทำไมจึงต้องเพิ่มงบประมาณเพื่อทำให้สิ่งที่จะสื่อไปถึงมือคนเป็นวงกว้าง

 

พลังของ ‘Storytelling’

ความก้าวหน้าของพิพิธภัณฑ์แบบใหม่ที่ GKE สร้างสรรค์ มาจากแกนกลางเรื่อง ‘Storytelling’ ทีมของเพทายยึดถือสิ่งนี้เป็นกุญแจหลักในการสร้างสรรค์ โดยเชื่อว่าการหามุมมองและวิธีเล่าเรื่องมีพลังในการจับอารมณ์คนดูให้สนใจไปตั้งแต่ต้นจนจบได้

“Storytelling คือหัวใจสำคัญของทีมเรา เพราะเราต้องเอาคอนเทนต์มาเล่าให้สนุกและมีประสบการณ์ร่วม ทำให้น่าจดจำ จะเป็นเรื่องยากง่ายหรือมีที่มานานแค่ไหน เราก็ต้องเอามาเล่าให้สนุก” เพทายกล่าว

ต้นซิคัวยายักษ์จำลองในพิพิธภัณฑ์พระราม 9 ทำให้เห็นความใหญ่โตได้ชัดเจน และใช้วงปีของต้นไม้บอกเล่าเรื่องราว

การหาวิธีเล่าเรื่องแบบใหม่นั้นทำให้พิพิธภัณฑ์ถูกนำเสนอได้น่าสนใจขึ้น เช่น ในพิพิธภัณฑ์พระราม 9 มีการจำลอง “ต้นซิคัวยายักษ์” มาให้ชม เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงความใหญ่โตและทราบว่าต้นไม้สูงวัยได้ผ่านอะไรมาบ้างในห้วงประวัติศาสตร์ วิธีเล่าแบบนี้ย่อมทำให้น่าสนใจกว่าการเป็นเพียงภาพประกอบคำอธิบายธรรมดาๆ

“เราต้องใช้ประสาทสัมผัสหลายๆ ด้านในการสื่อสาร เพราะว่าจริงๆ มีคนส่วนน้อยที่ชอบการอ่าน คนส่วนใหญ่ชอบการได้จับสัมผัส ชอบดูหนัง ชอบอุปกรณ์” เพทายกล่าว “เราต้องการจะจับจริตคนไทยให้ได้ว่าเขาอยากดูอะไร เราจะเห็นว่าคนไทยชอบดูละคร ทำไมล่ะ? เพราะว่าละครมันมีครบรส ทั้งสนุก ดราม่า ความรัก แล้วทำไมเราไม่ทำมิวเซียมให้เหมือนละคร ทำให้ห้องแต่ละห้องมันอิ่มเอมกับความรู้สึกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสุข หดหู่ หวาดเสียว และเมื่อกลับออกไปแล้วเขาจะรู้สึกซาบซึ้งตรึงใจ น่าจดจำ อยากกลับมาอีก”

Storytelling คือหัวใจสำคัญของทีมเรา เพราะเราต้องเอาคอนเทนต์มาเล่าให้สนุกและมีประสบการณ์ร่วม ทำให้น่าจดจำ จะเป็นเรื่องยากง่ายหรือมีที่มานานแค่ไหน เราก็ต้องเอามาเล่าให้สนุก

 

“แบรนด์” ใช้วิธีสื่อสารเดียวกันผ่าน Experience Center

ไม่เฉพาะพิพิธภัณฑ์ที่ใช้การเล่าเรื่องผ่านประสบการณ์เพื่อสื่อสารบางสิ่งบางอย่าง “แบรนด์” หรือบริษัทก็ทำได้เหมือนกัน โดยเพทายอธิบายว่า จุดกำเนิดมาจากการทำ Visitor Center ของแบรนด์ต่างๆ ซึ่งมักจะเป็นการสร้างพื้นที่เล่าประวัติความเป็นมาของแบรนด์ในสำนักงานหรือโรงงานของตนเอง จุดประสงค์เพื่อสื่อสารกับดีลเลอร์หรือลูกค้าที่มาเยี่ยมบริษัท ทำให้มีลักษณะกึ่งปิดจากบุคคลภายนอก

แต่ในยุคนี้ แบรนด์จำนวนมากทั่วโลกสนใจขยายผล Visitor Center ให้เป็น Experience Center มากขึ้น

Cup Noodles Museum ของ Nissin สาขาเมืองโยโกฮาม่า (Photo : cupnoodles-museum.jp)

ความแตกต่างของ Experience Center คือเป็นพื้นที่จัดแสดงที่เปิดต่อสาธารณะ เน้นทำเลที่สะดวกต่อการมาเยี่ยมเยือน และการสื่อสารจะแฝงแง่มุม ‘การตลาด’ มากขึ้น จุดประสงค์คือทำให้ผู้ชมรู้จักแบรนด์ดีขึ้น เชื่อถือในแบรนด์ และเกิดความซื่อสัตย์ต่อแบรนด์เมื่อกลับออกไป

ตัวอย่าง Experience Center ชื่อดังในต่างประเทศ เช่น Cup Noodles Museum ของบริษัท Nissin ในโอซาก้าและโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น, A History of Nestle Museum ในเมืองเวอแว ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หรือ Guinness Storehouse ที่เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ แต่ละแห่งล้วนเล่าเรื่องราวของตนเองผ่านประสบการณ์ที่ทำให้คนประทับใจในแบรนด์ จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปในตัว อย่าง Nissin มีไฮไลต์ที่เปิดให้ลงมือทำบะหมี่ถ้วยของตนเอง หรือ Nestle มีการเล่าที่พาเราย้อนยุคไปสู่บรรยากาศ 300 ปีก่อน

A History of Nestle Museum มีให้ชมแบบ Virtual Tour 360 องศา คลิกที่นี่

เมื่อออกจากมิวเซียม ผู้เยี่ยมชมแต่ละคนต่างพากันซื้อสินค้าของ Nissin หรือ Nestle เห็นได้ชัดว่าพลังของ Storytelling ทำงานบนความรู้สึกของผู้บริโภคเรียบร้อยและจะเป็นความทรงจำระยะยาว

“สิ่งนี้เหมือนกับแบรนด์ลงทุนทำหนังโฆษณา แต่จริงๆ หนังโฆษณามันมีเวลาแค่ 1 นาทีครึ่ง โดยที่ใช้งบทำครั้งหนึ่งเป็นหลักล้านหากมีพรีเซ็นเตอร์ดังเข้ามา” เพทายอธิบาย

“ประสบการณ์” คือสิ่งที่คนไทยโหยหา

ข้างฝ่ายผู้ชมตอบรับแค่ไหน? เพทายมองว่ายุค 10 ปีให้หลังมานี้ ไลฟ์สไตล์และความชอบของคนไทยเปลี่ยนไปมาก แม้ว่าชีวิตวันหยุดคนส่วนใหญ่มักจะไปศูนย์การค้า ทานข้าว ดูหนัง ช้อปปิ้ง แต่จริงๆ แล้วคนไทยโหยหาความแปลกใหม่อย่างมาก สังเกตว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวแนวใหม่เกิดขึ้นและได้รับความนิยม เช่น คาเฟ่กลางทุ่ง ปราสาทแบบตะวันตกบนเขาใหญ่

เขามองว่าสถานที่ดังกล่าวมีจุดเด่นคือการเป็น “จุดถ่ายรูป” แต่ที่จริงแล้วถ้ามี “คอนเทนต์” ประกอบที่ให้ประสบการณ์เชิงลึก จะยิ่งดึงดูดให้คนใช้เวลาอยู่ด้วยนานขึ้น

คนไทยโหยหาความแปลกใหม่ สังเกตได้จากเทรนด์สถานที่ท่องเที่ยวระยะหลัง เช่น คาเฟ่กลางทุ่งนา (Photo : ชะตา ธรรมชาติ คาเฟ่ จ.นครปฐม / Shutterstock)

“สมมติว่าถ้าปราสาทที่เขาใหญ่มีจัดเวิร์กช็อปทำขนมปัง 3 วัน 2 คืน แทนที่เขาจะไปแค่คืนเดียว เขาก็อยู่ต่อ เพราะได้คอนเทนต์ในการแชร์ให้คนอื่นดูเพิ่มด้วย นอกจากรูปสวยๆ อย่างเดียว” เพทายอธิบาย

เขายังยกตัวอย่างพิพิธภัณฑ์พระราม 9 หลังเปิดบริการไป ปรากฏว่าผลตอบรับดีมากในกลุ่มครอบครัวซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก เพราะมิวเซียมตอบโจทย์ทุกอย่างของครอบครัว ภายในติดแอร์ ไม่ร้อน เด็กๆ มีที่วิ่งเล่น พ่อแม่ก็ได้ความรู้ไปด้วย และด้วยความยาวของทางเดินถึง 1.8 กิโลเมตร ทำให้หลายครอบครัวต้องมาซ้ำ 2-3 ครั้ง

จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และหลายแบรนด์ในไทยเริ่มเล็งเห็นประโยชน์ที่ไปในทางเดียวกัน ทำให้มีบางบริษัทที่สนใจติดต่อ GKE เข้ามาบ้างแล้ว โดยเขาแย้มว่าปลายปีนี้จะมี Experience Center ของแบรนด์หนึ่งเสร็จสิ้น 1 แห่งพร้อมเปิดให้เยี่ยมชม แต่ขอเก็บเป็นความลับก่อนว่าจะเป็นแบรนด์อะไร และเชื่อว่าอีก 4-5 ปีข้างหน้าน่าจะได้เห็น Experience Center ของแบรนด์ต่างๆ ในไทยเพิ่มมากขึ้น

“อีก 5 ปีจากนี้เราอาจจะมีกิจกรรมที่แตกต่างน่าสนใจขึ้น ไม่ต้องไปแต่ห้างกันแล้ว” เพทายกล่าวทิ้งท้าย