“มิชลิน ไกด์” เปิดตัวเมืองใหม่บนไกด์บุ๊กของไทยคือ “อยุธยา” ที่จะเริ่มปรากฏบนคู่มือของปี 2565 เปิดตลาดแหล่งอาหารทั้งสไตล์โบราณและร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็น “หมูโสร่ง” ไปจนถึง “กุ้งเผา” และ “ก๋วยเตี๋ยวเรือ” งานนี้ ททท. เชื่อมั่นว่าจะช่วยดันค่าใช้จ่ายด้านอาหารในอยุธยาเพิ่มอีก 20% และทำให้มีการพักแรมสูงขึ้น
“มานูเอล มอนตานา” ประธานกลุ่มมิชลินประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกและออสเตรเลีย ประกาศเปิดตัว “อยุธยา” เป็นเมืองใหม่บนมิชลิน ไกด์ ประจำประเทศไทย โดยจะเริ่มบรรจุเข้ามาในปี 2565 พร้อมแนะนำอยุธยาว่าได้รับคัดเลือกเนื่องจากเป็น “เมืองมรดกโลก” โดย UNESCO ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 400 ปี
ปัจจุบันอยุธยาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และมีร้านอาหาร-คาเฟ่มากมายในหลายหมวดอาหารทั้งสไตล์โบราณและทันสมัย ที่คนจำนวนมากสามารถขับรถมาชิมอาหารได้ในวันหยุด
มิชลิน ไกด์ เริ่มออกคู่มือครั้งแรกในปี 2561 จนถึงขณะนี้มีการคัดเลือกร้านอาหารใน 3 พื้นที่ คือ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล, เชียงใหม่ และ ภูเก็ต-พังงา ทำให้อยุธยาเข้ามาเป็นที่ที่ 4 ในลิสต์
ในแง่ความหลากหลายของอาหารในอยุธยา “สรัลพัชร ประโมทะกะ” รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แนะนำถึงอาหารทั้งที่มีตั้งแต่โบราณจากในรั้ววัง เช่น หมูโสร่ง ขนมแววมยุรา บุหลันดั้นเมฆ จนถึงอาหารร่วมสมัยที่ใครๆ มาอยุธยาก็ต้องหาทาน เช่น กุ้งแม่น้ำเผา ก๋วยเตี๋ยวเรืออยุธยา หรือโรตีสายไหม ทั้งหมดเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าอยุธยามากขึ้น
ด้าน “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปี 2563 มีนักท่องเที่ยวเข้าสู่อยุธยา 3.6 ล้านคน ดังที่ทราบกันดีว่าเป็นปีที่เกิด COVID-19 ระบาดแล้ว ตัวเลขนี้จึงเกือบจะเป็นตัวเลขนักท่องเที่ยวไทยทั้งหมด สะท้อนภาพว่าคนไทยมีความสนใจเมืองเก่าของตนเอง และร้านอาหารเป็นส่วนหนึ่งที่ดึงดูดได้ เพราะระยะหลังมีร้านอาหาร-คาเฟ่เกิดใหม่จำนวนมากในอยุธยา ทำให้มีนักท่องเที่ยววัยหนุ่มสาวเข้าสู่อยุธยามากขึ้น
ยุทธศักดิ์ยังกล่าวด้วยว่า การใช้จ่ายด้านอาหารเป็นหมวดใช้จ่ายอันดับ 3 ที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายรองจากการเดินทางและที่พัก เชื่อว่าการมีมิชลิน ไกด์จะช่วยเพิ่มการใช้จ่ายด้านอาหารอีก 20% และผลักดันให้นักท่องเที่ยวอยู่พักค้างคืนมากขึ้น จากปัจจุบันคนส่วนใหญ่มาเที่ยวแบบเช้า-เย็นกลับ
ส่วนคำถามว่าอยุธยาจะได้มีร้านอาหารระดับ “ดาวมิชลิน” หรือไม่นั้น “ทิพวรรณ นิธิเจษฎาวงศ์” ผู้อำนวยการมิชลิน ไกด์ ประเทศไทย ตอบแบบอ้อมๆ ว่า เมื่อทีมตรวจสอบของมิชลินเลือกอยุธยาขึ้นมาแล้ว นั่นหมายความว่ามิชลินมีความประทับใจอยุธยาในระดับหนึ่ง
“เปรียบเทียบเหมือนเรารู้ว่าตรงนี้เป็นทำเลทอง เหลือแค่ว่าเมื่อเราทำเหมืองและขุดลงไปแล้วจะเจอเพชรเม็ดงามมากแค่ไหน” ทิพวรรณกล่าว
ไม่แน่ว่าปีหน้าเราอาจจะได้เห็น “กุ้งแม่น้ำเผา” หรือ “ก๋วยเตี๋ยวเรือ” ได้รับการันตีจากมิชลินบ้างก็ได้!
=================
การมอบดาวมิชลิน แบ่งแยกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
1 ดาว = ร้านอาหารคุณภาพสูง ควรแวะชิม
2 ดาว = ร้านอาหารยอดเยี่ยม ควรค่าแก่การขับอออกนอกเส้นทางเพื่อไปชิม
3 ดาว = สุดยอดร้านอาหารที่ควรค่าแก่การเดินทางไกลไปชิมสักครั้ง
นอกจากนี้ยังมีรางวัลอื่นๆ ที่ให้กับร้านอาหาร เช่น บิบ กูร์มองต์ ร้านอาหารประเภทอร่อยคุ้มค่าในราคาย่อมเยา หรือรางวัลใหม่ที่เพิ่งมาปีนี้อย่าง ดาวมิชลินรักษ์โลก สำหรับร้านอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ผู้ตรวจสอบของมิชลินจะให้คะแนนร้านอาหารแยกเป็น 5 หมวด คือ คุณภาพอาหาร, ความเชี่ยวชาญด้านรสชาติและเทคนิกการทำอาหาร, การดึงตัวตนของเชฟลงในประสบการณ์การทานอาหาร, คุ้มค่าราคา และ ความสม่ำเสมอระหว่างการเยี่ยมเยือนแต่ละครั้งของผู้ตรวจสอบ