ราเม็งร้อนๆ จากล็อกซเล่ย์

การเป็น Trading Firm ที่เน้นทำธุรกิจแบบซื้อมาขายไป ไม่มีแบรนด์ของตัวเอง แม้จะช่วยให้ล็อกซเล่ย์เติบโตมาตลอด 70 กว่าปีที่ผ่านมา แต่ในทางกลับกัน ก็ทำให้ชื่อล็อกซเล่ย์นับวันยิ่งห่างไกลจากผู้บริโภคขึ้นทุกขณะ

ภารกิจของล็อกซเล่ย์นับจากนี้ไป จึงต้องพยายามปรับองค์กรจาก Trading Firm สู่ Consumer Firm ให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ธงชัย ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) คาดหวังไว้ในเป้าหมายบริษัทฯ ระยะไกลอีกประมาณ 10 – 20 ปีข้างหน้า

โดยเริ่มต้นจากธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น

ล็อกซเล่ย์ได้เตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนทิศทางบริษัทมาร่วมปี ดึง ศรัณย์ สมุทรโคจร กรรมการผู้จัดการ ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ในตอนนั้นมารับตำแหน่งกรรมการบริหาร บริษัท ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง จำกัด อย่างเต็มตัว

ศรัณย์ได้ใช้ประสบการณ์จากการทำงานกับองค์กรธุรกิจร้านอาหารจานด่วนชั้นนำระดับโลกเกือบ 20 ปี มาปรับใช้กับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ธุรกิจรีเทลอย่างแรกของล็อกซเล่ย์ เปิด Business Unit กลุ่มธุรกิจอาหารและบริการขึ้นมาใหม่

เขาได้ให้เหตุผลกับการเริ่มต้นธุรกิจรีเทลด้วยร้านอาหารญี่ปุ่นว่า เพราะจากการสำรวจ อาหารญี่ปุ่น เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคไทยโปรดปรานมากเป็นลำดับแรก และจากแนวโน้มการเติบโตของตลาดที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2010 คาดว่า มูลค่าร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท ขยับจากปีที่แล้วซึ่งมูลค่าอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท

แม้ฐานของตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นเริ่มใหญ่เกือบแตะหมื่นล้าน แต่ศรัณย์เชื่อมั่นว่า ยังมีช่องว่างอีกมากให้กับล็อกซเล่ย์ ในการนำอาหารญี่ปุ่นประเภทใหม่ๆ เข้ามาแนะนำให้ผู้บริโภครู้จัก ซึ่งในวันเปิดตัวธุรกิจใหม่ของล็อกซเล่ย์อย่างเป็นทางการ ยังได้ทำการลงนามในสัญญามาสเตอร์แฟรนไชส์ และเปิดตัวแบรนด์ที่ล็อกซเล่ย์ได้สิทธิ์ผูกขาดในประเทศไทยจำนวน 2 แบรนด์ ได้แก่ แบรนด์โดทงโบริ ซึ่งเป็นร้านอาหารประเภทเทปปันยากิ และโอโคโนมิยากิ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น รวมไปถึงแบรนด์เท็ทสึเมน ราเม็ง ซึ่งเป็นราเม็งต้นตำรับจากกรุงโตเกียว

ทั้งสองแบรนด์จะเป็นส่วนหนึ่งของ Flagship Store พื้นที่ประมาณ 500 – 600 ตารางเมตรที่ล็อกซเล่ย์ตั้งใจสร้างให้เป็นอาณาจักรอาหารญี่ปุ่นที่มีความหลากหลายของอาหารมากมาย ประกอบด้วย ชาบู ยากินิคุ ทงคัตสึ ขนมหวาน และเครื่องดื่ม ที่ใช้งบลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท

ขณะที่เป้าหมายในระยะยาว ล็อกซเล่ย์ตั้งใจขยายสาขาธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นออกไปมากถึง 180 – 200 สาขาภายใน 10 ปีข้างหน้า โดยจะมีแบรนด์ที่อยู่ภายใต้การบริหารของล็อกซเล่ย์ทั้งหมด 5 – 6 แบรนด์ด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ศรัณย์หลีกเลี่ยงที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับยอดขายที่วางไว้ โดยระบุว่าความเคลื่อนไหวในช่วงแรกนี้ไม่ได้ตั้งเป้าไปที่ยอดขายเป็นอย่างแรก แต่ต้องการโนว์ฮาวที่จะมาช่วยการพัฒนาแบรนด์ในอนาคต เพราะจุดมุ่งหมายสำคัญของล็อกซ์เล่ย์ไม่ใช่แค่การหาแบรนด์อื่นมาต่อยอดเท่านั้น แต่ต้องการพัฒนาแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาให้ผู้บริโภคยอมรับ

    การพัฒนา Consumer Brand ของล็อกซเล่ย์

  • Master Franchise
  • Joint Venture
  • Own Brand Development