ทรูมูฟซื้อฮัทช์ ต่ออายุสู่ 3G

“ทรูมูฟ” ต้องออกแรงอย่างหนักตลอด 8 ปีที่ผ่านมา เพื่อแข่งขันกับเอไอเอสและดีแทค ยักษ์ใหญ่ 2 รายในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ แต่ดูเหมือนยังไม่มีวี่แววชนะ หรือแม้แต่จะเบียดดีแทคเพื่อขึ้นเป็นที่ 2 ของตลาด วันนี้ “ทรูมูฟ” พยายามอีกครั้ง รับปีกระต่ายทองในการเร่งปิดดีล ”เทกโอเวอร์ฮัทช์” ที่แม้จะยังไม่อาจทำให้ทรูมูฟชนะอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ ”ทรูมูฟ” ก็หวังยึดที่ยืนในตลาดมือถือนี้ให้นานและเข้าใกล้ 3Gมากที่สุด

ที่ผ่านมา ทรูมูฟไม่เพียงเผชิญกับคู่แข่งที่มีเงินทุนเข้มแข็ง แต่ในแง่กลยุทธ์การตลาดทั้งเอไอเอสและดีแทคต่างทุ่มเต็มที่ และยังได้เปรียบในแง่สัญญากับรัฐที่นานกว่า โดยดีแทคเหลือ 8 ปี เอไอเอส 5 ปี แต่ทรูมูฟเหลือแค่ 3 ปี

ทรูมูฟเคยหวังว่าการประมูล 3Gเมื่อกลางปี 2553 จะเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้ทรูมูฟแข่งกับคู่แข่งได้มากขึ้น แต่การประมูลก็ล้มลง ปลายปีที่ผ่านมาทรูมูฟจึงเร่งแผนเทกโอเวอร์กลุ่มฮัทช์ด้วยเงินซื้อกิจการเพียง 4.5 ล้านบาท ถึงจะรับหนี้ 6.3 พันล้านบาท แต่ก็ถือว่าคุ้ม ถึงขั้นที่คู่แข่งเริ่มกังวล เพราะแผนต่อไป กสท โทรคมนาคม ตั้งบริษัทใหม่พื่อลงทุนเครือข่าย 3G หรือเทคโนโลยีอนาคตอย่าง 4G โดยที่ทรูมูฟจะได้สิทธิใช้เครือข่ายไปให้บริการ

ปฏิบัติการของทรูมูฟ ร่วมกับ กสท โทรคมนาคม ครั้งนี้ คือการประสานกันอย่างเหนียวแน่น เพื่อทำให้ทรูมูฟถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง โดยสามารถลบจุดอ่อนเรื่องสัญญาสัมปทานที่จะหมดภายใน 3 ปีได้ เพราะหากได้เป็น Reseller หรือรับเหมาเครือข่ายเทคโนโลยีอนาคตซึ่งอย่างน้อยคือ 3Gไปให้บริการ ก็จะต่อลมหายใจในธุรกิจนี้ได้นาน 14 ปีตามสิทธิที่ กสท โทรคมนาคมได้สิทธิจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)

“จริง ๆ เรามีแผนซื้อฮัทช์มาตั้งนานแล้ว” ศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอ ทรูมูฟ บอกถึงยุทธศาสตร์ทางธุรกิจที่ทรูมูฟคิดมานานเพื่อเก็บคู่แข่ง เพราะแม้ฮัทช์คือรายที่ 4 ในตลาด แต่แรงในช่วงเปิดตัวด้วยกลยุทธ์ราคา ที่กระหน่ำแจกเครื่องฟรีแลกกับให้ลูกค้าผูกสัญญาใช้บริการอย่างน้อย 2 ปี แย่งลูกค้าทรูมูฟไปได้ส่วนหนึ่ง จนถึงปัจจุบันอัดโปรโมชั่นค่าโทรราคาถูก กว่า 5 ปี ฮัทช์มีฐานลูกค้าแล้ว 9 แสนราย

แต่การเทกโอเวอร์ครั้งนี้เหตุผลมากกว่านั้น เพราะนอกจากได้ฐานลูกค้าทรูมูฟ และรายได้เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติแล้ว ยังเป็นการลบจุดอ่อนเรื่องอายุสัญญา และสร้างจุดแข็งใหม่ที่เข้าใกล้ 3Gมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ความเข้มแข็งของแบรนด์ทรูมูฟจะเพิ่มขึ้น เพราะแผนการตลาดคือการเลิกแบรนด์ฮัทช์ และใช้แบรนด์ทรูมูฟ โดย กสท โทรคมนาคมแทน (True Move By CAT Telecom)

ลูกค้าโพสต์เพดของทรูมูฟจะเพิ่มจาก 1.2 ล้านราย เป็น 2.1 ล้านราย มีรายได้แน่นอนเฉลี่ยเลขหมายละ 400 บาท รายได้รวมเพิ่มขึ้น 4,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17% ซึ่ง ”ศุภชัย” ยอมรับว่าที่ผ่านมารายได้ของทรูมูฟเริ่มชะลอตัว เติบโตเพียงปีละ 1-2% เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นคือการโรมมิ่งเครือข่ายที่ลูกค้าทั้งสองเครือข่ายสามารถใช้เครือข่ายร่วมกันได้ในจุดอับสัญญาณ

แม้จะไม่ใช่ทางเลือกที่ ”ศุภชัย” บอกว่าดีที่สุด เพราะต้องเสี่ยงกับคุณภาพเครือข่าย และบริการที่รัฐลงทุน และหากเลือกได้ทรูมูฟก็ยังหวังประมูลใบอนุญาตลงทุน 3G จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือ กทช.เดิม โดยตรง ที่จะทำให้ทรูมูฟมั่นคงในธุรกิจมากกว่านี้ แต่สถานการณ์นี้ อะไรที่พอจะทำให้ทรูมูฟมีทียืน และรอดได้ ก็ต้องคว้าไว้ก่อน

Why ทำไมต้องทรูมูฟต้องเทกโอเวอร์ฮัทช์
เหลืออายุสัญญาสัมปทานให้บริการโทรศัพท์มือถือเพียง3ปี และแผนเร่งให้บริการ 3Gก่อนคู่แข่ง

How วิธีการเทกโอเวอร์
ตั้ง 2 บริษัทลูก ”เรียลมูฟ” และ ”เรียลฟิวเจอร์” ซื้อกิจการ ”ฮัทช์” ด้วย 4.3 ล้านบาท และรับหนี้ 6.3 พันล้านบาท หลังจาก กสท มีแผนจะเลิกสัญญากับ ”ฮัทช์” และตั้งบริษัทลูกเพื่อลงทุนเครือข่าย 3G หรือ 4Gในอนาคต และเปิดให้บริการรับช่วงต่อไปให้บริการ

    Result ทรูมูฟได้กับได้

  1. ฐานลูกค้าโพสต์เพดใกล้เคียงกับเอไอเอส และดีแทค คือเพิ่มจาก 1.2 ล้านเป็น 2.1 ล้านราย (จากฮัทช์ 9 แสนราย) และ.รายได้เพิ่มขึ้นเป็นเติบโต 17% หรืออีก 4,500 ล้านบาท
  2. เสริมจุดบอดเครือข่ายทรูมูฟ 2G และเครือข่ายเดิมของฮัทช์ (CDMA) และเครือข่ายกสทในอนาคต เช่น HSPA หรือ 3G จะโรมมิ่งกัน
  3. โอกาสในการได้สัญญาให้บริการนานถึง 14 ปี ตามสิทธิของ กสท ทำให้มีสัญญานานกว่าคู่แข่ง
  4. โอกาสได้ให้บริการ 3G หรือ 4G ก่อนคู่แข่ง

ความเสี่ยง
Risk ขั้นตอนของกฎหมายทั้ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ และ พ.ร.บ.การจัดสรรคลื่นความถี่ ที่อาจทำให้ทรูมูฟไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตกลงกับ กสท โทรคมนาคม ได้