สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คนจีนรุ่นใหม่ เริ่มมีความนิยมในอาหารใกล้หมดอายุมากขึ้น โดยที่มีความคิดที่เปลี่ยนไปจากแต่ก่อน มองว่าเป็นการส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืน
อู่หลิน นักศึกษาวัย 19 ปี มักจะต่อแถวที่ร้านขายอาหารใกล้หมดอายุโดยเฉพาะ และจะเดินทางกลับหอพักพร้อมกับขนมขบเคี้ยวลดราคาเต็มถุงเป็นประจำทุกสัปดาห์ “สินค้าใกล้หมดอายุเหล่านี้มักขายต่ำกว่าราคาตลาด 30-50% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแบรนด์ดังที่น่าสนใจมาก”
อู่เป็นหนึ่งในคนหนุ่มสาวชาวจีนจำนวนไม่น้อยที่ซื้ออาหารใกล้หมดอายุในราคาที่ถูกลง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ได้รับแรงกระตุ้นจากแนวคิดการบริโภคอย่างมีเหตุผลมากขึ้น และการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านอาหารเหลือทิ้งเมื่อเดือนเมษายน
อ้ายเหม่ยจือสวิน (iiMedia Research) บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติจีน ระบุว่าตลาดอาหารใกล้หมดอายุของจีนมีมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านหยวน (ราว 1.5 แสนล้านบาท) ในปี 2020 และ 47.8% ของผู้บริโภคในกลุ่มนี้มีอายุระหว่าง 26-35 ปี
บรรดาคนหนุ่มสาวกว่า 70,000 คน ร่วมกันแลกเปลี่ยนเคล็ดลับการซื้ออาหารใกล้หมดอายุทุกวันในชุมชนออนไลน์ชื่อ “ฉันชอบอาหารใกล้หมดอายุ” (I love near-expired food) โดยคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้มองว่าเป็นการบริโภคแบบยั่งยืนที่ช่วยควบคุมขยะอาหารได้ ต่างจากแนวคิดแบบดั้งเดิมที่มองว่าการซื้อสินค้าประเภทนี้เป็นการประหยัดเงินหรือเรื่องน่าอาย
แม็กซิโม โทเรโร หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Food and Agriculture Organization) กล่าวว่าขยะอาหารเป็นประเด็นระดับโลก และทวีปัญหาความหิวโหยทั่วโลกให้รุนแรงขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าของการสูญเสียอาหารและขยะอาหารทั่วโลกต่อปีอยู่ที่ 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 12.9 ล้านล้านบาท) ซึ่งจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญปัญหาขยะอาหารเช่นกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมจัดเลี้ยงในเขตเมือง
หลี่อวิ้นจิ้ง พนักงานขายที่ร้านจำหน่ายอาหารใกล้หมดอายุโดยเฉพาะในนครเหอเฝย เมืองเอกของมณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน เคยทำงานในซูเปอร์มาร์เก็ตและมักรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องพบเห็นสินค้าถูกทิ้งหรือทำลาย บอกว่า “สินค้าหมดอายุ หรือใกล้หมดอายุจะถูกทิ้งหรือถูกทำลายโดยตรง ซึ่งเป็นการสูญเสียปริมาณมาก” หลี่กล่าว พร้อมเสริมว่าบรรดาร้านขายสินค้าใกล้หมดอายุสามารถบรรเทาปัญหาขยะอาหารได้ในระดับหนึ่ง
ร้านขายอาหารใกล้หมดอายุแบบมีหน้าร้านผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดทั่วจีน หนึ่งในนั้นคือ ฮอตแม็กซ์ (HotMaxx) ร้านค้าหลายสาขาที่เปิดตัวเมื่อปีก่อนในหลายเมืองใหญ่ และขยายสาขามากกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ
โจว พนักงานการตลาดของฮอตแม็กซ์ สาขาเหอเฝย กล่าวว่าร้านค้าที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดย่านใจกลางเหอเฝยรองรับลูกค้าช่วงหยุดยาวมากกว่า 1,000 คนต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่กลับมาใช้บริการซ้ำ และเพื่อความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้า ทางร้านให้ความสำคัญกับต้นทางของสินค้าใกล้หมดอายุ โดยปกติร้านของโจวจะทำธุรกิจกับซูเปอร์มาร์เก็ต และแบรนด์ที่มีชื่อเสียงเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพอยู่เสมอ
ขณะเดียวกันร้านขายอาหารใกล้หมดอายุบนโลกออนไลน์เติบโตรวดเร็ว โดยสถิติจากเถาเป่า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีน ชี้ว่ามีผู้คนซื้ออาหารประเภทนี้บนแพลตฟอร์มราว 2.1 ล้านคนในทุกปี นอกจากร้านขายอาหารใกล้หมดอายุบนโลกออนไลน์ทั่วไปแล้ว ยังมีร้านขายกล่องสุ่มที่เต็มไปด้วยอาหารใกล้หมดอายุทางออนไลน์ด้วย ซึ่งขายหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว
หากมองในแง่มุมความปลอดภัยอันเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคจำนวนมากให้ความสำคัญ บรรดาผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าสินค้าประเภทนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยโจวอวี๋ ศาสตราจารย์ด้านโภชนาการและความปลอดภัยทางอาหารจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อันฮุย กล่าวว่าอาหารใกล้หมดอายุมีความปลอดภัย โดยการซื้อสินค้าประเภทนี้เป็นเรื่องดีในการช่วยป้องกันขยะอาหาร ซึ่งควรค่าแก่การส่งเสริมต่อไป