เศรษฐกิจจีนไตรมาส 2 โตน้อยกว่าที่คาด เหตุโควิดยังไม่นิ่งกระทบซัพพลายเชน

Photo : Shutterstock
ย้อนไปไตรมาสแรกของปี GDP ของจีนเติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 18.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ในไตรมาส 2 การเติบโตกลับเติบโตน้อยกว่าครึ่งของไตรมาสแรก เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ในแถบภาคใต้ของจีนซึ่งกระทบต่อซัพพลายเชน

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) ได้เปิดเผยถึง GDP ประจำไตรมาสที่ 2 เติบโต 7.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งน้อยกว่าที่ Reuters คาดการณ์ไว้ว่างจะเติบโต 8.1% โดยปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 เติบโตลดลงเป็นเพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นและการหยุดชะงักของห่วงซัพพลายเชน

เศรษฐกิจจีนมีสัญญาณที่น่าเป็นห่วงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงเป็นประวัติการณ์ทำให้อัตราเงินเฟ้อของโรงงานพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ ในขณะที่ซัพพลายเชนหยุดชะงักอันเนื่องมาจากงานค้างในการขนส่ง และการขาดแคลนพลังงานทำให้การผลิตของโรงงานหยุดชะงัก

“จีนกำลังเผชิญกับสภาพแวดล้อมภายในประเทศและต่างประเทศที่ซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ซึ่งสร้างแรงกดดันด้านต้นทุนอย่างมากต่อธุรกิจ โดยยอดค้าปลีกยังไม่ฟื้นตัวจากแนวโน้มก่อนการระบาดใหญ่” Liu Aihua โฆษกหญิงของ NBS กล่าว

รัฐบาลยังเปิดเผยข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า ภาคการผลิตบางส่วนได้ชะลอตัวลงในเดือนที่ผ่านมา โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 8.3% ในเดือนมิถุนายนจากปีก่อน คลี่คลายเล็กน้อยจากการเติบโต 8.8% ในเดือนพฤษภาคม แต่ผลผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลงมากกว่า -4% ในเดือนที่แล้ว เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยสาเหตุหลักมาจากปัญหาการขาดแคลนชิปอย่างต่อเนื่อง

(Photo by Zhang Wei/China News Service via Getty Images)

ส่วนอัตราการว่างงานในเมืองทรงตัวที่ 5% ในเดือนมิถุนายน ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนพฤษภาคม แต่อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นเป็น 15.4% สำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปีภายในสิ้นเดือนมิถุนายน เทียบกับ 13.6% เมื่อสามเดือนก่อน

“เรากำลังเผชิญกับแรงกดดันในการจ้างงานครั้งใหญ่ โดยสังเกตว่าจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทำสถิติใหม่เกือบ 9.1 ล้านคนในปีนี้ ดังนั้น เราต้องให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพการจ้างงานและสร้างงานมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วเศรษฐกิจของจีนน่าจะยังฟื้นตัวได้โดยมีเป้าหมายการเติบโต 6% ต่อปี และเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ปักกิ่งกล่าวว่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019 ซึ่งเป็นสัญญาณว่าอุปสงค์ทั่วโลกสำหรับสินค้าที่ผลิตในจีนมีความแข็งแกร่ง

“อุปสงค์ภายนอกที่ฟื้นตัวได้สามารถช่วยชดเชยแรงกดดันภายในประเทศและสนับสนุนการเติบโตโดยรวม แม้ว่าการส่งออกที่แข็งแกร่งจะดูไม่ยั่งยืนก็ตาม”

Source