บทร้อยล้าน บ้านๆ แต่โดน

“ลุง สะกดยังไง?…สระ เอ…ลอ ลิง…วอ แหวน”

“คนนี้…พี่ขอ !!!”

“คนเราถ้าไม่ได้อยู่ด้วยกัน จะเรียกว่าแฟนได้ยังไง?… แฟนเค้าไม่ได้มีเพื่ออยู่ด้วยกันตลอดเวลา แต่มีเพื่อให้รู้ว่า ยังมีคนที่รักเรา”

“ถ้าเป็นหนังรักทั่วไป มันต้องทันไม่ใช่เหรอ”

…ประโยคคำพูดพื้นๆ ที่ไม่ได้เกินไปกว่าคนธรรมดาจะใช้พูดกัน แต่กลับกระแทกใจสาวๆ ทั่วฟ้าเมืองไทยจนอินไปกับ “เหมยลี่” สาวโสดวัยสามสิบที่ฝันอยากจะมีหนุ่มหล่อสักคนมาข้างกาย ในภาพยนตร์เรื่อง “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ”

ที่มาที่ไป กว่าจะได้บทโดนๆ หรือประโยคฮิตๆ ต้องคุยกับเธอคนนี้ … “โอ๋” เบ็ญจมาภรณ์ สระบัว สาวผู้ฝากฝีมือการเขียนบทหนังร้อยล้านอย่างรถไฟฟ้ามาหานะเธอ นอกจากนี้ยังมีโรแมนติกคอเมดี้ทำเงินเรื่องสายลับจับบ้านเล็ก และแก๊งชะนีกับอีแอบ

โอ๋ เริ่มต้นเล่าถึงเบื้องหลังบทโดนๆ อย่างที่เห็นในรถไฟฟ้ามาหานะเธอว่า เป็นหนังที่ใช้เวลาเขียนกันเป็นปี กว่าจะได้สคริปต์ที่เข้าปาก คุ้นหู และโดนใจได้ เกิดจาการสุมหัว “เม้าท์บท” ระหว่างผู้กำกับ และคนเขียน ที่ส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการนั่งคุย ถกหาความพอดีของประโยคคำพูดที่เข้ากันกับคาแร็กเตอร์ตัวละคร

“อย่างรถไฟฟ้าฯ โอ๋ กับ พี่ปิ๊ง ที่กำกับเรื่องนี้จะอยู่กับบทนานมาก เราใช้เวลาเขียนกันเป็นปี จนอินกับตัวละครมาก ถึงขนาดรู้สึกว่า เหมยลี่เป็นเพื่อนสนิทของเรา เราเห็นภาพเหมยลี่ชัดมาก ขนาดเวลาคิดถึงสถานการณ์หนึ่งๆ เราจะรู้เลย ว่าถ้าเป็นเหมยลี่ จะมีรีแอ็กต์กับสถานการณ์นั้นยังไง ซึ่งมันจะค่อนข้างต่างจากเรื่องอื่นๆ มาก เพราะเหมยลี่ เป็นนางเอกในแบบที่เมืองไทยไม่เคยมีมาก่อน”

ความใกล้ชิดของคนเขียนบทกับตัวละครในเรื่องอย่างที่โอ๋ถึงกับบอกว่าสนิทกับเหมยลี่ไปเลยนั้น คือเรื่องจำเป็นมากที่จะต้อง ทั้งรู้จักและรู้ใจ ตัวละครในเรื่อง

ในอีกหลายสิบหลายร้อยเรื่องที่คนดูไม่ได้เห็นเกี่ยวกับตัวละครตัวละครตัวนั้น กลับเป็นสิ่งที่ผ่านการถกของทีมงานมาแล้วทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิตวัยเด็กของเหมยลี่ ถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร เรียนที่ไหน เพื่อนเป็นอย่างไร เรียนเก่งไหม ชอบหรือไม่ชอบอะไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้แม้ว่าจะไม่ได้ปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่องแต่ทีมงานจะคิดกันมาอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้สามารถสร้างความสม่ำเสมอให้กับตัวละครได้

ตัวอย่างของความเป็นเหมยลี่ที่โอ๋ยกขึ้นมา คือ ตอนที่เหมยลี่อยากให้เบอร์ลุง

“ในโครงเรื่องบอกมาแค่ว่า จะต้องเป็นตอนที่เจอกันบนรถไฟฟ้า แล้วทีมก็ต้องมานั่งคิดหาวิธีการให้เบอร์ ว่าถ้าเหมยลี่อยากให้เบอร์จะทำยังไง คือให้เฉยๆ ไม่ได้เพราะเหมยลี่ไม่ใช่คนแบบนั้น ก็เลยคิดกันจนลงตัวที่ เอาวะ แอบเขียนในกล่องแว่นเนี่ยแหละ คือ เขียนแล้วก็คิดในใจนะ ว่าใครจะไปเห็นวะ? ซึ่งมันคือใช่เหมยลี่เลย เพราะตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยจีบผู้ชายก่อน”

เช่นเดียวกันกับเรื่องทุกๆ คำพูดของเหมยลี่ หรือกระทั่งตัวละครตัวอื่นๆ ที่ผู้ชมได้ยิน จะต้องมาจากการตีคาแร็กเตอร์ของแต่ละตัวให้แตก ว่า คนประเภทนี้ถ้าเจอเรื่องแบบนี้ จะพูดว่าอะไร ซึ่งโอ๋บอกว่าเบื้องหลังจะคิดกันหัวแทบแตกกว่าจะได้บทที่ดูง่ายๆ สักบท ที่เข้ากับสถานการณ์ และพอดีกันกับตัวละคร เพื่อสุดท้าย คือ จะต้องทำให้คนดูเชื่อในสิ่งที่ตัวละครพูด

“ไดอะล็อกในหนังของจีทีเอชจะเป็นคำพูดธรรมดาๆ เป็นบทสนทนาที่ไม่ต้องแสดงความฉลาด อย่างหนังที่พยายามจะสั่งสอนคนดู โดยอาจจะยัดคำพูดที่มันฟังแล้วปรัชญาใส่เข้ามา ทั้งๆ ที่คนธรรมดาเขาไม่พูดกันหรอก มันจะกลายเป็นว่าเราทำให้ตัวละครฉลาดกว่าคนดู”

โอ๋บอกว่า ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าไดอะล็อกที่ใช้ในหนังทุกเรื่องของจีทีเอช เป็นประโยคที่คนธรรมดาใช้พูดกัน ไม่ต้องฉลาดแต่ฟังแล้วต้องโดนใจ

เพราะนี่คือสไตล์การทำงานของจีทีเอชที่โอ๋สัมผัสได้ชัดเจน

อย่างเช่น วลีฮิต “หล่อทะลุแป้ง” ในฉากหวานๆ วันสงกรานต์ ที่เหมยลี่กับลุงไปเล่นสาดน้ำกัน

พี่ปิ๊งบอกว่า ให้โอ๋ลองจินตนาการถึงผู้ชายในฝัน เล่นสงกรานต์ แบบหน้าเลอะแป้งแต่แบบว่า อย่างหล่อ…ซึ่งตอนนั้นโอ๋ก็นึกถึงหน้าพี่เคนแบบหล่อมาก หน้าเลอะแป้งแล้วยิ้มให้เรา แล้วแป้งก็ปลิวกระเด็น คิดเป็นภาพซีจีเห็นแป้งปลิวขนาดนั้นเลย

หรืออย่างประโยคที่คนซึ้งกันมาก ก็ตอนที่เหมยลี่เศร้า แล้วมาหาเพื่อน คือ เป็ด แล้ว บ่นว่าเหงา กินข้าวคนเดียวมา 2 เดือนแล้ว

พอเพื่อนบอกให้หาแฟน นางเอกก็ด้วยอารมณ์ที่ว่า อยากปรึกษาแต่ไม่ได้อยากเล่าทุกเรื่อง ก็เลยบอกได้แต่ว่า จะมีแฟนไปเพื่ออะไร ถ้าไม่ได้อยู่ด้วยกัน

ซึ่งเราก็รู้แล้ว ว่าไอ้ตอนเป็ดตอบนี่แหละที่มันต้องใช่ มันต้องโดน ก็คิดจนได้ประโยคที่ว่า

“แฟนเค้าไม่ได้มีเพื่ออยู่ด้วยกันตลอดเวลา แต่มีเพื่อให้รู้ว่า ยังมีคนที่รักเรา” คือมันจริงใจ ไม่ใช่ประโยคประดิษฐ์ แต่ฟังแล้ว …โห โดนน่ะ”