จีนบี้ต่อสั่ง ‘เทนเซ็นต์’ เลิกผูกขาดลิขสิทธิ์เพลง พร้อมปรับเงิน 2.5 ล้านบาท

รัฐบาลจีนยังคงเดินหน้าปราบปรามบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด หน่วยงานกำกับดูแลการต่อต้านการผูกขาดของจีนได้สั่งให้ ‘เทนเซ็นต์’ (Tencent) ยกเลิกสิทธิ์ในการครอบครองลิขสิทธิ์เพลงแต่เพียงผู้เดียว พร้อมกับสั่งปรับเงินจากบริษัทเนื่องจากข้อหาการผูกขาด

หน่วยงานกำกับดูแลการตลาดของรัฐ (SAMR) ได้กำหนดโทษปรับ 500,000 หยวน หรือราว 2.5 ล้านบาท จาก เทนเซ็นต์ ในข้อหาการละเมิดกฎหมายการผูกขาด เนื่องจากเทนเซ็นต์เข้าซื้อกิจการ China Music ในปี 2559 ซึ่งหลังจากการเข้าซื้อกิจการนั้น ทำให้เทนเซ็นต์กลายเป็นเจ้าของทรัพยากรเพลงพิเศษมากกว่า 80% ทำให้บริษัทมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง เนื่องจากสามารถเข้าถึงข้อตกลงพิเศษกับผู้ถือลิขสิทธิ์ได้มากขึ้น

นอกจากค่าปรับแล้ว หน่วยงานเฝ้าระวังการแข่งขันได้สั่งให้ เทนเซ็นต์และบริษัทในเครือเทนเซ็นต์ยกเลิกการครอบครองลิขสิทธิ์เพลงแต่เพียงผู้เดียวภายใน 30 วัน และยุติข้อกำหนดสำหรับผู้ถือลิขสิทธิ์เพื่อให้บริษัทได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าคู่แข่ง และเทนเซ็นต์จะต้องรายงานต่อ SAMR เกี่ยวกับความคืบหน้าทุกปีเป็นเวลา 3 ปี และ SAMR จะกำกับดูแลให้เทนเซ็นต์ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

เทนเซ็นต์ได้กล่าวในแถลงการณ์ว่าจะ ”ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านกฎระเบียบทั้งหมด ปฏิบัติตามความรับผิดชอบต่อสังคมของเรา และมีส่วนร่วมในการแข่งขันที่ดีในตลาด” โดยเทนเซ็นต์จะทำงานร่วมกับบริษัทในเครือ ซึ่งรวมถึง Tencent Music Entertainment เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นและรับรองการปฏิบัติตามอย่างสมบูรณ์

การปราบปรามด้านกฎระเบียบครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในขณะที่ปักกิ่งยังคงควบคุมอำนาจของบริษัทเทคโนโลยีของจีนที่เติบโตขึ้นจนกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก โดยธุรกิจของเทนเซ้นต์นั้นได้แก่ WeChat ซึ่งเป็นบริการส่งข้อความ มีบริการ เกม เพลง วิดีโอสตรีมมิ่ง และบริการฟินเทคที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของจีน โดยเทนเซ็นต์ได้จดทะเบียนบริษัทในฮ่องกงโดยมีมูลค่าตลาดเกือบ 656 พันล้านดอลลาร์

การปราบปรามที่กว้างขึ้นของจีนมีตั้งแต่แนวปฏิบัติในการต่อต้านการแข่งขันไปจนถึงการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลตลอดจนการตรวจสอบบริษัทจีนที่มีรายชื่อในต่างประเทศในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ในเดือนเมษายน SAMR ได้เรียกบริษัท 34 แห่ง ซึ่งรวมถึง Tencent และ ByteDance และสั่งให้ดำเนินการตรวจสอบตนเองเพื่อให้สอดคล้องกับกฎการต่อต้านการผูกขาด

Source