‘WHO’ กำลังเร่งหาสาเหตุทำไมสายพันธุ์ ‘เดลตา’ ถึงอันตรายกว่าสายพันธุ์อื่นมาก

เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า พวกเขายังคงพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมไวรัส COVID-19 สายพันธุ์เดลตาจึงแพร่เชื้อได้ง่ายกว่า และอาจทำให้คนป่วยหนักกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม โดยที่ผ่านมา CDC ได้ออกมาเตือนว่ามันสามารถติดต่อได้ง่ายเหมือนกับอีสุกอีใส และอาจทำให้ผู้สูงอายุป่วยมากขึ้น แม้ว่าจะฉีดวัคซีนครบโดสแล้วก็ตาม

ดร.มาเรีย แวน เคอร์คอฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคขององค์การอนามัยโลกด้าน COVID-19 กล่าวว่า WHO กำลังพยายามหาสาเหตุว่าทำไม COVID-19 สายพันธุ์เดลตาจึงแพร่เชื้อได้มากกว่าเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์อื่น หลังจากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการรบาดของสายพันธุ์เดลตาที่สามารถแพร่เชื้อได้สูง

โดยงานวิจัยใหม่ระบุว่าสายพันธุ์เดลตา ติดต่อได้ง่ายกว่าไข้หวัดหมู ไข้หวัดธรรมดา และโปลิโอ เป็นโรคติดต่อได้เหมือนกับโรคอีสุกอีใส และดูเหมือนว่าจะมีระยะเวลาการแพร่เชื้อนานกว่าเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม และอาจทำให้ผู้สูงอายุมีอาการหนักขึ้น แม้ว่าจะได้รับการ ฉีดวัคซีนครบถ้วน แล้วก็ตาม

“ในแบบจำลองปล่อยให้ไวรัสเกาะติดกับเซลล์นั้นพบว่าสายพันธุ์เดลตา สามารถเกาะติดได้ง่ายขึ้น ซึ่งมันแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 2 เท่า ไวรัสมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับการแพร่กระจาย ดังนั้นไวรัสจึงมีแนวโน้มที่จะแพร่เชื้อได้มากขึ้น เพราะนี่คือสิ่งที่ไวรัสพัฒนาขึ้น ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา” มาเรีย แวน เคอร์คอฟ กล่าว

เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกคาดว่ายังไม่จบแค่นี้ แต่อาจจะมีสายพันธุ์ที่เป็นอันตรายอื่น ๆ จะเกิดขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคมและการสวมหน้ากาก โดยเฉพาะการแจกจ่ายวัคซีนให้มากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

“ความคุ้มครองประมาณ 70% ทั่วโลก เพื่อชะลอการแพร่เชื้อและลดความเสี่ยงของการเกิดสายพันธุ์ใหม่ เพราะเราเชื่อว่านี่จะไม่ใช่ไวรัสตัวสุดท้ายที่เกิดขึ้น” ดร.บรูซ เอิลเวิร์ด ที่ปรึกษาอาวุโสของ WHO กล่าว

ทั้งนี้ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยข้อมูลเทียบอาการ COVID-19 ของสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ระบาดในประเทศไทย

  • สายพันธุ์เดลตาพบอาการส่วนใหญ่ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ มีอาการคล้ายหวัดธรรมดา ไม่ค่อยพบการสูญเสียการรับรส
  • สายพันธุ์อัลฟ่า มีไข้ ปวดเมื่อย ไอ เจ็บคอ หนาวสั่น อาเจียนหรือท้องเสีย ปวดศีรษะ มีน้ำมูก การรับรสหรือได้กลิ่นผิดปกติ
  • สายพันธุ์เบต้า เจ็บคอ ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ ท้องเสีย ตาแดง มีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง นิ้วมือนิ้วเท้าเปลี่ยนสี การรับรสหรือได้กลิ่นผิดปกติ
  • สายพันธุ์ S (สายพันธุ์ที่ระบาดระลอกแรก) ไอต่อเนื่อง ลิ้นรับรสไม่ได้ จมูกไม่ได้กลิ่น หายใจลำบาก หอบเหนื่อย มีไข้ อุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียส

Source