The Day After Crisis เมื่อ COVID-19 สิ้นสุดลง พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปอย่างไร?

Future Lab Poll สำนักโพลแห่งอนาคต เป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซ็ปต์แห่งอนาคต Baramizi Lab ร่วมกับ Beluga Data – Online Poll ที่ร่วมกันจัดทำข้อมูลขึ้นมา เพื่อหวังให้ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์ในระดับมหภาค

ด้วยท่ามกลางกระแสการแพร่ระบาดอย่างหนักของ COVID-19 ในประเทศช่วงนี้ Future Lab Poll จึงขอประเดิมเลือกหัวข้อ “The Day After Crisis เมื่อ COVID-19 สิ้นสุดลง พฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?” เนื้อหาว่าด้วย New Normal หรือความปกติใหม่ของพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดจบลง

ช่วงเวลาเก็บข้อมูล : เดือนมิถุนายน 2564 (เป็นช่วงสถานการณ์ที่ถูก Lock Down) จำนวน 1,151 ตัวอย่าง กระจายทั่วประเทศไทย ซึ่งเมื่อเทียบกับการเก็บข้อมูลในช่วง พ.ค. 2563 พบว่าตัวเลขบางอย่างมีแนวโน้มเปลี่ยนไปพอสมควร

พฤติกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (หลังสถานการณ์คลี่คลาย) 

1.“วางแผนการเงิน หารายได้เสริม พัฒนาตัวเอง” เพิ่มขึ้น 41%

ภาวะการแพร่ระบาดกระทบเศรษฐกิจหลายภาคส่วนให้หยุดชะงัก ประกอบกับความไม่แน่นอนของเหตุการณ์หลังจากนี้ ผลกระทบเหล่านี้เองสะท้อนถึงผลกระทบด้านความกังวลด้านเศรษฐกิจของคน ทำให้คนใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น, อยากมีอาชีพเสริม ทักษะใหม่ อยากวางแผนการเงินเพิ่มเงินสำรองจ่ายสำหรับใช้ในยามฉุกเฉิน

(การเก็บข้อมูลช่วง พ.ค.​ 2563 ที่ผ่านมา แนวโน้มพฤติกรรมด้านนี้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 55.7%)

Photo : Shutterstock

2. “ทำเอง กินเอง ที่บ้าน” เพิ่มขึ้น 41%

นโยบาย Work from Home ทำให้คนใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น นโยบายการปิดร้านอาหารบางส่วน ทำให้กิจกรรมการทำอาหารทานเองที่บ้านเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยม

(การเก็บข้อมูลช่วง พ.ค.​ 2563 ที่ผ่านมา แนวโน้มพฤติกรรมด้านนี้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 23.6%)

3. “ใช้ออนไลน์ดำเนินชีวิตหลากมิติ” เพิ่มขึ้น 29%

COVID-19 ทำให้อัตราการใช้ Applicaition ออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก ทั้งการดูภาพยนตร์/ซีรีส์, ซื้อของออนไลน์ เรียนออนไลน์ ใช้ App Food Delivery ใช้ Online Banking และหลายคนเลือกพูดคุยสังสรรค์กับเพื่อนกันผ่านช่องทางออนไลน์

(การเก็บข้อมูลช่วง พ.ค.​ 2563 ที่ผ่านมา แนวโน้มพฤติกรรมด้านนี้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 21.3%)

Photo : Shutterstock

4. “ติดใจ Work from Home” เพิ่มขึ้น 26%

สถานการณ์การแพร่ระบาดทำให้พนักงานต้องทำงานที่บ้านกันอย่างต่อเนื่อง ทำงานปรับตัวไปกับการ Work from Home ได้อย่างแนบเนียน มีคนสนใจอยากทำงานที่บ้านอย่างน้อย สัปดาห์ละ 1-2 วัน และสนใจเลือกใช้การประชุมออนไลน์ (VDO Conference)

(การเก็บข้อมูลช่วง พ.ค. ​2563 ที่ผ่านมา แนวโน้มพฤติกรรมด้านนี้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 29.8%)

5. “การใช้ชีวิตในบ้าน และดูแลสุขภาพ” เพิ่มขึ้น 23%

ข้อนี้ครอบคลุมถึงการใช้เวลาในครอบครัวและที่พักอาศัย ซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกเข้าบ้าน และซื้อสินค้าเพื่อความสะอาด สุขอนามัย และเพิ่มภูมิคุ้มกัน ออกกำลังกายในบ้าน เพิ่มขึ้น และต้องการเว้นระยะห่างในพื้นที่สาธารณะ เล่นวิดีโอเกมในที่พักอาศัย ปลูกต้นไม้ภายในบ้านเพื่อความร่มรื่น ผ่อนคลาย

(การเก็บข้อมูลช่วง พ.ค.​ 2563 ที่ผ่านมา แนวโน้มพฤติกรรมด้านเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 38.2%)

Photo : Shutterstock

6. สุขภาพวิถีใหม่ ใช้เทคโนโลยี และเข้าถึงจิตใจ” เพิ่มขึ้น 17%

หัวข้อนี้ครอบคลุมทั้งเรื่อง Telemedicine (หาหมอหรือรับคำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านระบบ VDO), ใช้.Wearable Gadget และกิจกรรมดูแลจิตใจอย่างการนั่งสมาธิ, ภาวนา

(การเก็บข้อมูลช่วง พ.ค. ​2563 ที่ผ่านมา แนวโน้มพฤติกรรมด้านนี้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 17.4%)

พฤติกรรมที่มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลง

การเรียนที่สถานที่จริง เท่าเดิม (0%) 

พฤติกรรมนี้แทบจะเหมือนเดิมเพราะสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ต้องเรียนออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง ผู้วิจัยคาดว่านักเรียน นักศึกษาเริ่มตระหนักว่าไม่อยากเรียนออนไลน์แทนที่การเรียนในสถานที่จริง

พฤติกรรมที่ลดลง

1.กลับไปใช้ชีวิตนอกบ้านตามเดิม ลดลง 43%

คนมองว่าคงออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านน้อยลง ซึ่งข้อนี้ครอบคลุมทั้งการท่องเที่ยว ชมคอนเสิร์ต ไปห้างฯ ดูภาพยนตร์ ไปจนถึงการใช้ขนส่งสาธารณะ

(การเก็บข้อมูลช่วง พ.ค.​ 2563 ที่ผ่านมา แนวโน้มพฤติกรรมด้านนี้ลดลงอยู่ที่ 10.6%)

คอนเสิร์ต
(Photo : Shutterstock)

2. ไปตลาด ซื้อแผงลอย ลดลง 7%

คนคาดว่าจะซื้ออาหารจากตลาดสด, รถเข็น, แผงลอยริมถนลดลง คาดว่าเป็นประเด็นเรื่องสุขอนามัยที่คนระมัดระวัง และจะให้ความสำคัญมากขึ้นในอนาคตถึงแม้การแพร่ระบาดจะจบไปแล้ว

(การเก็บข้อมูลช่วง พ.ค. ​2563 ที่ผ่านมา แนวโน้มพฤติกรรมด้านนี้ลดลงอยู่ที่ 12.8%)

เหล่านี้คือ New Normal ที่ได้จากการทำวิจัยกับผู้บริโภคในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนัก น่าติดตามกันต่อไปว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงไปตัวเลขพฤติกรรม New Normal จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?

โดยผู้ตอบแบบสอบถาม มีประชากรศาสตร์ ดังนี้

1.เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม

มีสัดส่วนของเพศหญิงที่ 50.91% และเพศหญิงที่ 49.09%

2.ช่วงอายุของผู้ตอบแบบสอบถาม

มีสัดส่วนของอายุสูงสุดที่ช่วงอายุ 35-44 ปี จำนวน 35.88%
รองลงมาอันดับ 2 เป็นช่วงอายุ 25-34 ปี จำนวน 28.5%
รองลงมาอันดับ 3 เป็นช่วงอายุ 45-54 ปี จำนวน 17.12%
รองลงมาอันดับ 4 เป็นช่วงอายุ 18-24 ปี จำนวน 11.29%
รองลงมาอันดับ 5 เป็นช่วงอายุ 55-64 ปี จำนวน 5.73%
และช่วงอายุน้อยที่สุด เป็นช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 1.48%

3.สถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม

มีสัดส่วนสถานภาพโสดสูงสุดที่ 50.7% รองลงมาสถานภาพแต่งงานแล้วอยู่ที่ 44.1% และรองลงมาสถานภาพเป็นหม้ายอยู่ที่ 2.8% และสัดส่วนน้อยที่สุด คือ สถานภาพหย่าอยู่ที่ 2.3%

4. ระดับการศึกษา

มีสัดส่วนสูงสุดในระดับปริญญาตรีที่จำนวน 53.4%
รองลงมาอันดับ 2 ระดับการศึกษามัธยมปลาย จำนวน 17.3%
รองลงมาอันดับ 3 ระดับการศึกษาอาชีวะศึกษา จำนวน 14.2%
รองลงมาอันดับ 4 ระดับการศึกษามัธยมต้น จำนวน 5.8%
รองลงมาอันดับ 5 ระดับการศึกษาปริญญาโท จำนวน 5.6%
รองลงมาอันดับ 6 ระดับการศึกษาประถมศึกษา จำนวน 2.7%
และสัดส่วนระดับการศึกษาที่น้อยที่สุด เป็นระดับการศึกษาปริญญาเอก และไม่จบ จำนวนเท่ากันที่ 0.4%