หุ้น​ COVID-19 ตัวไหนปัง! พร้อมชี้เป้า ETF ลงทุนรับดีมานด์ทั่วโลก

ตอนนี้…เวลานี้ ใครๆ ก็เรียกหาวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพราะพวกเรารู้ว่า วัคซีนจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้โลกของเราเอาชนะโรคระบาดครั้งสำคัญนี้ได้ แต่การผลิตวัคซีน รวมไปถึงจัดสรรและกระจายตามความต้องการของแต่ละประเทศทั่วโลก ยังทำได้ไม่ทั่วถึง จำเป็นต้องใช้เวลาอย่างมาก

อัปเดตถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ประชากรในสัดส่วน 30.02% ทั่วโลกได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส และสัดส่วน 15.7% คือประชากรที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว ยังไม่ใช่สัดส่วนที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือทำให้แต่ละประเทศเปิดพรมแดนเพื่อออกเดินทางกันอีกครั้ง

กว่า 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 จนถึงสิงหาคม 2564 ที่กระจายวัคซีนไปแล้วกว่า 4,480 ล้านโดสทั่วโลก ตราบใดที่เชื้อไวรัส COVID-19 ยังสามารถกลายพันธุ์ไปได้อีกหลายสายพันธุ์ ทำให้เกิดการระบาดได้อย่างรวดเร็วและอาการมีความรุนแรงมากขึ้น การพัฒนาวัคซีนให้ดียิ่งขึ้นไปอีก…มีความจำเป็นอย่างมาก

ถ้าเชื้อไวรัสนี้ยังอยู่ ความต้องการวัคซีนก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เป็น Recurring Demand เหมือนกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่เราฉีดทุกปี

นั่นหมายว่า การวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 จะไม่ได้จบเพียงเท่านี้ กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้น การลงทุนใหม่ๆ จะตามมา บริษัทไหนที่อยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์และการแพทย์ มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาวัคซีน…กำลังเป็นโอกาสลงทุนครั้งสำคัญ

หุ้นวัคซีน COVID-19 ราคาขึ้นแรง

รู้หรือไม่ว่า… โดยทั่วไปแล้วการพัฒนาวัคซีนในแต่ละชนิด ใช้เวลาตั้งแต่ 5-10 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น จนกว่าจะผลิตวัคซีนมีคุณภาพที่ดี ซึ่งไม่ง่ายนัก… ที่จะเอาชนะโรคระบาดที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

แต่สำหรับ COVID-19 นับเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ห้วงเวลาการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนใช้เวลาไม่ถึง 9 เดือน ตัดขั้นตอนการทดสอบหลายระดับ ให้เหลือเพียง 3 ระยะ เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากพอในระดับที่สามารถใช้ได้ในร่างกายมนุษย์

Photo : Shutterstock

นอกจากนี้รัฐบาลแต่ละประเทศต่างเร่งรัดรับรองการใช้วัคซีน COVID-19 เป็นการฉุกเฉิน (Emergency Use) เพราะการแพร่ระบาดจนมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกรวมๆ กว่า 4.328 ล้านคน (ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2564) ไม่ใช่ตัวเลขน้อยๆ

เมื่อเวลาไม่คอยท่า แต่ละบริษัทในกลุ่มบริการสุขภาพทั่วโลกต่างเร่งสปีดพัฒนาวัคซีน บางบริษัทได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาล จึงเป็นที่มาของวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพื่อกระตุ้นการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน หรือกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน มีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่

1.Genetic Vaccine

วัคซีนที่ถูกพัฒนาโดยใช้ยีนของไวรัส หรือที่เรารู้จักกันว่า วัคซีน mRNA (Messenger RNA) ปัจจุบันมี 2 ผู้ผลิต ได้แก่ Pfizer (ร่วมกับ BioNTech ของเยอรมนี) และ Moderna จากสหรัฐฯ

โรคระบาด COVID-19 กลายเป็นตัวเร่งครั้งสำคัญที่ทำให้เกิดวัคซีน mRNA แรกของโลก โดยมีรายงานว่า ให้ประสิทธิภาพป้องกัน และไม่ทำให้เจ็บป่วยรุนแรงได้สูงถึง 94-95% [4]

vaccine covid-19 pfizer
Photo : Shutterstock

นอกจากนี้วัคซีน mRNA ยังมีรายงานด้วยว่า ยังมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้ เช่น สายพันธุ์อินเดีย (เดลตา) เป็นต้น

ส่งผลให้ความต้องการวัคซีน mRNA พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายประเทศต่างเร่งรัดส่งคำสั่งซื้อหลายล้านโดส เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดโดยเร็วที่สุด จนมีข่าวว่าภูมิภาคอาเซียนมียอดคำสั่งซื้อเต็มโควตาปี 2564 แล้ว หากต้องการจะสั่ง ต้องรอปีต่อไป [6]

สำหรับ 3 บริษัทที่พัฒนาวัคซีน มีราคาหุ้นขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ Moderna (+534.3%) BioNTech (+463.22%) และ Pfizer (+32.43%) (ข้อมูล ณ วันที่  11 สิงหาคม 2564)

Photo : Shutterstock

ด้วยเหตุผลของประสิทธิภาพของวัคซีน mRNA สูงพอที่จะป้องกันหลากหลายสายพันธุ์ของ COVID-19 ทำให้มีหลายบริษัทเตรียมที่จะพัฒนาวัคซีนประเภทนี้ด้วย เช่น

  • Sanofi จะลงทุน 400 ล้านยูโรเพื่อพัฒนาและผลิตวัคซีน mRNA เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการต่อสู้กับ COVID-19
  • Fosun Pharma เซ็นร่วมมือกับ BioNTech เพื่อผลิตวัคซีน mRNA ในจีน กำลังการผลิต 1,000 ล้านโดส ลงทุนร่วมกัน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่ก็มีรายงานว่า วัคซีน mRNA มีผลข้างเคียงเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Heart Inflammation) โดยองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ได้เพิ่มคำเตือนลงไปในฉลากวัคซีนด้วย

2. Viral Vector Vaccine

วัคซีนที่ถูกพัฒนาโดยใช้ไวรัสที่ทำให้อ่อนลง และไม่ก่อให้เกิดโรค มาตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของ COVID-19 ปัจจุบันมี 4 แบรนด์ที่พัฒนาวัคซีนประเภทนี้ ได้แก่ AstraZeneca (ร่วมกับ University of Oxford) จากสหราชอาณาจักร, Johnson & Johnson จากสหรัฐฯ, CanSino Biologics จากจีน และ Sputnik V (Gamaleya Research Institute of Epidemiology and Microbiology) จากรัสเซีย

โดย AstraZeneca เป็นวัคซีนที่ได้รับการยอมรับและนำไปใช้ทั่วโลก เพราะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่โดสแรก และมีงานวิจัยฉีดผสมกับวัคซีน mRNA เพื่อป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ด้วย

Astrazeneca Vaccine
Photo : Shutterstock

สำหรับวัคซีน Johnson & Johnson ที่ฉีดเพียงเข็มเดียว มีประสิทธิภาพสูงถึง 85% ส่วน AstraZeneca จำนวน 2 โดส มีประสิทธิภาพ 82% และ Sputnik V จำนวน 2 โดส มีประสิทธิภาพสูงถึง 92%

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าวัคซีน Viral Vector มีรายงานเรื่องผลข้างเคียงคือ เกิดลิ่มเลือดในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย มาจากทั้ง AstraZeneca และ Johnson & Johnson แต่ก็ยังมีเปอร์เซ็นต์การเกิดไม่สูงมาก

สำหรับราคาหุ้นที่ผลิตวัคซีน Viral Vector ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มี CanSino Biologics ราคาเพิ่มขึ้น 69.58% และ Johnson & Johnson ราคาเพิ่มขึ้น 17.39% ส่วน AstraZeneca เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.86% (ข้อมูล ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2564)

3. Protein-based Vaccine

วัคซีนที่ถูกพัฒนาโดยใส่ชิ้นส่วนโปรตีนของไวรัส เรียกอีกอย่างว่า Subunit Vaccine โดยบริษัทพัฒนาวัคซีนนี้ คือ Novavax จากสหรัฐฯ มีรายงานว่า ประสิทธิภาพการป้องกันสูงถึง 90%

ขณะนี้วัคซีนของ Novavax ยังไม่ได้มีสถานะการรับรองจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) FDA และสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา (อย.) ของไทย คาดว่า เร็วๆ นี้ อาจจะมีความคืบหน้า มีการรับรองและอนุมัติแบบ Emergency Use

Photo : Shutterstock

ความหลากหลายของวัคซีน จะช่วยให้ผู้คนทั่วโลกเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้น เพราะภูมิคุ้มกันของมนุษย์มีความซับซ้อน บางคนอาจจะแพ้วัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งได้ ดังนั้น Subunit Vaccine ของ Novavax จะเป็นทางเลือกหนึ่งในการต่อสู้กับ COVID-19

ราคาหุ้นของ Novavax ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น สะท้อนมุมมองเชิงบวก และผลสำเร็จของวัคซีนเช่นเดียวกัน 28.96% (ข้อมูล ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2564)

4. Whole-virus Vaccine

วัคซีนที่ถูกพัฒนาโดยใช้ไวรัสที่ทำให้อ่อนลง หรือไม่ทำงาน เรียกอีกอย่าง Inactivated Virus Vaccine หรือ วัคซีนเชื้อตาย ปัจจุบันจีนยังเป็นประเทศหลักที่ผลิตวัคซีนประเภทนี้ เช่น CoronaVac (Sinovac Biotech) และ Sinopharm จากจีน และยังมี Covaxin (Bharat Biotech พัฒนาร่วมกับ Indian Council of Medical Research) จากอินเดีย

เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ทำการทูตวัคซีน จึงส่งออกวัคซีนทั้ง 2 แบรนด์ไปยังประเทศด้อยพัฒนา และกำลังพัฒนาทั่วโลก ในรูปแบบทั้งขาย และบริจาค จึงทำให้วัคซีนเชื้อตาย ถูกฉีดให้กับประชาชนส่วนใหญ่ในเอเชีย แอฟริกาใต้ และอเมริกาใต้

Photo : Shutterstock

สำหรับ Covaxin ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองทางคลินิก และยื่นขอการรับรองจาก WHO แต่กำลังประสบปัญหากับข้อตกลงส่งมอบวัคซีนกับประเทศในอเมริกาใต้ เช่น บราซิล ปารากวัย

ส่วนราคาหุ้น Sinopharm ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 9.67% (ข้อมูล ณ วันที่  11 สิงหาคม 2564)

ในกลุ่มวัคซีนทั้ง 4 ประเภทนี้ มีการพัฒนามาแล้ว 21 แบรนด์ทั่วโลก และได้รับรอง Emergency Use ในบางประเทศ ส่วนที่ WHO รับรองแล้วมี 6 บริษัท ได้แก่ Pfizer-BioNTech Moderna AstraZeneca Johnson & Johnson Sinopharm และ Sinovac 

นอกจากนี้โรคระบาด COVID-19 ยังเป็นแรงส่งให้กับนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และบุคลากรทางการแพทย์ ในการพัฒนาวัคซีนให้มีความหลากหลายมากขึ้น ล่าสุดมีการพัฒนาวัคซีนชนิดพ่นจมูก (Intranasal) ของบริษัท Meissa ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนทดลองกับสัตว์ มีรายงานว่า สามารถป้องกันสายพันธุ์อังกฤษ (อัลฟา) และแอฟริกาใต้ (เบตา) ได้ โดยจะเป็นวัคซีนที่สามารถสร้างแอนติบอดีในระบบทางเดินหายใจ และหากจามออกมา จะไม่แพร่เชื้อ

หุ้นชุดตรวจ COVID-19 ที่น่าสนใจ

ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนามาโดยตลอด ทำให้การตรวจ COVID-19 เบื้องต้นสามารถทำได้ด้วยตัวเองจากที่บ้าน โดยคุณไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงในการออกไปข้างนอก

คุณสามารถใช้ชุดตรวจแบบ Rapid Test เป็นชุดตรวจที่ทราบผลเร็วภายใน 30 นาที ปัจจุบันมีผู้ผลิตจากหลายๆ ชาติ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ และเกาหลีใต้ รวมทั้งมีการขึ้นทะเบียนรับรองการใช้งานนับสิบแบรนด์ในทุกประเทศ ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.Rapid Antigen Test

ใช้ตรวจหาเชื้อ COVID-19 เพื่อประเมินการติดเชื้อเบื้องต้น โดยใช้การเก็บตัวอย่างด้วยการแยงไม้เข้าไปในโพรงจมูก ช่องคอ และน้ำลาย คล้ายคลึงกับการตรวจ RT-PCR (Real-time Polymerase Chain Reaction) ของโรงพยาบาล หากประเมินว่า ได้รับเชื้อมาแล้ว 5-14 วัน จะได้ผลตรวจที่แม่นยำ

สำหรับไทย อย. เพิ่งประกาศให้ประชาชนสามารถซื้อชุดตรวจ ​​Rapid Antigen Test มาใช้เองได้แล้ว โดยก่อนหน้านี้ ไม่อนุญาตให้ซื้อขายตามร้านขายยา แต่ในหลายๆ ประเทศ ประชาชนสามารถหาซื้อได้เอง อย่างในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

Photo : Shutterstock

2. Rapid Antibody Test

ใช้ตรวจหาภูมิคุ้มกันหรือภูมิต้านทาน COVID-19 โดยใช้วิธีเจาะเลือดที่ปลายนิ้วหรือท้องแขน สามารถตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้ในวันที่ 10 เป็นต้นไป นับจากที่คาดว่า ได้รับเชื้อ

การใช้ชุดตรวจ Rapid Antibody Test ผลที่ได้จะไม่ตรงกับวัตถุประสงค์คัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้น เพราะการตรวจภูมิคุ้มกัน COVID-19 ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อเพียงอย่างเดียว การฉีดวัคซีนป้องกัน และผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคนี้ สามารถตรวจพบภูมิต้านทานที่เพิ่มขึ้นได้

Photo : Shutterstock

ปัจจุบัน อย. ไทย ยังไม่รับรองให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงชุดตรวจ Rapid Antibody Test แต่จะอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ใช้ตรวจได้เท่านั้น ส่วนประเทศอื่นๆ อย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ประชาชนสามารถเข้าถึงชุดตรวจนี้ได้

ตัวอย่างหุ้นบริษัทที่ผลิตชุดตรวจที่น่าสนใจ บางรายเป็นผู้ผลิตทั้ง Rapid Antigen Test และ Rapid Antibody Test ได้แก่ Abbott Laboratories จากสหรัฐฯ ราคาหุ้นได้รับอานิสงส์จาก COVID-19 เพิ่มขึ้นเป็น 22.65% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ วันที่  11 สิงหาคม 2564) โดยได้ผลิตชุดตรวจ Rapid Antigen Test แบบการ์ด ด้วยราคาเพียง 5 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมแสดงผลภายใน 15 นาทีผ่านแอปพลิเคชัน ส่วน Roche จากสวิตเซอร์แลนด์ ราคาเพิ่มขึ้น 16.32% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ชี้เป้า ETF ลงทุนหุ้น COVID-19

เชื้อ COVID-19 ค้นพบครั้งแรกในจีนเมื่อปลายปี 2563 จนตอนนี้ระยะผ่านมานานกว่า 1 ปีครึ่ง ทั่วโลกยังเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดหลายระลอก

บางประเทศคุมได้เร็ว แต่ก็ยังกลับมาระบาดได้อีก บางประเทศเลือกที่จะเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ได้สัดส่วนมากกว่า 70% ของประชากร มีเป้าหมายให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะคลายมาตรการล็อกดาวน์ เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเปิดการท่องเที่ยว

ขณะที่หลายๆ ประเทศพยายามสั่งจองวัคซีนหลายล้านโดส จากหลายๆ แบรนด์ผู้ผลิต เพื่อมาฉีดให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด เนื่องจากไม่สามารถคุมการแพร่ระบาดได้ การสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับประชาชน จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

มิฉะนั้น…จะเปิดประเทศไม่ได้ จะเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้ เศรษฐกิจเสียหายหนักและใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวเท่าช่วงก่อนเกิด COVID-19

Photo : Shutterstock

แม้วัคซีนเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่เรายังคาดการณ์ไม่ได้ว่า โลกจะเอาชนะ COVID-19 ได้หรือไม่ หรือจะต้องเผชิญกับการแพร่ระบาด รวมทั้งไวรัสกลายพันธุ์ไปจนถึงเมื่อไร

มันเป็นวิกฤตของโลกที่กำลังสะเทือนเศรษฐกิจทุกประเทศ ในทางกลับกัน…โอกาสการลงทุนก็อยู่กับบริษัทที่พัฒนาและผลิตวัคซีน ยาต้านไวรัส และชุดตรวจ Rapid Test รวมทั้งถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

อย่างที่เราได้รวบรวมข้อมูลหุ้นวัคซีนและชุดตรวจ COVID-19 วัดกันที่ราคาหุ้นระยะสั้น ส่วนใหญ่มีทิศทางที่ดีจากการพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จ มียอดสั่งซื้อจากทั่วโลก และการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ๆ รวมไปถึงการคิดค้นชุดตรวจที่แสดงผลรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ธุรกิจบริการสุขภาพ และเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างจีโนมิกส์  จึงมีความน่าสนใจมากในยุค New Normal นี้ โดย Jitta Wealth ได้คัดเลือก ETF 2 กอง เข้ามาเป็นตัวแทนของธีมธุรกิจเมกะเทรนด์ในกองทุนส่วนบุคคล Thematic อย่างธีมสุขภาพ (Healthcare) และธีมจีโนมิกส์ (Genomics) ที่ได้รับอานิสงส์จากวิกฤต COVID-19 ด้วย

Photo : Shutterstock

ธีมสุขภาพ มี iShares Global Healthcare ETF (IXJ) ลงทุนในหุ้นธุรกิจบริการสุขภาพทั่วโลกประมาณ 110 บริษัท เป็น Passive Fund โดยมีดัชนีอ้างอิง S&P Global 1200 Healthcare Sector Index ลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสเติบโตจากวิกฤต COVID-19 เช่น บริษัท Johnson & Johnson บริษัท Pfizer บริษัท Moderna บริษัท AstraZeneca บริษัท Sanofi บริษัท Abbott Laboratories และ Roche

ผลตอบแทนของ IXJ

  • ย้อนหลัง 1 ปี (1 สิงหาคม 2563 – 31 กรกฎาคม 2564) อยู่ที่ +21.87%
  • ปี 2564 (1 มกราคม – 11 สิงหาคม 2564) อยู่ที่ +13.26%
  • นับตั้งแต่จัดตั้ง ETF (13 พฤศจิกายน 2544) อยู่ที่ +374.37%

ธีมจีโนมิกส์ มี iShares Genomics Immunology and Healthcare ETF (IDNA) ลงทุนในหุ้นที่พัฒนานวัตกรรมจากระบบพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต วินิจฉัยโรคในระดับยีน และลงลึกไปถึงระบบภูมิคุ้มกันวิทยา ซึ่งการพัฒนาวัคซีน mRNA คือ การใช้เทคโนโลยีจีโนมิกส์ด้วย

IDNA เป็น Passive Fund โดยมีอ้างอิง 2 ดัชนี คือ NYSE FactSet Global Genomics และ Immuno Biopharma Index ลงทุนหุ้นที่พัฒนาวัคซีน mRNA เช่น บริษัท Moderna บริษัท BioNTech และบริษัท Sanofi

ผลตอบแทนของ IDNA

  • ย้อนหลัง 1 ปี (1 สิงหาคม 2563 – 31 กรกฎาคม 2564) อยู่ที่ +34.49%
  • ปี 2564 (1 มกราคม – 11 สิงหาคม 2564) อยู่ที่ +13.17%
  • นับตั้งแต่จัดตั้ง ETF (11 มิถุนายน 2562) อยู่ที่ +115.01%

สำหรับ การลงทุนในธุรกิจบริการสุขภาพในจีน ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่และเป็นผู้พัฒนาวัคซีนจำนวนมหาศาลของโลกเช่นเดียวกับสหรัฐฯ กองทุนส่วนบุคคล Thematic ของ บลจ. จิตต เวลธ์ มีธีมตลาดหุ้นจีน iShares MSCI China ETF (MCHI) ที่ลงทุนในหุ้น Sinopharm และ CanSino Biologics ด้วย