ไม่สะดวก แต่ขายดีกว่าเดิม

พรานทะเลคิดการใหญ่ ออก “ข้าวต้มลดโลกร้อน” เพื่อลดต้นทุนแบบรอบด้าน โดยเฉพาะการเผชิญกับปัญหาราคาซีฟู้ดที่พุ่งสูงขึ้น และหวังสร้างแบรนด์คนดีในใจผู้บริโภค

“การลงทุนนวัตกรรมต้องจริงจัง ทำให้เป็น Major Change ถึงจะได้เห็นบวกที่เกิดขึ้นชัดเจน” อนุรัตน์ โคว้คาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาดและฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด บอก

ข้าวต้มลดโลกร้อน มีขนาดเล็ก บางลงกว่าเดิม เพราะตัดถ้วยโฟมออกไป เหลือแต่เพียงข้าวต้มที่แช่แข็งแล้วกับซองพลาสติก ส่งผลให้สามารถขนส่งได้มากขึ้น 50% ขณะเดียวกันก็ลดพื้นที่ในการจัดเก็บสินค้าทั้งของแบรนด์และในตู้แช่ของผู้บริโภคได้ด้วย นอกจากนี้ยังลดการใช้พลาสติกลง 65% คิดเป็น 63 ตันต่อปี

อีกทั้งทำให้ราคาจำหน่ายถูกลงกว่าเดิมราว 15% ด้วย จากเดิมข้าวต้มซีฟู้ดจำหน่ายในราคา 49 บาท ลดเหลือ 39 บาท เนื่องจากตัดต้นทุนที่เคยสิ้นเปลืองดังกล่าวออกไปได้ทั้งกระบวนการราว 20% ขณะที่การปรับเปลี่ยนไลน์การผลิตไม่ได้เป็นการลงทุนใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

หลังจากวางจำหน่ายคู่กันไปทั้งบรรจุภัณฑ์แบบเก่าและแบบใหม่เมื่อตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา พบว่า ปัจจุบันมีสัดส่วนยอดขายของบรรจุภัณฑ์ลดโลกร้อนเป็น 70% ขณะที่บรรจุภัณฑ์แบบเก่าลดเหลือ 30% และในอนาคตหากมีสัดส่วนยอดขายต่ำกว่า 10% จะยุติการทำตลาดของบรรจุภัณฑ์แบบเก่า

แม้ไม่อาจตอบโจทย์ในเรื่องความสะดวกได้เหมือนเคย เนื่องจากผู้บริโภคต้องนำภาชนะมาใช้ กระนั้นยอดขายที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ข้าวต้มลดโลกร้อนของพรานทะเลเดินมาถูกทางแล้ว

“ตอนแรกเราก็กังวลเรื่องความสะดวกเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วลูกค้าจะรับประทานข้าวต้มที่บ้านหรือที่ที่ทำงานอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาเรื่องภาชนะ ขณะเดียวกันพวกเขาให้ความสำคัญกับราคาที่ลดต่ำลงมากกว่า”

และนั่นทำให้พรานทะเลอ้าแขนต้อนรับลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้มากขึ้น จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่า ราคาจำหน่ายของข้าวต้มพรานทะเล ใกล้เคียงกับราคาจำหน่ายของอาหารพร้อมรับประทานซีพี มากขึ้น โดยวาง Price Point อยู่ที่ 29 และ 39 บาท จากอดีตที่จะมีราคาจำหน่ายที่สูงกว่าคู่แข่งมาก

อนุรัตน์ยืนยันว่า นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ลดโลกร้อนจะเป็นยุทธศาสตร์หลักของพรานทะเล และบอกถึงสาเหตุที่เลือกเปิดตัวด้วยผลิตภัณฑ์ข้าวต้มว่า “ข้าวต้มเป็นอาหารพร้อมรับประทานที่มียอดขายสูงสุดของพรานทะเลมาทำ เพราะเราผลิตในปริมาณมาก ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ขณะที่ผลิตภัณฑ์ต่อไปที่จะนำเสอนในรูปแบบนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์นี้ คือ ข้าวผัดปู ซึ่งขายดีเป็นอันดับ 2”

ปัจจุบันพรานทะเลใช้สื่อออนไลน์ทั้งไมโครไซท์ กิจกรรม โรดโชว์ ตลอดจนสื่อ ณ จุดขาย เป็นสื่อหลัก แทนที่ TVC ที่ยุติไปเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีต้นทุนสูง ดังนั้นเพื่อสร้างการรับรู้และเกิดกระแสอย่างรวดเร็วจึงเลือกใช้การประกวดคลิป ไอเดียลดโลกร้อนในกลุ่มนิสิตนักศึกษากับแคมเปญ “เชื่อหรือไม่ กินข้าวต้มพรานทะเล ก็ลดโลกร้อนได้” เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและมีพลังในการบอกต่อสูง

จากความเคลื่อนไหวดังกล่าว น่าจะทำให้เป้าหมายของพรานทะเลกับการปิดยอดขายที่ 1,430 ล้านบาท เป็นเป้าที่ไม่ไกลเกินจริง

สัดส่วนยอดขายของพรานทะเล ปี 2553 มูลค่า 1,200 ล้านบาท
อาหารพร้อมปรุง 50%
อาหารพร้อมรับประทาน 30%
ซูชิ 20%
สัดส่วนตลาดอาหารพร้อมปรุงมูลค่า 3,500 ล้านบาท
Retail 500 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาดของพรานทะเล 80%
Food Service 3,000 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาดของพรานทะเล 10%
ส่วนแบ่งตลาดอาหารพร้อมรับประทานแบบแช่แข็งมูลค่า 3,000ล้านบาท
พรานทะเล 12.3%
อื่นๆ (ซีพี สุรพลฟู้ดส์ สีฟ้า เบทาโกร) 87.7%